Freitag, 18. September 2020

๑๑๑. นิสัยคนคมในฝัก



 ๑๑๑. นิสัยคนคมในฝัก


สุตสนฺนิจฺจยา ธีรา, ตุณฺหีภูตา อปุจฺฉิตา;

ปุณฺณา สุภาสิเตนาปิ, ฆณฺฏาที ฆฏฺฏิตา ยถา


เหล่านักปราชญ์ผู้มีความรู้แน่น,

แม้ท่านจะสมบูรณ์ด้วยคำสุภาษิต

หากไม่ถูกถาม ท่านก็จะเป็นผู้นิ่งเงียบ,

ดุจระฆังเป็นต้น เมื่อถูกเคาะถึงจะมีเสียงดัง.“


(กวิทัปปณนีติ หมวดบัณฑิต ๑๑๑ มหารหนีติ ๕๒)


..


ศัพท์น่ารู้ :


สุตสนฺนิจฺจยา (ผู้มีความรู้สั่งสมแล้ว) สุต (ความรู้, การศึกษา) +สนฺนิจฺจย (การสั่งสม) > สุตสนฺนิจฺจย+โย แปลง โย เป็น อา ได้บ้าง ด้วยสูตรว่า สพฺพโยนีนมาเอ. (รู ๖๙)

ธีรา (นักปราชญ์, ผู้มีปัญญา, ธีรชน) ธีร+โย

ตุณฺหีภูตา (เป็นผู้นิ่ง, เป็นผู้เงียบ) ตุณฺหี (นิ่ง, เฉย) +ภูต (เป็น, มี) ตุณฺหีภูต+โย 

อปุจฺฉิตา (ไม่ถูกถาม) +ปุจฺฉิต > อปุจฺฉิต+โย;

ปุณฺณา (ผู้เต็ม, สมบูรณ์) ปุณฺณ+โย 

สุภาสิเตนาปิ (แม้ด้วยสุภาษิต) ตัดบทเป็น สุภาสิเตน+อปิ 

ฆณฺฏาที (ระฆังเป็นต้น) ฆณฺฏ+อาทิ > ฆณฺฏาทิ+โย, อาทิ ศัพท์หมายเอา กลอง, ตะโพน, ฉิ่ง และอื่นอีกที่เคาะแล้วทำให้มีเสียงดังได้

ฆฏฺฏิตา (เฆาะ, ตี, ต่อย, ทุบ, กระทบ, ขัดสี) ฆฏฺฏิต+โย 

ยถา (ดุจ, ฉันใด) เป็นนิบาตบอกอุปม, บอกการเปรียบเทียบ, ส่วนในมหารหนีติ คาถาบาทนี้ เป็น

ฆณฺฑาทฺยฆฏิตา ยถา ฆณฺฑาทฺยฆฏิตา ตัดบทเป็น ฆณฺฑาที+อฆฏิตา (ระฆังเป็นต้น+ไม่ถูกเฆาะ) คำว่า ฆณฺฑาที น่าจะเป็นการคลาดเคลื่อน ที่จริงควรเป็น ฆณฺฏาที มากกว่า ฝากไว้ให้ผู้รู้ช่วยพิจารณาครับผม.


..

Keine Kommentare: