Mittwoch, 24. August 2022

๑๐๖. นารีผู้ประเสริฐ

๑๐๖. นารีผู้ประเสริฐ


ภุตฺเตสุ มณฺเฑสุ ชนีว กนฺตินี,

คุยฺเห ฐาเน ภคินีว หิริณี;

กมฺเมสุ ปตฺเตสุ กโรติ ทาสีว,

ภเยสุ มนฺตี สยเนสุ รามเย;

รูปีสุ สิกฺขี กุปเนสุ ขนฺตินี,

สา นารี เสฎฺฐาติ วทนฺติ ปณฺฑิตา;

กายสฺส เภทา ทิเว ภเวยฺย สาฯ


หญิงใดผู้น่ารักเป็นดุจมารดาในเวลากิน เวลาแต่งตัว 

มีความละอายเป็นดุจน้องสาวเมื่ออยู่ในที่ลับตา

กระทำการงานที่มาถึงแล้วดุจนางทาสี

เป็นที่ปรึกษาเวลามีภัย ให้ความเย็นใจเวลานอน

หมั่นศึกษาสิ่งที่ดีงาม อดกลั้นได้เวลาโกรธ

หญิงนั้นเหล่านักปราชญ์เรียกว่า นารีผู้ประเสริฐ,

และหลังจากที่ตายไป เธอพึงเกิดในสวรรค์.“


(โลกนีติ หมวดหญิง คาถาที่ ๑๐๖)


..


ศัพท์น่ารู้ :


ภุตฺเตสุ (ในเวลาภัตต์, รับประทานอาหาร .)  ภตฺต+สุ

มณฺเฑสุ (ในเวลาแต่งตัว, การประดับ .) มณฺฑ+สุ

ชนีว (เป็นเหมือนแม่, ดุจผู้ให้กำเนิด) ชนี+อิว, ชนี (ผู้ให้เกิด,​แม่) ชนี+สิ, อิว ศัพท์เป็นนิบาตบอกอุปมา.

กนฺตินี, (น่าใคร่, น่ารัก, น่าปรารถนา) กนฺตินี+สิ

คุยฺเห (และในที่ลับ) คุยฺห+สฺมึ, ศัพท์เป็นนิบาต

ฐาเน (ในที่, สถานที่) ฐาน+สฺมึ

ภคินีว (เป็นเหมือนน้องสาว) ภคินี+อิว

หิริณี (มีความละอาย, เอียงอาย) หิริณี+สิ

กมฺเมสุ (ในการงาน .) กมฺม+สุ

ปตฺเตสุ (ที่ถึงแล้ว, เกิดขึ้น) ปตฺต+สุ

กโรติ (ย่อมทำ, จัดการ) √กร+โอ+ติ, ตนาทิ. กัตตุ.

ทาสีว (เป็นเหมือนนางทาสี, แม่บ้าน, คนใช้) ทาสี+อิว

ภเยสุ (ในภัย . เวลาเกิดปัญหา) ภย+สุ

มนฺตี (เป็นที่ปรึกษา) มนฺตี+สิ

สยเนสุ (ในเวลานอน .) สยน+สุ

รามเย (ให้ความยินดี) √รม+ณย+เอยฺย, ภูวาทิ. เหตุกัตตุ.

รูปีสุ (รูปดี, รูปงาม, คุณงามความดี .) รูปี+สุ

สิกฺขี (ผู้ศึกษา, ฝึกหัด) สิกฺขี+สิ

กุปเนสุ (ในเวลาโกรธเคือง .) กุปน+สุ

ขนฺตินี, (มีความอดทน, อดกลั้น) ขนฺตินี+สิ

สา นารี (หญิงนั้น) ตา+สิ = สา (นั้น) สัพพนาม, นารี+สิ = นารี (หญิง, สตรี) อิต.

เสฎฺฐาติ (ว่า ผู้ประเสริฐ) เสฏฺฐา+อิติ

วทนฺติ (ย่อมกล่าว, เรียก,​ ยกย่อง) √วท++อนฺติ, ภูวาทิ. กัตตุ.

ปณฺฑิตา (บัณฑิต, นักปราชญ์,​ ผู้มีปัญญา .) ปณฺฑิต+โย

กายสฺส เภทา (และแต่การแตกแห่งกาย, และหลังจากตาย) กาย+ = กายสฺส, เภท+สฺมา = เภทา.

ทิเว (ในโลกทิพย์, ในสวรรค์) ทิว+สฺมึ

ภเวยฺย (พึงมี,​ พึงเป็น) √ภู++เอยฺย,​ ภูวาทิ. กัตตุ.

สา = สา นารี (หญิงนั้น). 


..


 

Keine Kommentare: