๒๕๔. หลักการนอน
เอกยามํ สเย ราชา, ทฺวิยามญฺเญว ปณฺฑิโต;
ฆราวาโส ติยาโมว, จตุยาโม ตุ ยาจโกฯ
“พระราชาบรรทมชั่วหนึ่งยาม,
บัณฑิตนอนเพียงสองยามนั่นเทียว,
ชาวบ้านคนธรรมดา นอนเพียงสามยามเท่านั้น,
ส่วนยาจกชน นอนตลอดทั้งสี่ยามเลยทีเดียว.“
(กวิทปฺปณนีติ ๒๕๔, โลกนีติ ๑๑๒)
..
ศัพท์น่ารู้ :
เอกยามํ: (ยามหนึ่ง, ช่วงกาลหนึ่ง, สามชั่วโมง) ยาม+อํ ป.
สเย: (นอน, พึงนอน, ควรนอน) สิ+อ+เอยฺย ภูวาทิคณะ กัตตุวาจก
ราชา: (พระราชา, มหากษัตริย์) ราช+สิ ป.
ทฺวิยามญฺเญว: ตัดบทเป็น ทฺวิยามํ+เอว (สิ้นสองยามนั้นเทียว, สองยามเท่านั้น, หกชั่วโมง) ทฺวิยาม+อํ, เอว เป็นนิบาต
ปณฺฑิโต: (บัณฑิต, นักปราชญ์) ปณฺฑิต+สิ ป.
ฆราวาโส: (ฆราวาส, คนครองเรือน, ชาวบ้าน) ฆราวาส+สิ ป.
ติยาโมว: (สามยามนั้นเทียว, ราวเก้าชั่วโมงเท่านั้น) ติยาโม+เอว
จตุยาโม: (สี่ยาม, สิบสองชั่วโมง) จตุยาม+สิ
ตุ: (ส่วน, ส่วนว่า, แต่) เป็นนิบาต
ยาจโก: (ยาจก, คนมักขอทาน, คนขี้เกียจ) ยาจก+สิ
..
ส่วนในโลกนีติ (โลกนีติ ๑๑๒) มีข้อความต่างกันนิดหน่อย ดังนี้
เอกยามํ สเย ราชา,
ทฺวิยามญฺเญว ปณฺฑิโต;
ฆราวาโส ติยามํว,
จตุยามํ ตุ ยาจโกฯ
ในธัมมนีติ (ธมฺมนีติ ๑๘๗) มีข้อความค่อนข้างชัดเจน ดังนี้
เอกยาโม นราธิปฺโป,
ทฺวิยาโม ปณฺฑิโต นโร;
ตโย ยาโม ฆราวาโส จ,
จตุยาโม จ ทุคฺคโตฯ
——
ยามในที่นี้หมายถึงการแบ่งภาคกลางคืนออกเป็น ๔ ส่วนโดยประมาณ ยามหนึ่งเท่ากับ ๓ ชั่วโมง อาจจะเป็นช่วงใดช่วงหนึ่งของกลางคืนก็ได้ คนธรรมดานอนประมาณ ๘ ชั่วโมง หรือมากกว่านั้น
ยาม เป็นปุงลิงค์แจกเหมือนปุริสศัพท์ ศัพท์นี้ในปทรูปสิทธิ สูตรที่ ๖๕๒ (ขฺยาทีหิ มนฺ ม จ โต วา. แปลว่า ให้ลง มนฺ ปัจจัย หลัง ขี ธาตุเป็นต้น และให้แปลง ม เป็น ต ได้บ้าง) แสดงไว้ว่า
ยาโม มาจาก ยา-ปาปเณ+มนฺ+สิ แต่มิได้แสดงรูปวิเคราะห์ไว้
ส่วนในอภิธาน. ฏีกา คาถา ๗๒ แสดงไว้ว่า ยา ปาปุเณ โม. (ยา-ปาปุเณ ในการถึง + ม ปัจจัย) โดยให้รูปวิเคราะห์ว่า
อุปยเมติ อโห รตฺติ จาเนน ยาโม, ยมิโต โณฯ ปหาโร เอว ยาโม อิติ สญฺญิโต ยามสญฺญิโตฯ
(ชื่อว่า ยาม เพราะเป็นเหตุให้กลางวันและกลางคืนล่วงไป, ลง ณ ปัจจัยหลัง ยม ศัพท์, กาลที่ถูกรู้ว่า ยาม คือ การตี การเคาะ ชือว่า ยามสญฺญิต) แปลจบแล้วก็ยังงง อยู่ดีครับ อาจจะแปลผิดก็ได้ ขอให้ท่านผู้รู้และนักศึกษานำไปพิจารณาเอาเองเถิด.
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen