Mittwoch, 21. November 2018

ธัมมปทปาฬิ-แปล ๒๓. นาควรรค


๒๓. นาควคฺโค
คาถาธรรมบท นาควรรคที่ ๒๓

๓๒๐.
อหํ นาโคว สงฺคาเม, จาปโต ปติตํ สรํ;

อติวากฺยํ ติติกฺขิสฺสํ, ทุสฺสีโล หิ พหุชฺชโนฯ

เราจักอดกลั้นซึ่งคำล่วงเกิน ดุจช้างอดทนซึ่งลูกศรที่ออกมาจากแล่งในสงคราม ฉะนั้น เพราะคนทุศีลมีมาก. (๒๓:)

๓๒๑.
ทนฺตํ นยนฺติ สมิตึ, ทนฺตํ ราชาภิรูหติ;

ทนฺโต เสฏฺโฐ มนุสฺเสสุ, โยติวากฺยํ ติติกฺขติฯ

ชนทั้งหลายย่อมนำสัตว์พาหนะที่ฝึกหัดแล้วไปสู่ที่ชุมนุม พระราชาย่อมทรงพาหนะที่ได้ฝึกหัดแล้ว ในหมู่มนุษย์คนที่ได้ฝึกแล้ว อดทนซึ่งคำล่วงเกินได้ เป็นผู้ประเสริฐสุด. (๒๓:)


๓๒๒.
วรมสฺสตรา ทนฺตา, อาชานียา จ สินฺธวา;

กุญฺชรา จ มหานาคา, อตฺตทนฺโต ตโต วรํฯ

ม้าอัสดร ม้าอาชาไนย ม้าสินธพ และช้างกุญชรผู้มหานาคชนิดที่นายควานฝึกแล้ว จึงเป็นสัตว์ประเสริฐ บุคคลผู้มีตนอันฝึกแล้ว ประเสริฐกว่าพาหนะเหล่านั้น. (๒๓:)

๓๒๓.
น หิ เอเตหิ ยาเนหิ, คจฺเฉยฺย อคตํ ทิสํ;

ยถาตฺตนา สุทนฺเตน, ทนฺโต ทนฺเตน คจฺฉติฯ

บุคคลผู้ฝึกตนแล้ว พึงไปสู่ทิศที่ยังไม่เคยไปด้วยตนที่ฝึกแล้ว ฝึกดีแล้วได้ ฉันใด บุคคลพึงไปสู่ทิศที่ยังไม่เคยไปแล้วด้วยยานเหล่านี้ ฉันนั้น หาได้ไม่. (๒๓:)

๓๒๔.
ธนปาลโก นาม กุญฺชโร, กฏุกปฺปเภทโน ทุนฺนิวารโย;

พทฺโธ กพลํ น ภุญฺชติ, สุมรติ นาควนสฺส กุญฺชโรฯ

กุญชรนามว่า ธนปาลกะ ผู้ตกมันจัด ห้ามได้ยาก เขาผูกไว้แล้ว ย่อมไม่บริโภคอาหาร
กุญชรย่อมระลึกถึงป่าเป็นที่อยู่แห่งช้าง. (๒๓:)

๓๒๕.
มิทฺธี ยทา โหติ มหคฺฆโส จ, นิทฺทายิตา สมฺปริวตฺตสายี;

มหาวราโหว นิวาปปุฏฺโฐ, ปุนปฺปุนํ คพฺภมุเปติ มนฺโทฯ

เมื่อใด บุคคลเป็นผู้บริโภคมาก มักง่วงซึม นอนหลับ พลิกกลับไปมา ดุจสุกรใหญ่อันบุคคลปรนปรือด้วยเหยื่อ เมื่อนั้น บุคคลนั้นเป็นคนเขลาเข้าห้องบ่อยๆ. (๒๓:)

๓๒๖.
อิทํ ปุเร จิตฺตมจาริ จาริกํ, เยนิจฺฉกํ ยตฺถกามํ ยถาสุขํ;

ตทชฺชหํ นิคฺคเหสฺสามิ โยนิโส, หตฺถิปฺปภินฺนํ วิย อํกุสคฺคโหฯ

จิตนี้ได้เที่ยวไปสู่ที่จาริกตามความปรารถนา ตามความใคร่ ตามความสุข ในกาลก่อน
วันนี้ เราจักข่มจิตนั้นโดยอุบายอันแยบคาย ดุจนายควานช้างผู้ถือขอข่มช้างผู้ตกมัน ฉะนั้น. (๒๓:)

๓๒๗.
อปฺปมาทรตา โหถ, สจิตฺตมนุรกฺขถ;

ทุคฺคา อุทฺธรถตฺตานํ, ปงฺเก สนฺโนว กุญฺชโรฯ

ท่านทั้งหลายจงเป็นผู้ยินดีในความไม่ประมาท จงตามรักษาจิตของตน จงถอนตนขึ้น
จากหล่มคือกิเลสที่ถอนได้ยาก ดุจกุญชรผู้จมแล้วในเปือกตมถอนตนขึ้นได้ ฉะนั้น. (๒๓:)

๓๒๘.
สเจ ลเภถ นิปกํ สหายํ, สทฺธึจรํ สาธุวิหาริธีรํ;

อภิภุยฺย สพฺพานิ ปริสฺสยานิ, จเรยฺย เตนตฺตมโน สตีมาฯ

ถ้าว่าบุคคลพึงได้สหายผู้มีปัญญารักษาตน ผู้เที่ยวไปด้วยกัน มีปกติอยู่ด้วยกรรมดี เป็นนักปราชญ์ไซร้ บุคคลนั้นพึงครอบงำอันตรายทั้งปวง มีใจชื่นชม มีสติเที่ยวไปกับสหายนั้น. (๒๓:)

๓๒๙.
โน เจ ลเภถ นิปกํ สหายํ, สทฺธึจรํ สาธุวิหาริธีรํ;

ราชาว รฏฺฐํ วิชิตํ ปหาย, เอโก จเร มาตงฺครญฺเญว นาโคฯ

ถ้าว่าบุคคลไม่พึงได้สหายผู้มีปัญญารักษาตน ผู้เที่ยวไปด้วยกันมีปกติอยู่ด้วย
กรรมดี เป็นนักปราชญ์ไซร้ บุคคลนั้นพึงเที่ยวไปผู้เดียวดุจพระราชาทรงละแว่นแคว้น อันพระองค์ทรงชนะ แล้วเสด็จเที่ยวไปพระองค์เดียว ดุจช้างชื่อมาตังคะละโขลงเที่ยวไปตัวเดียวในป่า ฉะนั้น. (๒๓:๑๐)

๓๓๐.
เอกสฺส จริตํ เสยฺโย, นตฺถิ พาเล สหายตา;

เอโก จเร น จ ปาปานิ กยิรา, อปฺโปสฺสุกฺโก มาตงฺครญฺเญว นาโคฯ

การเที่ยวไปของบุคคลผู้เดียวประเสริฐกว่า เพราะความเป็นสหายไม่มีในเพราะชนพาล บุคคลพึงเที่ยวไปผู้เดียว ดุจช้างชื่อมาตังคะ มีความขวนขวายน้อยเที่ยวไปในป่า และไม่พึงทำบาปทั้งหลาย. (๒๓:๑๑)

๓๓๑.
อตฺถมฺหิ ชาตมฺหิ สุขา สหายา, ตุฏฺฐี สุขา ยา อิตรีตเรน;

ปุญฺญํ สุขํ ชีวิตสงฺขยมฺหิ, สพฺพสฺส ทุกฺขสฺส สุขํ ปหานํฯ

สหายทั้งหลายเมื่อความต้องการเกิดขึ้น นำความสุขมาให้ ความยินดีด้วย
ปัจจัยตามมีตามได้ นำมาซึ่งความสุข บุญนำความสุขมาให้ในเวลาสิ้นชีวิต การละทุกข์ได้ทั้งหมดนำมาซึ่งความสุข. (๒๓:๑๒)

๓๓๒.
สุขา มตฺเตยฺยตา โลเก, อโถ เปตฺเตยฺยตา สุขา;

สุขา สามญฺญตา โลเก, อโถ พฺรหฺมญฺญตา สุขาฯ

ความเป็นผู้เกื้อกูลมารดานำมาซึ่งความสุขในโลก ความเป็นผู้เกื้อกูลบิดานำมาซึ่งความสุข ความเป็นผู้เกื้อกูลสมณะนำมาซึ่งความสุขในโลกและความเป็นผู้เกื้อกูลพราหมณ์นำมาซึ่งความสุขในโลก. (๒๓:๑๓)

๓๓๓.
สุขํ ยาว ชรา สีลํ, สุขา สทฺธา ปติฏฺฐิตา;

สุโข ปญฺญาย ปฏิลาโภ, ปาปานํ อกรณํ สุขํฯ



นาควคฺโค เตวีสติโม นิฏฺฐิโตฯ

ศีลนำมาซึ่งความสุขตราบเท่าชรา ศรัทธาตั้งมั่นแล้วนำมาซึ่งความสุข การได้เฉพาะซึ่งปัญญานำมาซึ่งความสุข การไม่ทำบาปทั้งหลายนำมาซึ่งความสุข. (๒๓:๑๔)

Keine Kommentare: