๒๓๐. อ้างนักมักจน
อติสีตํ อติอุณฺหํ, อติสายมิทํ อหุ;
อิติ วิสฺสฎฺฐกมฺมนฺเต, ขณา อจฺจนฺติ มาณเว.
ประโยชน์ทั้งหลาย ย่อมล่วงเลยคนหนุ่มสาว
ผู้ละทิ้งการงาน ด้วยอ้างเลศว่า..
อากาศหนาวเกินไป อากาศร้อนเกินไป
เวลานี้เย็นค่ำเสียแล้ว ดังนี้เป็นต้น.
(ธรรมนีติ อกตกถา ๒๓๐, มหารหนีติ ๖๕, กวิทปฺปณนีติ ๑๑๕, นีติมัญชรี ๕, ที. ปา. ๑๑/๑๘๕ สิงคาลสูตร)
--
ศัพท์น่ารู้ :
อติสีตํ (หนาวนัก, หนาวเกินไป) อติ+สีต > อติสีต+สิ
อติอุณฺหํ (ร้อนนัก, ร้อนเกินไป) อติ+อุณฺห > อติอุณฺห+สิ
อติสายมิทํ ตัดบทเป็น อติสายํ+อิทํ (เย็นมากแล้ว+เวลานี้)
อหุ (เป็นแล้ว) อ+√หู+อี ภูวาทิ. กัตตุ. ลบ อี วิภัตติ ด้วยมหาสูตรว่า กฺวจิ ธาตุ ฯ. (รู ๔๘๘) แล้วรัสสะ อู เป็น อุ สำเร็จเป็น อหุ
อิติ (ว่า, ด้วยการอ้างเลศอย่างนี้ว่า) เป็นนิบาบท
วิสฺสฎฺฐกมฺมนฺเต (ผู้มีการงานสละทิ้งแล้ว, ผู้ละเลยหน้าที่) วิสฺสฏฺฐ+กมฺมนฺต > วิสฺสฏฺฐกมฺมนฺต+โย
ขณา (ขณะ ท.) ขณ+โย พระบาฬีเป็น อตฺถา (ประโยชน์ ท.)
อจฺเจนฺติ (ย่อมล่วงเลย, ล่วงผ่าน) อติ+√อิ+อ+อนฺติ ภูวาทิ. กัตตุ.
มาณเว (มาณพ, คนหนุ่มสาว, สัตว์ ท.) มาณว+โย
--
อีกสำนวนหนึ่งจาก โลกนีติไตรพากย์ (พากย์ธัมมนีติ) ของ เสฐียรโกเศศ-นาคประทีป ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้
มานพ ผู้ทอดทิ้งการงานโดยอ้างเลศว่าหนาวนัก
ร้อนนัก สายมากเสียแล้วเช่นนี้ คราวโชคย่อม
ล่วงไปเสีย ฯ
--
อีกสำนวนหนึ่ง จากราชนีติ ธรรมนีติ โดย นายทอง หงศ์ลดารมภ์ (มหากิม) ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้..
มาณพย่อมทิ้งการงานโดยอ้างเลศว่า
ยังหนาวอยู่ ร้อนนัก สายมากแล้ว เช่นนี้
โอกาสดี ย่อมผ่านเขาไป.
--
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen