Mittwoch, 17. April 2019

หลักสูตรวิชาวินัย ธรรมศึกษาชั้นเอก (๔) กรรมบถ


กรรมบถ
หลักสูตรวิชาวินัย ธรรมศึกษาชั้นเอก

พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาที่สอนเรื่องกรรมว่า สัตว์ทั้งหลายล้วนเป็นไปตามกรรม หมายความว่า กรรมนั้นสามารถที่จะทำให้สัตว์โดยเฉพาะมนุษย์เรากลายสภาพเป็นอะไรก็ได้ คือทำให้ไปสู่ทุคติ ได้แก่ ไปเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน เป็นเปรต เป็นสัตว์นรก เป็นอสุรกายก็ได้ ทำให้ไปสู่สุคติคือ ไปเกิดเป็นมนุษย์ เทวดา พรหม จนถึงเป็นพระอรหันต์ก็ได้
ดังนั้น เรื่องของกรรมจึงเป็นเรื่องที่พุทธศาสนิกชนจำเป็นจะต้องศึกษาให้มีความรู้ความเข้าใจเพื่อจะได้พัฒนาตนเองให้พ้นจากทุคติ และดำเนินไปสู่สุคติซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนต่างปรารถนา กรรมที่จะนำไปสู่ทุคติและสุคตินั้น ทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า กรรมบถ โดยแบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ ที่นำไปสู่ทุคติ เรียกว่า กุศลกรรมบถ และที่นำไปสู่สุคติ เรียกว่า กุศลกรรมบถ
อกุศลกรรมบถ ๑๐
. ปาณาติบาต ทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง คือฆ่าสัตว์
. อทินนาทาน ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ ด้วยอาการแห่งขโมย
. กาเมสุมิจฉาจาร ประพฤติผิดในกาม
ทั้ง ๓ นี้ จัดเป็นกายกรรม เพราะเกิดขึ้นทางกายทวารโดยมาก
. มุสาวาท พุดเท็จ
. ปิสุณวาจา พูดส่อเสียด
. ผรุสวาจา พูดคำหยาบ
. สัมผัปปลาปะ พูดเพ้อเจ้อ
ทั้ง ๔ นี้ จัดเป็นวจีกรรม เพราะเกิดขึ้นทางวจีทวารโดยมาก

. อภิชฌา โลภอยากได้ของเขา
. พยาบาท ปองร้ายเขา
๑๐. มิจฉาทิฏฐิ เห็นผิดจากคลองธรรม
ทั้ง ๓ นี้ จัดเป็นมโนกรรม เพราะเกิดขึ้นทางโนทวารโดยมาก



อธิบายอกุศลกรรมบถ โดยอาการ ๕

. โดยธรรม คือ โดยสภาวธรรม
กรรมบถ ๗ คือ กายกรรม ๓ และวจีกรรม ๔ โดยสภาวธรรม ได้แก่ เจตนา อธิบายว่า ต้องมีเจตนาในการทำ การพูด จึงจะเป็นกรรมบถได้ ถ้าไม่มีเจตนาไม่เป็นกรรมบถ ส่วนมโนกรรม ๓ มีอภิชฌาเป็นต้น เกิดร่วมกับเจตนา จึงจะเป็นมโนกรรมได้ มีแต่เฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่จัดเป็นมโนกรรม
. โดยโกฏฐาสะ คือ โดยเป็นส่วนแห่งธรรมต่าง ๆ
อกุศลกรรมบถ ๘ คือ กายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ มิจฉาทิฏฐิ ๑ เป็นกรรมบถอย่างเดียว ไม่เป็นมูลคือรากเหง้าแห่งอกุศลเหล่าอื่น ส่วนอภิชฌา ได้แก่โลภะ พยาบาท ได้แก่โทสะ ดังนั้น ทั้ง ๒ อย่างนี้ เป็นทั้งอกุศลกรรมบถ เป็นทั้งมูลคือรากเหง้าของอกุศลเหล่าอื่นด้วย

. โดยอารมณ์ คือ สิ่งที่ใจเข้าไปยึดแล้ว เป็นเหตุให้ทำกรรมนั้น ๆ
ปาณาติบาต มีสังขารคือชีวิตของสัตว์เป็นอารมณ์ หมายความว่า การฆ่าสัตว์ เป็นการทำลายชีวิตของผู้อื่น ถ้าทำลายสิ่งไม่มีชีวิต ก็ไม่จัดเป็นการฆ่าสัตว์

อทินนาทาน มีสัตว์หรือสังขารเป็นอารมณ์ หมายความว่า สิ่งที่ถูกลักขโมยนั้นอาจเป็นมนุษย์ สัตว์ หรือสิ่งของก็ได้
กาเมสุมิจฉาจาร มีสังขารคือผัสสะเป็นอารมณ์ หมายความว่า กาเมสุมิจฉาจาร จะสำเร็จได้ต้องมีการสัมผัสทางกาย
มุสาวาท ปิสุณวาจา และสัมผัปปลาปะ มีสัตว์หรือสังขารเป็นอารมณ์ หมายความว่า เรื่องที่พูดเท็จ พูดส่อเสียด และพูดเพ้อเจ้อนั้น อาจเป็นเรื่องของคนสัตว์ หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ก็ได้
ผรุสวาจา มีสัตว์เป็นอารมณ์ หมายความว่า การพูดคำหยาบนั้น ต้องพูดกับผู้ที่เข้าใจความหมายเท่านั้น จึงจัดเป็นกรรมบถ ถ้าพูดกับผู้ที่ไม่เข้าใจ ไม่จัดเป็นกรรมบถ
อภิชฌา มีสัตว์และสังขารเป็นอารมณ์ หมายความว่า สิ่งที่โลภอยากได้นั้น เป็นมนุษย์ สัตว์ หรือสิ่งของก็ได้
พยาบาท มีสัตว์เป็นอารมณ์ หมายความว่า การปองร้ายที่จัดเป็นพยาบาทนั้น ต้องปองร้ายมนุษย์ หรือสัตว์ทั้งหลายเท่านั้น
มิจฉาทิฏฐิ มีสังขารคือธรรมอันเป็นไปในภูมิ ๓ เป็นอารมณ์ ได้แก่ กามาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิ และอรูปาวจรภูมิ หมายความว่า ความเห็นที่จัดเป็นมิจฉาทิฏฐินั้น ต้องเห็นผิดไปจากความเป็นจริง เช่น โลกอื่นไม่มี บาปไม่มี บุญไม่มี เห็นสิ่งที่ไม่เที่ยง ว่าเป็นของเที่ยง เป็นต้น
. โดยเวทนา คือ เวทนา ๓ อย่าง ได้แก่ สุขเวทนา ๑ ทุกขเวทนา ๑ อุเบกขาเวทนา ๑
ปาณาติบาต มีทุกขเวทนาอย่างเดียว หมายความว่า ในขณะฆ่าสัตว์ จิตใจของผู้กระทำ ย่อมประกอบด้วยความโกรธ
อทินนาทาน มีเวทนา ๓ หมายความว่า ในขณะลักทรัพย์ จิตใจของผู้ลักขโมย อาจจะมีความสุข ความทุกข์ หรือรู้สึกเฉย ๆ ก็ได้
กาเมสุมิจฉาจาร มีเวทนา ๒ คือ สุขเวทนากับอุเบกขาเวทนา หมายความว่า จิตใจของผู้กำลังประพฤติผิดในกามนั้น มีแต่ความสุข หรือรู้สึกเฉย ๆ เท่านั้น

มุสาวาท ปิสุณวาจา และสัมผัปปลาปะ มีเวทนา ๓ หมายความว่า ในขณะที่พูดเท็จ พูดส่อเสียด หรือพูดเพ้อเจ้อนั้น จิตใจของผู้พูด อาจมีความรู้สึกดีใจเสียใจ หรือเฉย ๆ ก็ได้
ผรุสวาจา มีทุกขเวทนาอย่างเดียว หมายความว่า คำพูดที่จะจัดว่า หยาบคายนั้น ผู้พูดต้องพูดด้วยจิตที่โกรธ หากพูดด้วยจิตเมตตาปรารถนาดี ไม่จัดเป็นผรุสวาจา
อภิชฌา มิจฉาทิฏฐิ มีเวทนา ๒ คือ สุขเวทนากับอุเบกขาเวทนา หมายความว่า ในขณะที่โลภอยากได้ของผู้อื่น หรือมีความเห็นผิดนั้น จิตใจของผู้นั้น จะมีแต่ความสุข หรือรู้สึกเฉย ๆ ไม่รู้สึกโกรธหรือเสียใจเลย
พยาบาท มีทุกขเวทนาอย่างเดียว หมายความว่า ในขณะที่ปองร้ายผู้อื่นนั้น จิตใจของผู้ปองร้าย ย่อมมีแต่ความโกรธอย่างเดียว

. โดยมูล คือ อกุศลมูล ๓ ได้แก่ โลภมูล ๑ โทสมูล ๑ โมหมูล ๑
ปาณาติบาต มีมูล ๒ คือ โทสมูล โมหมูล
ทินนาทาน มีมูล ๒ คือ โทสมูล โมหมูล หรือ โลภมูล โมหมูล
กาเมสุมิจฉาจาร มีมูล ๒ คือ โลภมูล โมหมูล
มุสาวาท ปิสุณวาจา และสัมผัปปลาปะ มีมูล ๒ คือ โทสมูล โมหมูล หรือ โลภมูล โมหมูล
ผรุสวาจา มีมูล ๒ คือ โทสมูล โมหมูล
อภิชฌา พยาบาท มีมูล ๑ คือ โมหมูล
มิจฉาทิฏฐิ มีมูล ๒ คือ โลภมูล โมหมูล

ปาณาติบาต
คำว่า ปาณะ ในคำว่า ปาณาติบาต โดยสมมติสัจจะ ได้แก่ สัตว์ โดยปรมัตถสัจจะ ได้แก่ ชีวิตินทรีย์ ๒ อย่าง คือ รูปชีวิตินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ในการทำให้รูปมีชีวิตอยู่ได้ และอรูปชีวิตินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ในการทำให้นามธรรม ได้แก่ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ มีชีวิตอยู่ได้ ชีวิตินทรีย์ทั้งสองนี้ มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกัน เมื่ออย่างหนึ่งถูกทำลาย อีกอย่างหนึ่งก็ถูกทำลายไปด้วย
เจตนาฆ่าของบุคคลผู้รู้อยู่ว่า สัตว์นั้นมีชีวิต อันเป็นไปทางกายหรือทางวาจา เป็นเหตุให้เกิดความพยายามในการเข้าไปตัดอินทรีย์คือชีวิตทั้ง ๒ นั้น ชื่อว่า ปาณาติบาต
ปาณาติบาต จะสำเร็จเป็นกรรมบถได้ ต้องประกอบด้วยองค์ ๕ คือ
. สัตว์มีชีวิต
. รู้ว่าสัตว์มีชีวิต
. จิตคิดจะฆ่า
. พยายามเพื่อจะฆ่า
. สัตว์ตายด้วยความพยายามนั้น
ปาณาติบาตนั้น มีโทษมาก เพราะเหตุ ๔ ประการ คือ
. สัตว์ใหญ่
. สัตว์นั้นมีคุณ
. ความพยายามของผู้ฆ่ามีมาก
. กิเลสของผู้ฆ่ารุนแรง
ปาณาติบาตที่ตรงกันข้าม ชื่อว่ามีโทษน้อย

โทษของปาณาติบาต
โทษของปาณาติบาต องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงไว้ในทุจริตวิปากสูตร อังคุตตรนิกายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปาณาติบาต อันบุคคลส้องเสพ (ทำ) เจริญ (ทำด้วยวิธีการต่าง ๆ) ทำให้มาก (ทำบ่อย ๆ ทำเป็นประจำ) ย่อมทำให้ไปเกิดในนรก ในกำเนิดแห่งสัตว์ดิรัจฉาน ในแดนแห่งเปรต ผลร้ายแห่งปาณาติบาต อย่างเบาที่สุด ย่อมทำให้เป็นผู้มีอายุสั้นแก่ผู้ที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์
พระอรรถกถาจารย์ อธิบายว่า ผู้ทำปาณาติบาตบางคนแม้จะไม่ตกนรก เกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน หรือเกิดในแดนแห่งเปรตก็ตาม อันกุศลกรรมบางอย่างที่ได้ทำเอาไว้ส่งผลให้ได้มาเกิดเป็นมนุษย์ ก็จะเป็นผู้มีอายุสั้น บางคนพอถือปฏิสนธิในครรภ์มารดา ไม่ทันจะได้ลืมตาดูโลก ก็ตายเสียก่อน หรือบางคนคลอดจากครรภ์มารดามาแล้ว อยู่ได้ไม่นานก็เสียชีวิต ผู้ได้รับผลร้ายจากการทำปาณาติบาตด้วยจิตใจที่อำมหิต พึงเห็นนายโคฆาต ชื่อนันทะ เป็นอุทาหรณ์
เล่ากันมาว่า ในครั้งพุทธกาล ในพระนครสาวัตถี มีชายคนหนึ่ง ชื่อนันทะ มีอาชีพฆ่าโคเอาเนื้อขายเลี้ยงชีพ ตลอด ๕๕ ปีที่เขาทำอาชีพนี้ ไม่เคยบริจาคทานและรักษาศีลเลย ถ้าขาดเนื้อจะไม่ยอมรับประทานอาหาร
วันหนึ่ง ในเวลาเย็น เขามอบเนื้อให้ภรรยาเพื่อทำกับข้าว เสร็จแล้วไปอาบน้ำที่ท่าน้ำ บังเอิญเพื่อนของเขาคนหนึ่งมีแขกมาที่บ้าน ไม่มีกับข้าวต้อนรับ จึงไปยังบ้านนายนันทะ พบภรรยาของเขา จึงได้ขอซื้อเนื้อ แต่ไม่มีเนื้อสำหรับขาย มีแต่เนื้อที่เตรียมไว้สำหรับทำกับข้าวตอนเย็น ภรรยาของนายนันทะ จึงไม่ขายให้ เพราะทราบดีว่าถ้าขาดเนื้อแล้ว สามีจะไม่ยอมรับประทานอาหาร แต่ชายผู้นั้นก็ไม่ฟังเสียง ได้ฉวยหยิบเอาเนื้อนั้นไปโดยพลการ
นายนันทะกลับมาจากท่าน้ำ ภรรยาได้ยกอาหารที่ปราศจากเนื้อมาให้ได้ เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ฟัง เขาไม่ยอมรับประทานอาหาร ฉวยมีดอันคมกริบ เดินเข้าไปหาโคตัวหนึ่ง สอดมือเข้าไปในปาก ดึงลิ้นออกมาแล้วใช้มีดเชือดจนขาด นำมาให้ภรรยาทำกับข้าว โคตัวนั้นสิ้นใจตายด้วยความเจ็บปวดทรมาน

เมื่อกับข้าวเสร็จแล้ว นายนันทะจึงรับประทานอาหาร ทันทีที่เขาใส่ชิ้นเนื้อนั้นเข้าไปในปาก ลิ้นของเขาได้ขาดตกลงไปในชามข้าว ได้รับผลกรรมทันตาเห็น เพราะการทำปาณาติบาตด้วยจิตใจอันเหี้ยมโหด เลือดไหลออกจากปาก ร้องครวญครางเสียงเหมือนโค ตายแล้วไปตกนรกอเวจี ฯ

อทินนาทาน
คำว่า อทินนะ ในคำว่า อทินนาทาน หมายถึง ของที่เจ้าของหวงแหนไม่ได้ให้ด้วยกายหรือวาจา จะอยู่ในบ้าน ในป่า ทำตก หรือหลงลืม ก็ตาม
เจตนาอันเป็นเหตุขโมย ของบุคคลผู้รู้อยู่ว่า เจ้าของหวงแหน อันเป็นไปทางกายหรือทางวาจา ให้เกิดความพยายามในการถือเอาของนั้น ชื่อว่า อทินนาทาน
อทินนาทาน จะสำเร็จเป็นกรรมบถได้นั้น ต้องประกอบด้วยองค์ ๕ คือ
. ของมีเจ้าของหวง
. รู้ว่ามีเจ้าของหวง
. จิตคิดจะลัก
. พยายามเพื่อจะลัก
. ลักมาได้ด้วยความพยายามนั้น
อทินนาทานนั้น มีโทษมาก เพราะเหตุ ๔ ประการ คือ
. ของนั้นเป็นของประณีต หรือมีความสำคัญ
. ของนั้นเป็นของบุคคลผู้มีคุณธรรม
. ผู้ลักมีความพยายามมาก
. กิเลสของผู้ลักแรงกล้า
อทินนาทานที่ตรงกันข้าม ชื่อว่ามีโทษน้อย
โทษของอทินนาทาน
โทษของอทินนาทาน ทรงแสดงไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อทินนาทาน อันบุคคลส้องเสพ เจริญ ทำให้มาก ย่อมทำให้ไปเกิดในนรก ในกำเนิดแห่งดิรัจฉาน ในแดนแห่งเปรต ผลร้ายแห่งอทินนาทาน อย่างเบาที่สุด ย่อมทำทรัพย์สินเงินทองให้พินาศ แก่ผู้ที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์
พระอรรถกถาจารย์ อธิบายว่า บุคคลผู้ประพฤติผิดศีลข้ออทินนาทานหากได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ทรัพย์สินเงินทองของเขาก็จะถึงความพินาศย่อยยับไป จนหมดตัวหรือล้มละลาย ส่วนโทษของอทินนาทานที่เห็นได้ในปัจจุบันทันตา พึงเห็นพราหมณ์ชื่อสีลวิมังสนะเป็นอุทาหรณ์

ครั้งพุทธกาล ในพระนครสาวัตถี มีพราหมณ์คนหนึ่งชื่อ สีลวิมังสนะ ถึงสรณะ ๓ และรักษาศีล ๕ รับราชการอยู่กับพระเจ้าโกศล พระราชาพร้อมด้วยข้าราชการใหญ่น้อย ต่างให้ความนับถือพราหมณ์นั้น
เขาคิดว่า ที่คนเขานับถือเรานี้ เขานับถืออะไร ชาติ โคตร สกุล ความรู้ หรือศีลกันแน่ ต้องการจะทดลอง วันหนึ่ง เมื่อกลับจากที่ทำงาน ได้แอบหยิบเอาเงินของหลวงไปจำนวนหนึ่ง เจ้าหน้าที่การเงินไม่ว่าอะไร วันที่ ๒ ได้ทำอย่างนั้นอีก ก็ไม่มีใครว่าอะไร วันที่ ๓ จึงหยิบเอาเงินไปกำมือหนึ่ง เจ้าหน้าที่การเงินโกรธ ร้องตะโกนให้คนช่วยกันจับตัว เมื่อจับตัวได้แล้ว ก็ทุบตีคนละสองสามที แล้วพันธนาการไปกราบทูลให้พระราชารับสั่งลงอาญาหลวงแก่เขา

พราหมณ์ทราบชัดว่า ที่คนเขานับถือตนนั้น เพราะการรักษาศีล จึงได้กล่าวว่า เรื่องชาติและชนชั้น เป็นเรื่องไร้สาระ ศีลนี่แหละ สูงที่สุด บุคคลขาดศีลเสียแล้ว วิชาความรู้ก็ไม่มีประโยชน์อะไรเลย

---------------------------------------

กาเมสุมิจฉาจาร
คำว่า กาม ในคำว่า กาเมสุมิจฉาจาร ได้แก่ เมถุนสมาจาร ๒ อย่าง คือ สทารสันโดษ ความพอใจในเฉพาะคู่ครองของตน ๑ ปรทารคมนะ การละเมิดคู่ครองคนอื่น ๑ ส่วนความผิดที่จัดเป็นกาเมสุมิจฉาจารนั้น ได้แก่ ความผิดที่เกิดขึ้นเพราะนอกใจคู่ครองของตน และละเมิดคู่ครองของคนอื่น

เจตนาที่ล่วงละเมิดฐานะที่ตนไม่ควรละเมิด อันเป็นไปทางกายทวาร โดยประสงค์อสัทธรรม ชื่อว่า กาเมสุมิจฉาจาร

กาเมสุมิจฉาจาร จะสำเร็จเป็นกรรมบถได้นั้น ต้องประกอบด้วยองค์ ๔ คือ
. วัตถุที่จะพึงประพฤติล่วง
. จิตคิดจะเสพในวัตถุที่พึงประพฤติล่วงนั้น
. พยายามในอันจะเสพ
. มีความยินดี
กาเมสุมิจฉาจาร มีโทษมาก เพราะเหตุ ๔ ประการ คือ
. กระทำในบุคคลผู้มีคุณธรรม
. เป็นการข่มขืนใจ
. มีความพยายามมาก
. มีกิเลสแรงกล้า
กาเมสุมิจฉาจารที่ตรงกันข้าม ชื่อว่ามีโทษน้อย

โทษของกาเมสุมิจฉาจาร
โทษของกาเมสุมิจฉาจาร ทรงแสดงไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กาเมสุมิจฉาจาร อันบุคคลส้องเสพ เจริญ ทำให้มาก ย่อมทำให้ไปเกิดในนรก ในกำเนิดแห่งดิรัจฉาน ในแดนแห่งเปรต ผลร้ายแห่งกาเมสุมิจฉาจารอย่างเบาที่สุด ย่อมทำให้เป็นผู้มีศัตรูคู่เวรมาก เมื่อได้เกิดมาเป็นมนุษย์

พระอรรถกถาจารย์ อธิบายว่า ผู้ประพฤติผิดในกาม ถึงแม้จะไม่ตกนรกเป็นต้นนั้น หากได้เกิดเป็นมนุษย์อีก ก็จะเป็นคนมีศัตรูมาก คือ ใครพบเขาย่อมเกิดการจองเวร (ไม่ชอบหน้า) หรือถึงขั้นทำร้าย ทั้งที่ไม่ได้ทำผิดอะไรแก่เขา
ส่วนโทษของกาเมสุมิจฉาจารที่เห็นได้ในปัจจุบันทันตา พึงเห็นหญิงสาวคนหนึ่งที่คิดนอกใจสามีเป็นอุทาหรณ์

ครั้งดึกดำบรรพ์ ได้มีชายหนุ่มชาวพาราณสีคนหนึ่ง นามว่าจูฬธนุคคหบัณฑิต เรียนวิชากับอาจารย์ทิศาปาโมกข์ที่เมืองตักกสิลา เขาเป็นชายหนุ่มหน้าตาดี มีความประพฤติเรียบร้อย เรียนเก่ง เป็นที่รักใคร่ของอาจารย์ เมื่อเรียนศิลปะวิทยาจบแล้ว จึงลาอาจารย์กลับบ้าน อาจารย์ได้ยกลูกสาวคนหนึ่งให้เป็นภรรยา ในระหว่างทาง ได้เกิดการต่อสู้กับพวกโจรด้วยมือเปล่า บอกให้ภรรยานำดาบมาให้ แต่ภรรยากลับเกิดความรักในตัวโจรที่ตนเพิ่งจะพบเห็นเดี๋ยวนั้นเอง จึงส่งดาบไปให้โจร ฆ่าชายหนุ่มตาย
โจรพานางไปถึงแม่น้ำสายหนึ่ง คิดว่า หญิงคนนี้พบชายอื่นเข้า คงจะให้ฆ่าเราเหมือนกับให้เราฆ่าสามีเธอ เราไม่ต้องการผู้หญิงคนนี้ จึงออกอุบายหลอกลวงเอาทรัพย์สินเงินทองของเธอจนหมดสิ้น แล้วก็จากไป โดยทิ้งคำพูดไว้กับเธอว่า แม่คนงามเธอเอาสามีที่เคยเชยชิดกันมานาน แลกกับฉันซึ่งมิใช่สามีที่ไม่เคยเชยชิด วันหลังเธอคงจะเอาฉันแลกกับชายอื่นอีก ฉันจะหนีเธอไปให้ไกลที่สุดเท่าที่จะไกลได้ หญิงสาวคนนั้นไม่มีใครคบหาสมาคมด้วย เพราะประพฤติผิดศีลข้อที่ ๓ นี้นั่นเอง

-------------------------------------------------

กายกรรมเป็นไปในทวาร ๒
กรรม ๓ อย่าง คือ ปาณาติบาต อทินนาทาน และกาเมสุมิจฉาจาร เรียกว่า กายกรรม เพราะเป็นไปทางกายทวารโดยมาก บางครั้ง ปาณาติบาตและอทินนาทาน ก็เป็นไปทางวจีทวารบ้าง ตัวอย่าง นาย ก. สั่งให้นาย ข. ไปฆ่าคน หรือไปลักทรัพย์ นาย ข. ทำงานสำเร็จตามที่นาย ก. สั่ง การฆ่าคน หรือการลักทรัพย์ของนาย ก. จัดเป็นกายกรรม แต่ทวาร จัดเป็นวจีทวาร ส่วนกาเมสุมิจฉาจาร จัดเป็นกายกรรม เพราะเป็นไปทางกายทวารอย่างเดียว
ปาณาติบาต อทินนาทาน และกาเมสุมิจฉาจาร ที่จัดเป็นกายกรรมนั้น เพราะมีการกระทำด้วยกาย กรรมนั้น จึงจะสำเร็จดังตัวอย่างที่ยกมา ถ้ามีเพียงแต่การสั่งอย่างเดียว ไม่มีคนลงมือทำ จะสั่งต่อๆ กันไปกี่คนก็ตาม การฆ่าหรือการลักนั้นจะสำเร็จไม่ได้เลย
ในการทำปาณาติบาต อทินนาทาน และกาเมสุมิจฉาจารนั้น จิตใจของผู้กระทำ ต้องมีอภิชฌาคือโลภะ พยาบาทคือโทสะ และมิจฉาทิฏฐิ เกิดขึ้นด้วยตามสมควร แต่กายกรรมนี้ เน้นตัวเจตนาคือความจงใจเป็นสำคัญ ดังนั้น อภิชฌา พยาบาท และมิจฉาทิฏฐิ ในกายกรรมนี้ จึงจัดเป็นอกุศลกรรมฝ่ายสนับสนุนเจตนา ไม่ได้จัดเป็นกรรมบถ เปรียบเทียบให้เข้าใจง่าย สมมติว่ามีผู้ร้าย ๔ คน คือ นายเจตนา นายอภิชฌา นายพยาบาท และนายมิจฉาทิฏฐิ สมคบกันฆ่าคน นายอภิชฌา นายพยาบาท นายมิจฉาทิฏฐิ เป็นผู้คิดอุบาย นายเจตนาเป็นผู้ลงมือฆ่า โทษหนักจึงไปอยู่ที่นายเจตนา

มุสาวาท
คำว่า มุสา แปลว่า เท็จ เจตนาทำให้พูดเท็จ ชื่อว่า มุสาวาท ได้แก่ อกุศลเจตนา ที่ก่อให้เกิดความพยายามทางกายและทางวาจาของคนโกง โดยมุ่งจะหลอกลวงคนอื่น การพูดเท็จนั้น หากทำให้คนอื่นเสียประโยชน์ จัดเป็นกรรมบถ ถ้าไม่เสียประโยชน์ ก็เป็นเพียงกรรม
กรรมบถ ต่างกันกับ กรรม กรรมบถ หมายถึง กรรมที่ส่งผลในปฏิสนธิกาล เช่น ส่งผลให้ไปเกิดในนรก เกิดเป็นมนุษย์ เกิดในสวรรค์ เป็นต้น ส่วนกรรม หมายถึง กรรมที่ส่งผลใน ปวัตติกาล คือหลังจากเกิดในภพนั้น ๆ แล้วเช่น ส่งผลให้เห็นรูป ฟังเสียง ลิ้มรส ที่ดีหรือไม่ดี เป็นต้น
มุสาวาท จะสำเร็จเป็นกรรมบถได้นั้น ต้องประกอบด้วยองค์ ๔ คือ
. เรื่องไม่จริง
. จิตคิดจะพูดให้ผิด
. พยายามจะพูดออกไป
. คนอื่นเข้าใจเนื้อความนั้น

มุสาวาทมีโทษมาก เพราะเหตุ ๓ ประการ คือ
. ประโยชน์ที่ถูกทำลายมีมาก
. ผู้เสียประโยชน์เป็นผู้มีคุณมาก
. กิเลสของผู้กล่าวมุสาวาทมีกำลังแรงกล้า
มุสาวาทที่ตรงกันข้าม ชื่อว่ามีโทษน้อย

โทษของมุสาวาท
โทษของมุสาวาท ทรงแสดงไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มุสาวาท อันบุคคลเสพ เจริญ ทำให้มาก ย่อมทำให้เกิดในนรก ในกำเนิดดิรัจฉาน ในแดนแห่งเปรต ผลร้ายแห่งมุสาวาทอย่างเบาที่สุด ย่อมทำให้เป็นผู้ถูกใส่ความ แก่ผู้ที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์
พระอรรถกถาจารย์ อธิบายว่า ผู้กล่าวมุสา ถึงแม้จะไม่ไปตกนรกเป็นต้นนั้น หากได้มาเกิดเป็นมนุษย์อีก ก็มักจะถูกใส่ความด้วยเรื่องอันไม่เป็นจริง คือใครทำความผิดอะไรไว้ คนทั้งหลายมักจะโทษว่าเขาเป็นผู้ทำ
ส่วนโทษของมุสาวาทที่เห็นได้ในปัจจุบันทันตา พึงเห็นสตรีผู้หนึ่งที่พูดมุสาเพื่อทำลายผลประโยชน์ของหมอรักษาตา เป็นอุทาหรณ์
อดีตกาล ในพระนครพาราณสี ได้มีจักษุแพทย์คนหนึ่ง เที่ยวรักษาคนตามหมู่บ้าน ตำบลต่าง ๆ ต่อมา ได้พบผู้หญิงคนหนึ่ง กำลังทุกข์ทรมานด้วยโรคตาจนเกือบจะมองไม่เห็น หมอตรวจดูอาการ แล้วบอกว่าพอจะรักษาให้หายเป็นปกติได้ นางจึงตอบว่า ถ้าคุณหมอรักษาตาดิฉันให้หายเป็นปกติได้ ดิฉันกับลูกชาย ลูกสาว จะยอมเป็นทาสรับใช้ไปตลอดชีวิต หมอจึงตกลงรักษาให้ ต่อมาไม่นาน ดวงตาของเธอก็หายเป็นปกติ เธอกลัวว่าจะต้องเป็นทาสของหมอตามที่ให้สัญญาไว้ เมื่อหมอมาถามอาการ จึงแกล้งพูดโกหกว่า ก่อนนี้ดวงตาดิฉันเจ็บปวดเพียงเล็กน้อย แต่พอหยอดยาของท่านแล้ว กลับเจ็บปวดมากกว่าเดิม หมอรู้ทันว่า หญิงผู้นี้หลอกลวงเรา เพราะต้องการจะไม่ให้ค่ารักษา หมอโกรธมาก จึงปรุงยาขนานใหม่ให้ เมื่อหญิงนั้นใช้ยาหยอดตาแล้ว ตาทั้ง ๒ ข้างได้บอดสนิท สตรีนั้น ตาบอดเพราะกล่าวเท็จ ดังนี้แล

ปิสุณวาจา
เจตนาของผู้มีจิตเศร้าหมอง พยายามกระทำหรือพูด เพื่อต้องการให้คนอื่นมารักตน ก็ดี เพื่อต้องการทำลายคนอื่น ก็ดี ชื่อว่า ปิสุณวาจา
การพูดให้ร้ายลับหลัง โดยมุ่งให้คนอื่นเกิดความแตกแยก เมื่อคนอื่นแตกแยกกัน จัดเป็น ปิสุณวาจา สำเร็จเป็นกรรมบถ ถ้าไม่เกิดความแตกแยกกันก็เป็นเพียงกรรมเท่านั้น
ปิสุณวาจา จะสำเร็จเป็นกรรมบถได้นั้น ต้องประกอบด้วยองค์ ๔ คือ
. คนอื่นพึงถูกทำลาย
. จิตคิดจะพูดส่อเสียด
. พยายามจะพูดออกไป
. คนอื่นเข้าใจเนื้อความนั้น
ปิสุณวาจา มีโทษมาก เพราะเหตุ ๓ ประการ คือ
. บุคคลผู้ถูกทำลายให้แตกแยกกันนั้นเป็นผู้มีคุณมาก
. คนเหล่านั้นแตกแยกกัน
. ผู้พูดมีกิเลสแรงกล้า
ปิสุณวาจาที่ตรงกันข้าม ชื่อว่ามีโทษน้อย
โทษของปิสุณวาจา
โทษของปิสุณวาจา ทรงแสดงไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปิสุณวาจา อันบุคคลส้องเสพ เจริญ ทำให้มาก ย่อมทำให้ไปเกิดในนรก ในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ในแดนแห่งเปรต ผลร้ายแห่งปิสุณวาจาอย่างเบาที่สุด ย่อมทำให้เกิดความแตก จากมิตร แก่ผู้ที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์
พระอรรถกถาจารย์ อธิบายว่า บุคคลผู้พูดปิสุณวาจา ถึงแม้จะไม่ตกนรกเป็นต้นนั้น หากได้เกิดมาเป็นมนุษย์ก็จะแตกจากมิตร คือผู้ที่เป็นมิตรนั่นแหละจะกลับกลายมาเป็นศัตรูแก่เขา
ส่วนโทษของปิสุณวาจา พึงเห็นผลกรรมที่พระธรรมกถึกรูปหนึ่งได้รับ เป็นอุทาหรณ์
ในกาลแห่งพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่ากัสสปะ มีพระมหาเถระ ๒ รูป รูปหนึ่งมีพรรษา ๖๐ อีกรูปหนึ่งมีพรรษา ๕๙ สนิทรักกันมาก จำพรรษาอยู่ในอาวาสแห่งหนึ่ง สมบูรณ์ด้วยลาภ ต่อมา มีพระธรรมกถึกรูปหนึ่ง มาขออยู่ในอาวาสนั้นด้วย เพราะเห็นว่าเป็นวัดที่มีลาภสักการะมาก อยู่ได้ไม่นาน ก็คิดขับไล่พระเถระทั้ง ๒ รูปนั้น จึงเข้าไปหาทีละรูปแล้ว พูดว่า เมื่อวันกระผมมาที่นี่ พระเถระรูปนั้น บอกผมว่า คุณเป็นคนดี จะคบหาสมาคมกับพระมหาเถระ ต้องพิจารณาให้ดีก่อน พูดเหมือนกับรู้ความลับความเสียหายของท่าน เสร็จแล้ว ก็เข้าไปหาอีกรูปหนึ่ง พูดอย่างเดียวกันนั้น แรก ๆ ทั้ง ๒ รูปไม่เชื่อ แต่นานไป เกิดบาดหมางกันแล้ว ในที่สุดก็แตกกัน ต่างคนต่างออกจากวัด พระธรรมกถึก จึงได้ครองวัดนั้นแต่เพียงรูปเดียว เมื่อพระธรรมกถึกนั้นมรณภาพแล้ว ไปเกิดในนรกชั้นอเวจี พ้นจากนรกนั้นแล้วไปเกิดเป็นเปรต ร่างกายเหมือนมนุษย์ มีศีรษะเหมือนสุกร ต้องเสวยทุกข์อยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ การพูดทำให้คนแตกสามัคคีกัน เป็นบาปหนัก ดังนี้แล

ผรุสวาจา

เจตนาแผ่ไปเผาผลาญจิตของผู้ฟัง ชื่อว่า ผรุสา
เจตนาเป็นเหตุประทุษร้าย ก่อให้เกิดความพยายามทางกายและทางวาจาอันเป็นเหตุทำลายไมตรีของผู้อื่น ชื่อว่า ผรุสวาจา อีกอย่างหนึ่ง เจตนาในการพูดมุ่งทำลาย แผ่ไปเผาผลาญจิตใจของผู้ฟัง ชื่อว่า ผรุสวาจา

ผรุสวาจานั้น ขึ้นอยู่กับเจตนาที่มุ่งประทุษร้าย และพูดต่อหน้า จึงจัดเป็นกรรมบถ ส่วนคำด่าที่พูดด้วยเจตนาดี เหมือนบิดา มารดา และครูอาจารย์ ดุด่าบุตร ธิดา และศิษย์ เป็นต้น ไม่จัดเป็นผรุสวาจา
ดังได้สดับมา เด็กคนหนึ่ง ไม่เชื่อคำของมารดา เข้าไปในป่า เมื่อมารดาไม่สามารถบังคับให้เด็กนั้นกลับได้ จึงด่าว่า ขอแม่กระบือดุ จงไล่ตามมัน ทันใดนั้น แม่กระบือปรากฏแก่เด็กนั้นในป่าจริง ๆ เด็กได้ตั้งสัจจอธิษฐานว่า มารดาของข้าพเจ้าพูดเรื่องใดด้วยปาก เรื่องนั้นจงอย่ามี แต่มารดาคิดเรื่องใดด้วยจิต ขอเรื่องนั้นจงมีเถิด แม่กระบือได้หยุดอยู่ เหมือนถูกผูกในที่นั้นนั่นเอง
ผรุสวาจาที่จะสำเร็จเป็นกรรมบถได้นั้น ต้องประกอบด้วยองค์ ๓ คือ
. คนอื่นที่พึงถูกด่า
. จิตคิดจะพูดคำหยาบ
. พูดคำหยาบออกไป

ผรุสวาจามีโทษมาก เพราะเหตุ ๓ ประการ คือ
. ผรุสวาจานั้น ถึงความเป็นกรรมบถ
. คนที่ถูกด่าเป็นคนมีคุณธรรมมาก
. ผู้พูดมีกิเลสแรงกล้า
ผรุสวาจาที่ตรงกันข้าม ชื่อว่ามีโทษน้อย

โทษของผรุสวาจา
โทษของผรุสวาจา ทรงแสดงไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผรุสวาจาอันบุคคลส้องเสพ เจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมทำให้ไปเกิดในนรก ในกำเนิดดิรัจฉาน ในแดนแห่งเปรต ผลร้ายแห่งผรุสวาจาอย่างเบาที่สุด เมื่อเขาได้มาเกิดเป็นมนุษย์ ย่อมทำให้ผู้นั้นได้ยินแต่ คำพูดที่ไม่สบอารมณ์อยู่เสมอ
พระอรรถกถาจารย์ อธิบายว่า ผู้พูดผรุสวาจา ถึงแม้จะไม่ไปตกนรกเป็นต้นนั้น หากได้มาเกิดเป็นมนุษย์ ก็จะได้ยินแต่คำพูดที่ทำให้เจ็บช้ำน้ำใจตลอดเวลา คือ เวลาไปที่ไหนจะได้ยินแต่คำพูดชนิดที่ระคายหู บาดหู เผ็ดร้อน สะเทือนใจ ทำลายความรู้สึก
ส่วนโทษของผรุสวาจาที่ได้รับในปัจจุบันทันตา พึงเห็นเจ้าศากยะทั้งหลาย เป็นอุทาหรณ์
ในสมัยพุทธกาล พระราชกุมารทรงพระนามว่าวิฑูฑภะ เป็นโอรสของพระเจ้าปเสนทิโกศล กับพระนางวาสภขัตติยาชาวศากยะ พระญาติขององค์สมเด็จ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นพระธิดาของพระเจ้ามหานามะกับนางกำนัล พระเจ้ามหานามะได้ถวายพระนางแก่พระเจ้าปเสนทิโกศล ที่ส่งคนมาขอโดยประสงค์จะเป็นพระญาติกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ขณะที่ยังทรงพระเยาว์ พระเจ้าวิฑูฑภะ เห็นพระกุมารอื่น ๆ ได้รับของขวัญจากสกุลของพระเจ้าตา จึงถามพระมารดาว่า แม่ไม่มีพระเจ้าตาพระเจ้ายายหรือ เมื่อพระมารดา ตอบว่า มีสิลูก ได้ถามกลับไปว่า ทำไม พระเจ้าตาพระเจ้ายาย จึงไม่ส่งของเล่นให้ชายบ้าง คำถามนี้ทำให้พระมารดาหนักพระทัยที่สุด เพราะรู้จักมานะของพวกศากยะดี จึงตอบเลี่ยงไปว่า ท่านอยู่ไกลและไม่มีเวลา
วิฑูฑภราชกุมารรบเร้าพระมารดา ต้องการจะไปเยี่ยมสกุลพระเจ้าตา พระนางไม่สามารถจะขัดขืนได้ จึงส่งข่าวไปให้พระเจ้ามหานามะทราบ ในวันที่วิฑูฑภราชกุมารไปถึงเมืองกบิลพัสดุ์ พวกศากยะให้พระกุมารที่มีอายุน้อยกว่าเสด็จออกประพาสป่าหมด วิฑูฑภราชกุมารต้องเป็นผู้ไหว้พวกศากยะฝ่ายเดียว จึงถามว่า เจ้าศากยะที่มีอายุน้อยกว่าไม่มีเลยหรือ พวกเจ้าศากยะตอบว่า มีจ้ะ พ่อ แต่ออกไปประพาสป่ากันหมด วิฑูฑภราชกุมารเยี่ยมสกุลพระเจ้าตาพอสมควรแก่เวลา จึงลากลับ เดินทางไปได้ระยะหนึ่ง มหาดเล็กคนหนึ่งลืมของไว้ จึงกลับไปเอา พบพวกศากยะกำลังเอาน้ำนมล้างตั่งที่วิฑูฑภราชกุมารนั่ง ปากก็ด่าว่า ล้างเสนียดจัญไรที่ลูกนางทาสีนั่ง มหาดเล็กนำความนั้นมาทูลพระราชกุมาร พระราชกุมารโกรธจัด ตรัสว่า วันนี้ พวกศากยะเอาน้ำนมล้างตั่งไปก่อนเถอะ ภายหน้าเมื่อเราได้ครองราชย์ จะเอาเลือดในลำคอของพวกนั้นล้างท้องพระโรงให้ได้

เมื่อวิฑูฑภราชกุมาร ได้ครองราชย์หลังจากพระเจ้าปเสนทิโกศลสวรรคตแล้วจึงยกกองทัพมาฆ่าพวกศากยะจนหมดสิ้น ไม่เว้นแม้กระทั่งเด็กที่ยังดื่มนม สกุลของพวกเจ้าศากยะได้ถูกพระเจ้าวิฑูฑภะทำลายจนหมดสิ้น เพราะการกล่าวคำหยาบด่าว่าผู้อื่นด้วยจิตใจที่หยาบคาย ดังนั้น จึงไม่ควรพูดคำหยาบ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม

สัมผัปปลาปะ
เจตนาเป็นเหตุกล่าวถ้อยคำอันหาประโยชน์มิได้ คือ กำจัดทางแห่งประโยชน์อันสัตบุรุษพึงได้รับ ชื่อว่า สัมผัปปลาปะ
ความแตกต่างระหว่างมุสาวาทกับสัมผัปปลาปะ
มุสาวาท ได้แก่ อกุศลเจตนา อันเป็นเหตุพยายามทางกาย ทางวาจาของคนผู้มุ่งจะหลอกลวงคนอื่น ส่วนสัมผัปปลาปะ ได้แก่ อกุศลเจตนา อันเป็นเหตุกล่าวถ้อยคำปราศจากอรรถธรรม ไม่แสดง อรรถ ธรรม และวินัย เพื่อให้เข้าใจประโยชน์ในภพนี้และภพหน้า

สัมผัปปลาปะที่ประกอบด้วยอกุศลเจตนาเป็นเหตุพยายามทางกาย ทางวาจาเพื่อแสดงสิ่งไร้สาระ จนคนหลงเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง จัดเป็นกรรมบถ
ส่วนดิรัจฉานกถา ผู้พูดด้วยความชอบใจ ย่อมเป็นเพียงกรรม ไม่ถึงกรรมบถ หากพูดโดยอิงอาศัยอรรถ ธรรม หรือวินัย ก็เกิดประโยชน์ได้
สัมผัปปลาปะ จะสำเร็จเป็นกรรมบถได้ ต้องประกอบด้วยองค์ ๒ คือ
. จิตคิดจะพูดเรื่องเพ้อเจ้อ
. พูดเรื่องเช่นนั้นออกไป
สัมผัปปลาปะ มีโทษมาก เพราะเหตุ ๓ ประการ คือ
. ผู้พูดมีอาเสวนะ ( ความเสพคุ้น ) มาก
. คนอื่นเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง
. ผู้พูดมีกิเลสแรงกล้า
สัมผัปปลาปะที่ตรงกันข้าม ชื่อว่ามีโทษน้อย

โทษของสัมผัปปลาปะ
โทษของสัมผัปปลาปะ ทรงแสดงไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัมผัปปลาปะ อันบุคคล เสพ เจริญ ทำให้มาก ย่อมทำให้ไปเกิดในนรก ในกำเนิดเดียรัจฉาน ในแดนแห่งเปรต ผลร้ายแห่งสัมผัปปลาปะอย่างเบาที่สุด ย่อมทำให้เป็นคนมีวาจาที่ไม่น่าเชื่อถือแก่ผู้ที่ได้มาเกิดเป็นมนุษย์

พระอรรถกถาจารย์ อธิบายว่า ผู้พูดสัมผัปปลาปะ ถึงแม้จะไม่ไปตกนรกเป็นต้นนั้น หากได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ก็จะไม่มีใครเชื่อถือวาจา ถึงแม้จะสั่งสอนบุตรธิดา หรือศิษย์ก็ไม่เชื่อฟัง เป็นต้น
ส่วนโทษของการพูดสัมผัปปลาปะ โดยการพูดแบบไม่รู้กาละเทศะ พึงเห็นเต่าตัวหนึ่ง เป็นอุทาหรณ์

ในสมัยดึกดำบรรพ์ มีเต่าช่างพูดตัวหนึ่ง ได้ผูกมิตรกับหงส์ ๒ ตัว ที่มาหากินในหนองน้ำที่เต่าอาศัยอยู่ เมื่อหงส์ทั้งสองมาที่หนองน้ำนั้น ก็สนทนากับเต่าอย่างมีความสุข สมกับคำที่นักปราชญ์สอนไว้ว่า จะมีใครในโลกนี้ที่มีความสุขเท่ากับผู้มีมิตรสหายไว้สนทนาปรับทุกข์ ร่วมสุขซึ่งกันและกัน เต่าได้พูดกับหงส์ว่า สหายทั้งสองนับว่าโชคดี มีปีกบินได้ จึงไปหากิน และไปเที่ยวต่างถิ่นได้ตามใจชอบ ส่วนข้าพเจ้ากี่เดือนกี่ปี ก็อยู่แต่ที่หนองน้ำแห่งนี้ ไม่มีโอกาสได้ไปภูมิประเทศอื่นอันสวยงามกับเขาเลย เพราะเป็นสัตว์เดินช้า
หงส์ทั้งสองสงสารเพื่อน จึงบอกว่า ถ้าสหายต้องการจะไปหากินยังหนองน้ำอื่น และเที่ยวชมภูมิประเทศที่สวยงามละก็ ข้าพเจ้าทั้งสองสามารถพาไปได้ แต่กลัวว่าสหายจะอดพูดไม่ได้ เต่าถามวิธี จึงบอกว่าข้าพเจ้าทั้งสองจะคาบไม้ที่ปลายทั้งสอง ให้สหายคาบตรงกลาง เพียงเท่านี้ ก็สามารถพาสหายไปที่ไหนก็ได้ แต่ระหว่างเดินทาง สหายต้องไม่พูดเด็ดขาด ถ้าพูดจะทำให้ตกลงมาถึงแก่ความตาย เต่ารับคำของหงส์ว่าจะทำตามนั้น
หงส์ทั้งสองพาเต่าบินไป ผ่านทุ่งนาแห่งหนึ่ง ซึ่งมีเด็กเลี้ยงวัวหลายคนกำลังจับกลุ่มเล่นกัน เด็กคนหนึ่งเห็นเช่นนั้นจึงบอกเพื่อนว่า ดูสิ หงส์ ๒ ตัวคาบปลายไม้พาเต่าบินไป ข้าว่าเดี๋ยวก็ตกลงมาตาย พวกเราตามไปเก็บเต่าตายมาแกงกินกันเถอะ แล้วก็พากันวิ่งตามไป เต่าได้ยินดังนั้น อยากจะพูดกับเด็กให้สะใจว่า ไอ้เด็กโง่เอ๋ยพวกเองไม่มีวันจะได้กินเนื้อของข้าหรอก อ้าปากจะพูด จึงหลุดจากไม้ที่คาบไว้ ตกลงมาที่แผ่นดิน จนกระดองแตก ถึงแก่ความตาย การพูดไม่รู้จักกาลเวลามีโทษอย่างนี้
วจีกรรมเป็นไปในทวาร ๒

กรรม ๔ อย่าง มีมุสาวาทเป็นต้นนี้ จัดเป็นวจีกรรม เพราะเป็นไปทางวจีทวารโดยมาก บางครั้ง กรรม ๔ อย่างนี้ ก็เกิดขึ้นทางกายทวารได้ เช่น การเขียนหนังสือหลอกลวงคนอื่น เป็นต้น
อนึ่ง ในขณะที่พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ และพูดเพ้อเจ้อนั้น อกุศลธรรม ๓ อย่าง มีอภิชฌา พยาบาท และมิจฉาทิฏฐิ ย่อมเกิดร่วมด้วยตามสมควร แต่ก็ไม่เรียกว่าวจีกรรม เพราะในที่นี้มุ่งเอาเจตนาเป็นใหญ่ ดังพระพุทธพจน์ว่า เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํ วทามิ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม และอกุศลธรรมทั้ง ๓ นั้น ก็ไม่ชื่อว่า มโนกหรรม เพราะละเมิดออกมาทางวาจาแล้ว ดังนั้น อกุศลธรรมทั้ง ๓ นั้น จึงเป็นเพียงตัวสนับสนุนเจตนา ส่วนอธิบายผู้ศึกษาพึงทราบเหมือนกับอธิบายในกายกรรมที่แสดงไว้แล้ว

อภิชฌา

เจตนาเป็นเหตุละโมบ ในเมื่อเห็นสิ่งของ ๆ ผู้อื่นแล้ว เพ่งเล็ง โดยน้อมเข้ามาหาตนว่า ทำอย่างไรหนอ ของนี้จะพึงเป็นของเรา ชื่อว่า อภิชฌา ที่ถึงความเป็นกรรมบถ แต่ถ้าเห็นสมบัติของคนอื่นแล้ว ไม่คิดเอามาเป็นของตน เพียงแต่ยินดีว่า ผู้ใช้สอยสมบัติเช่นนี้มีบุญหนอ เราควรได้ใช้สอยสักชั่วคราว หรือว่า เราควรได้รับของเช่นเดียวกันนี้ อย่างนี้ เป็นเพียงกรรมเท่านั้น ไม่ถึงกรรมบถ สมกับคำของพระอรรถกถาจารย์ว่า แม้ความโลภจะเกิดขึ้นในสมบัติของผู้อื่น ก็ยังไม่จัดเป็นกรรมบถ ตลอดเวลาที่ยังไม่น้อมเข้ามาเป็นของตนว่า ไฉนหนอ ของนี้พึงเป็นของเรา
อภิชฌา จะสำเร็จเป็นกรรมบถได้ ต้องประกอบด้วยองค์ ๒ คือ
. สิ่งของ ของบุคคลอื่น
. การน้อมมาเพื่อเป็นของตน
อภิชฌานั้นมีโทษมาก เพราะเหตุ ๓ ประการ คือ
. สิ่งของที่เพ่งเล็งมีค่ามาก
. เจ้าของมีคุณมาก
. ผู้เพ่งเล็งมีกิเลสแรงกล้า
อารมณ์ภายนอกเป็นเหตุเกิดอภิชฌาได้
มีเศรษฐีใหม่คนหนึ่ง ได้รับมรดกหลังจากบิดามารดาถึงแก่กรรม ผู้รักษาเรือนคลังของเศรษฐีนั้น ได้เปิดห้องสำหรับเก็บทรัพย์แจ้งจำนวนให้ทราบว่า ทรัพย์ของบรรพบุรุษมีปู่เป็นต้น มีจำนวนเท่านี้ ของบิดาท่านมีจำนวนเท่านี้ เศรษฐีใหม่ดูทรัพย์เหล่านั้นแล้ว ถามว่า ทำไมบรรพบุรุษของเรา จึงไม่เอาทรัพย์เหล่านี้ไปด้วย ผู้รักษาเรือนคลังตอบว่า เจ้านายไม่มีใครถือเอาทรัพย์ไปปรโลกได้หรอก สัตว์ทั้งหลายพาเอาไปได้แต่บุญกับบาปที่ตนทำไว้เท่านั้น
เศรษฐีใหม่คิดว่า บรรพบุรุษของเรา สะสมทรัพย์สินเงินทองเอาไว้มากมายมหาศาล ที่สุดก็เอาไว้ให้คนอื่น เพราะความโง่แท้ ๆ ส่วนเราจะเอาทรัพย์สินเงินทองเหล่านั้นไปให้หมด จึงสั่งให้สร้างคฤหาสน์หรูราคาแพง สร้างประรำสำหรับรับประทานอาหาร เพื่อประกาศความร่ำรวย ให้ชาวเมืองได้เห็น การรับประทานอาหารแต่ละมื้อใช้จ่ายมากมีทั้งอาหาร สาวงามคอยปรนนิบัติขับกล่อม โดยเฉพาะวันเพ็ญ ได้จ่ายทรัพย์เป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นค่าอาหาร จ้างคนไปประกาศให้ชาวเมืองมาดูการรับประทานอาหารของตน ประชาชนได้พากันมาดูเป็นจำนวนมาก
ในที่นั้นมีคนยากจน ๒ คน เป็นเพื่อนกัน คนหนึ่งอยู่ในเมือง คนหนึ่งอยู่บ้านนอก มีอาชีพหาฟืนขาย พอเศรษฐีเปิดภาชนะบรรจุอาหาร กลิ่นของอาหารหอมฟุ้งตลบไปทั่ว จนชาวบ้านนอกคนนั้นเกิดความอยากรับประทาน อดใจไว้ไม่อยู่ เพราะตั้งแต่เกิดมา อย่าว่าแต่ได้รับประทานเลย แม้แต่กลิ่นอย่างนี้ก็ไม่เคยได้รับ จึงบอกแก่เพื่อนว่า เพื่อนเอ๋ย เราอยากกินอาหารนั้นเหลือเกิน เพื่อนจึงตอบว่า อย่าปรารถนาเลยเพื่อน เราทำงานไปตลอดชีวิต ก็ไม่มีโอกาสได้ลิ้มรสอาหารอย่างนี้ เขาขอร้องว่า เพื่อนเอ๋ย ถ้าไม่ได้กินอาหารนี้ ต้องตายแน่ เมื่อไม่สามารถห้ามได้ จึงตะโกนด้วยเสียงอันดังว่า นายครับ ผมไหว้ท่าน ขออาหารในถาดให้เพื่อนผมกินสักคำเถิด เศรษฐีตอบว่า ไม่ได้ จึงหันมาถามเพื่อนว่า ท่านได้ยินเศรษฐีพูดไหม เขาตอบว่า ได้ยินแล้ว แต่ยังยืนยันว่า ถ้าไม่ได้รับประทานอาหารนี้ ต้องตายแน่ ท่านขอรับ เพื่อนของผมบอกว่า ถ้าเขาไม่ได้อาหาร ชีวิตของเขาต้องตายแน่นอน เขาจึงบอกเศรษฐีอีกว่าโปรดให้ชีวิตแก่เขาเถิด ได้รับคำตอบว่า อาหารนี้ราคาแพงมาก ถ้าคนอื่นมาอ้างเหมือนเพื่อนของแกฉันจะเอาที่ไหนมาให้ ถ้าเพื่อนของแกอยากกินอาหารจานนี้จริง ๆ ต้องทำงานในบ้านฉัน ๓ ปี ในที่สุดชาวบ้านนอกคนนั้น ก็ยอมทิ้งครอบครัวมาทำงานในบ้านเศรษฐี ๓ ปี เพื่อแลกข้าวจานเดียว
เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า อภิชฌา ความเพ่งเล็งอยากได้อย่างรุนแรงนั้นเกิดขึ้นจากสิ่งล่อใจภายนอกก็ได้ ชาวบ้านนอกคนนั้น มีชีวิตอยู่ในโลกด้วยความอดอยากยากจนมานานแล้ว เมื่อไม่ได้เห็นความหรูหรา ไม่ได้กลิ่นอาหารดี ๆ ก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่เมื่อได้มาเห็นความหรูหรา และได้กลิ่นอาหารดี ๆ ของเศรษฐี จึงเกิดความอยากได้อย่างรุนแรง ถึงกับเอาชีวิตเข้าแลก สมกับคำที่นักปราชญ์สอนเอาไว้ว่า ระหว่างอารมณ์กับยาพิษ อารมณ์มีพิษร้ายแรงกว่ายาพิษ เพราะยาพิษต้องกินเข้าไปมันถึงจะฆ่าชีวิตได้ แต่อารมณ์แค่คิดถึงก็ทำให้คนเราถึงตายได้ ดังนั้น คนเราจะทำอะไรก็ตาม ควรคิดถึงจิตใจของคนอื่นบ้าง อย่าเอาทรัพย์สมบัติ หรือสังขารร่างกายของเราไปอวดสาธารณชน จนคนอื่นเกิดความอยากได้อย่างรุนแรง เป็นเหตุนำภัยอันตรายมาสู่ตัวเองได้

พยาบาท
เจตนาเป็นเหตุปองร้าย คือ ความคิดกระทำให้ผู้อื่นประสบความพินาศ ชื่อว่า พยาบาท
ความคิดปองร้าย ของผู้มุ่งจะทำร้ายชีวิตของสัตว์อื่น ตั้งแต่มดและยุงไปจนถึงมนุษย์ว่า ขอให้สัตว์เหล่านี้จงพินาศ จงวิบัติ ทำอย่างไรหนอ สัตว์เหล่านี้ พึงพินาศ พึงวิบัติ ไม่พึงเจริญรุ่งเรือง ไม่พึงมีชีวิตอยู่ได้นาน ดังนี้ จัดเป็นกรรมบถ ส่วนความโกรธที่ไม่คิดร้ายผู้อื่น เป็นเพียงกรรมเท่านั้น สมกับคำพระอรรถกถาจารย์ว่า แม้ความโกรธที่มีสัตว์อื่นเป็นเหตุเกิดขึ้น ก็ไม่ล่วงกรรมบถ ตราบใดที่ยังไม่คิดร้ายเขาว่า ทำอย่างไรหนอ ผู้นี้จะพึงพินาศตายไป
พยาบาท จะสำเร็จเป็นกรรมบถได้ ต้องประกอบด้วยองค์ ๒ คือ
. มีสัตว์อื่น
. คิดจะให้สัตว์นั้นถึงความพินาศ
พยาบาท มีโทษมาก เพราะเหตุ ๒ ประการ คือ
. ผู้ที่ถูกปองร้ายมีคุณมาก
. ผู้ปองร้ายมีกิเลสรุนแรง
ความพยาบาทเกิดเพราะความคิด ๑๐ ประการ
ความพยาบาทย่อมเกิดเพราะความคิด ๑๐ ประการ คือ เพราะคิดว่า
. เขาได้ประพฤติสิ่งที่เป็นความพินาศแก่เรา
. เขากำลังประพฤติสิ่งที่เป็นความพินาศแก่เรา
. เขาจะประพฤติสิ่งที่เป็นความพินาศแก่เรา
. เขาได้ประพฤติสิ่งที่เป็นความพินาศแก่คนที่รักที่พอใจของเรา
. เขากำลังประพฤติสิ่งที่เป็นความพินาศแก่คนที่รักที่พอใจของเรา
. เขาจะประพฤติสิ่งที่เป็นความพินาศแก่คนที่รักที่พอใจของเรา
. เขาได้บำเพ็ญประโยชน์แก่คนที่ไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่พอใจของเรา
. เขากำลังบำเพ็ญประโยชน์แก่คนที่ไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่พอใจของเรา
. เขาจะบำเพ็ญประโยชน์แก่คนที่ไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่พอใจของเรา
๑๐. บุคคลบางคนย่อมโกรธโดยไม่มีเหตุผล
ความพยาบาทนั้น นอกจากจะทำลายประโยชน์สุขของผู้อื่นแล้ว ยังทำลายตนเองอีกด้วย ดังเรื่องที่พระอรรถกถาจารย์เล่าไว้ในอรรถกถาธรรมบทว่า
มีเศรษฐีคนหนึ่ง เก็บเอาเด็กทารกที่มารดาทิ้งไว้ที่กองขยะ นำมาเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม เพราะเชื่อโหราศาสตร์ว่า เด็กที่เกิดมาในช่วงระยะวันเดือนนั้น จะมีวาสนาดี ได้เป็นเศรษฐี พอดีภรรยาของเขา ก็จะคลอดในช่วงเวลานั้นด้วย คิดว่า ถ้าภรรยาคลอดทารกออกมาเป็นหญิง ก็จะให้แต่งงานกับเด็กคนนั้น ถ้าคลอดออกมาเป็นชายก็จะฆ่าเด็กนั้นทิ้งเสีย เผอิญภรรยาคลอดทารกออกมาเป็นชาย จึงคิดจะฆ่าเด็กนั้น ตามความพยาบาทข้อที่ ๖ ว่า เขาจะประพฤติสิ่งที่เป็นความพินาศแก่คนที่รัก ที่พอใจ ของเรา
เศรษฐีพยายามฆ่าเด็กนั้น ตั้งแต่เป็นทารกแบเบาะ จนถึงโตเป็นหนุ่มถึง ๕ ครั้ง
ครั้งที่ ๑ เอาไปวางไว้ที่ประตูคอกโค ซึ่งมีโคหลายร้อยตัวที่จะเดินแออัดแย่งกันออกจากคอกแล้วเหยียบเด็ก แต่ปรากฏว่า โคตัวจ่าฝูงไปยืนกันเด็กเอาไว้ จนโคออกจากคอกหมด ทำให้เด็กรอดตายในครั้งนั้น

ครั้งที่ ๒ เอาไปวางไว้ที่ทางเกวียน เวลากลางคืน เพื่อให้หมู่เกวียนที่นำสินค้าไปขายหลายร้อยหลายพันเล่มทับเด็กตาย แต่โคลากเกวียนเล่มหน้าสุด เดินไปถึงที่นั้นได้สลัดแอกทิ้ง ไม่ยอมลากเกวียนต่อไป เจ้าของเกวียนลงไปจัดการกับโค ได้พบเด็กเข้าจึงนำไปคืนให้เศรษฐี
ครั้งที่ ๓ เอาเด็กไปทิ้งในป่าช้าผีดิบ เพื่อให้สัตว์ร้ายและอมนุษย์ที่มาหากินในเวลากลางคืนทำร้ายเด็ก แต่ก็ไม่มีสัตว์ร้ายอะไรทำร้ายเด็กได้ จนมีคนมาพบแล้วนำไปคืนเศรษฐี
ครั้งที่ ๔ นำเอาเด็กไปโยนเหว แต่ปรากฏว่าเด็กตกไปค้างอยู่บนยอดพุ่มไม้ ซึ่งมีเถาวัลย์สอดประสานกันอย่างหนาแน่น จึงไม่เป็นอันตราย จนมีคนไปพบแล้วนำไปคืนเศรษฐี
เศรษฐีพยายามฆ่าเด็กถึง ๔ ครั้ง แต่เด็กไม่ตาย ยังมีชีวิตอยู่ต่อมาจนเป็นหนุ่ม เศรษฐีมองดูเด็กนั้นครั้งใด หน้าของเด็กนั้นเหมือนกับหนามแทงตาแทงใจ ดังพระพุทธพจน์ว่า อปฺปิเยหิ สมฺปโยโค ทุกฺโข การได้ประสบกับบุคคลไม่เป็นที่รัก เป็นทุกข์ สุดท้ายเศรษฐี จึงวางแผนฆ่าเด็กด้วยการส่งเด็กไปยังบ้านนายช่างหม้อเพื่อนตนเอง เขียนหนังสือให้เด็กถือไป มีข้อความว่า ให้ฆ่าเด็กคนนี้แล้วเผาทิ้งเสีย เพราะเด็กไม่รู้หนังสือ จึงรับคำของบิดา เดินทางออกจากบ้านมุ่งหน้าไปยังบ้านของนายช่างหม้อ บังเอิญไปพบกับบุตรชายแท้ ๆ ของเศรษฐี กำลังเล่นอยู่กับเพื่อน ๆ และพ่ายแพ้มาตลอด จึงรบเร้าให้พี่ชายเล่นแทน และขออาสาเอาจดหมายของพ่อไปให้นายช่างหม้อแทน จึงถูกนายช่างหม้อฆ่าตาย นายช่างเผาทำลายหลักฐาน ตามคำสั่งของเศรษฐีแล้ว ส่งข่าวไปให้ทราบว่า งานที่สั่งให้ทำ ได้จัดการเสร็จเรียบร้อยแล้ว ครั้นตกเย็น เด็กหนุ่มกลับมาบ้าน พอเศรษฐีเห็นหน้าเขาเท่านั้น ก็รู้ทันทีว่าเกิดอะไรขึ้น เสียใจอย่างหนักถึงกลับอาเจียนออกมาเป็นเลือด และถึงแก่ความตายในที่สุด สมกับที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า ผู้ประทุษร้ายต่อบุคคลผู้ไม่คิดประทุษร้าย ผู้ประทุษร้ายต่อบุคคลผู้ไม่มีความผิด ย่อมประสบความทุกข์ ๑๐ ประการ คือ
. ต้องเจ็บปวด อย่างหนัก ยากรักษา
. ทรัพย์โภคา เสื่อมถอย ค่อยหดหาย
. อวัยวะ แตกหัก จากร่างกาย
. โรคร้าย เกาะเกี่ยว สุดเยียวยา
. เกิดโรค ทางจิต คิดฟุ้งซ่าน
. มีการ อื้อฉาว ถูกกล่าวหา
. อุปสรรค มากมี เข้าบีฑา
. ญาติกา ที่รัก ต้องจากไป
. ทรัพย์สิน ย่อยยับ อย่างฉับพลัน
ข้อ ๑๐ นั้น บ้านเรือน ถูกไฟไหม้
ใน ๑๐ ข้อ ไม่ข้อใดข้อหนึ่ง เป็นต้องได้ ประสบ พบแน่นอน
ความพยาบาทปองร้าย เป็นเหตุนำทุกข์ภยันตรายมาสู่ตนและคนอื่น ดังกล่าวมา ฉะนั้น จึงควรมีเมตตากรุณา รักใคร ช่วยเหลือซึ่งกันและกันดีกว่า เพื่อให้โลกของเราอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข และพึ่งอาศัยกันได้ต่อไป

มิจฉาทิฏฐิ
เจตนาเป็นเหตุให้เห็นผิด เพราะไม่มีการถือเอาตามความเป็นจริง คัดค้านข้อประพฤติปฏิบัติของสัตบุรุษทั้งหมด โดยนัยเป็นต้นว่า ทานที่ให้แล้วไม่มีผล ชื่อว่า มิจฉาทิฏฐิ
นิยตมิจฉาทิฏฐิ ๓ อย่าง
. นัตถิกทิฏฐิ ความเห็นว่าผลกรรมไม่มี เช่นเห็นว่า ผลของกรรมดีกรรมชั่วไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี บิดามารดาไม่มีบุญคุณต่อบุตรธิดา เป็นต้น

. อเหตุกทิฏฐิ ความเห็นว่าไม่มีเหตุ คือ เหตุแห่งความเศร้าหมอง ความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลายไม่มี สัตว์ทั้งหลายเศร้าหมองเอง บริสุทธิ์เอง ทุกข์เอง สุขเอง ไม่มีอำนาจ ไม่มีกำลัง ไม่มีความเพียรอะไร ที่จะสามารถทำให้สัตว์ทั้งหลายเศร้าหมองและบริสุทธิ์ได้ ดังนั้น อเหตุกทิฏฐิ ก็คือ ความเห็นว่ากรรมไม่มีนั่นเอง
. อกิริยทิฏฐิ ความเห็นว่าไม่เป็นอันทำ หมายความว่า เมื่อคนทำบาป มีการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เป็นต้น ก็ไม่จัดว่าเป็นการทำบาป เมื่อคนให้ทาน รักษาศีล เป็นต้น ก็ไม่จัดว่า เป็นการทำบุญ ดังนั้น อกิริยทิฏฐิ ก็คือความเห็นว่ากรรมและผลของกรรมไม่มี นั่นเอง
มิจฉาทิฏฐิ ๓ อย่างนี้ อย่างใดอย่างหนึ่ง ล้วนปฏิเสธกรรมและผลของกรรมอย่างสิ้นเชิง จัดเป็นกรรมบถ ส่วนมิจฉาทิฏฐินอกจากนี้ มีสักกายทิฏฐิ ๒๐ หรือทิฏฐิ ๖๒ เป็นต้น เป็นเพียงกรรมเท่านั้น
มิจฉาทิฏฐิ จะสำเร็จเป็นกรรมบถได้ ต้องประกอบด้วยองค์ ๒ คือ
. เรื่องไม่จริง
. เรื่องไม่จริงนั้น ไม่เป็นไปตามที่มิจฉาทิฏฐิยึดถือ

มิจฉาทิฏฐินั้น มีโทษมาก เพราะเหตุ ๒ ประการ คือ
. เพราะมีอาเสวนะ (ความเสพคุ้น) มาก
  1. เพราะเป็นนิยตมิจฉาทิฏฐิ
โทษของมิจฉาทิฏฐิ
โทษของมิจฉาทิฏฐิ แม้จะไม่ถึงเป็นนิยตะ คือ ดิ่งจนไม่สามารถจะแก้ไขได้ทั้ง ๓ ประการ ดังกล่าวมา ก็ล้วนแต่เป็นสิ่งที่มีโทษมาก ทำให้ผู้ประพฤติถึงความพินาศได้ เหมือนชาวกาลิงครัฐ เป็นอุทาหรณ์
เล่ากันมาว่า ครั้งดึกดำบรรพ์ พระเจ้าทัณฑกีครองราชย์ในกุมภวดีบุรี แคว้นกาลิงคะ ครั้งนั้นพระองค์ทรงถอดตำแหน่งหญิงนครโสเภณีคนหนึ่ง นางได้วิ่งเต้นทุกวิถีทางเพื่อได้ตำแหน่งกลับมา วันหนึ่ง ไปพักผ่อนหย่อนใจในราชอุทยาน พบดาบสรูปหนึ่งนั่งเข้าฌานอยู่ เธอคิดว่านั่นเป็นภาพกาฬกิณี จึงให้คนใช้เอาน้ำมาล้างตา เสร็จแล้วถ่มน้ำลายรดดาบส หลังจากนั้นสองสามวันเธอได้รับตำแหน่งกลับคืนดังเดิม
ต่อจากนั้นไม่นาน ปุโรหิตคนหนึ่งถูกถอดจากตำแหน่งอีก เขาไปถามหญิงนั้นว่า ทำอย่างไรจึงได้ตำแหน่งกลับคืน เธอตอบว่า เพราะไปถ่มน้ำลายรดดาบส ปุโรหิตไปทำตามนั้น หลังจากนั้นสองสามวันเขาได้รับพระราชทานตำแหน่งดังเดิมเช่นกัน
ต่อจากนั้นไม่นาน เกิดจราจลที่หัวเมืองชายแดน พระราชาทรงเชื่อปุโรหิตนั้นจึงให้ประชาชนไปถ่มน้ำลายรดดาบส ไม่นานก็สามารถปราบปรามหัวเมืองให้สงบลงได้ ต่างร่าเริงยินดีว่าถ่มน้ำลายรดดาบสแล้วโชคดี
หญิงนครโสเภณี ปุโรหิต และชาวกาลิงครัฐ ได้รับความสำเร็จโดยบังเอิญ หลังจากที่ไปถ่มน้ำลายรดดาบส จึงเกิดความเห็นผิดว่า ทำชั่วได้ดี ต่างก็พากันเห็นดีเห็นงามกับการทำความชั่ว เทวดาโกรธชาวเมืองนั้นมาก จึงดลบันดาลให้ฝนเพลิงและฝนทราย ตกลงมาในแว่นแคว้นนั้น ทำให้คนเหล่านั้นถึงแก่ความตายทั้งหมด
จากเรื่องดังกล่าวนี้ ให้ข้อคิดทางคติธรรมว่า ความบังเอิญบางอย่างทางดีก็ตาม ทางร้ายก็ตาม ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังจากเหตุการณ์บางอย่าง เป็นสาเหตุอันสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้คนเกิดมิจฉาทิฏฐิได้ ผู้เป็นวิญญูชนควรมีวิจารณญาณในเรื่องอย่างนี้ให้มาก เพื่อสร้างสัมมาทิฏฐิให้เกิดขึ้น และไม่ต้องตกเป็นเหยื่อของทรชน

มโนกรรมเป็นไปทางทวาร ๓
อภิชฌา พยาบาท และมิจฉาทิฏฐิ ทั้ง ๓ นี้ จัดเป็นมโนกรรม เพราะเป็นไปทางมโนทวารโดยมาก แม้ไม่มีการเคลื่อนไหวทางกาย ทางวาจา เพียงแต่คิดในใจ ก็สำเร็จเป็นกรรมบถได้ บางครั้ง อกุศลธรรมทั้ง ๓ นี้ ย่อมเกิดขึ้นทางกายทวารและวจีทวาร เช่น บางคนมีใจละโมบอยากได้ของคนอื่น จึงยื่นมือไปหยิบของนั้น มีใจโกรธแค้นหยิบมีดหยิบไม้เพื่อทำร้ายเขา หรือมีความเห็นผิดไปไหว้กระบือ ๕ ขา เพื่อขอเลข เป็นต้น กรรมนั้นของเขา จัดเป็นมโนกรรม ส่วนทวาร จัดเป็นกายทวาร ถามว่าทำไม่ จึงไม่จัดเป็นกายกรรม แก้ว่า เพราะตรงนี้ ท่านมุ่งถึงอภิชฌา พยาบาท และมิจฉาทิฏฐิเป็นใหญ่ ไม่ได้มุ่งเจตนาเป็นใหญ่ ถ้ามุ่งเจตนาที่เป็นเหตุให้กระทำทางกายก็จัดเป็นกายกรรมได้
บางคนมีใจละโมบ พูดออกมาว่า ทำอย่างไรหนอ ของนั้นสิ่งจะพึงเป็นของเรา มีใจโกรธแค้น พูดแช่งว่า ทำอย่างไรหนอ คนนี้ จะพึงตายเสียที มีความเห็นผิด พูดว่า ผลของกรรมดีกรรมชั่วไม่มี เช่นนี้ กรรมของเขา จัดเป็นมโนกรรม ส่วนทวาร จัดเป็นวจีทวาร
บางคนไม่มีการกระทำทางกาย หรือพูดทางวาจา คิดละโมบอยากได้ คิดพยาบาทปองร้าย และเห็นผิดจากทำนองคลองธรรมอย่างเดียว กรรมของเขา จัดเป็นมโนกรรม แม้ทวารก็เป็นมโนทวาร มโนกรรมที่เป็นอกุศล ย่อมเกิดได้ทางทวารทั้ง ๓ ดังพรรณนามาฉะนี้ ฯ
อธิบายเป็นปุคลาธิษฐาน เรื่องมโนกรรม ดังนี้ มีโจรอยู่ ๓ กลุ่ม
กลุ่มที่ ๑ หัวหน้าชื่อนายอภิชฌา
กลุ่มที่ ๒ ชื่อนายพยาบาท
กลุ่มที่ ๓ ชื่อนายมิจฉาทิฏฐิ
ส่วนลูกน้องของทั้ง ๓ กลุ่ม มี ๒ คือ นายกาย กับ นายวาจา บางครั้งเวลาทำงาน เช่น ฆ่าคนหรือปล้นจี้ เป็นต้น หัวหน้าเป็นผู้คิดอุบาย นายกาย นายวาจา ซึ่งเป็นลูกน้องเป็นผู้ลงมือทำงาน จึงต้องได้รับโทษหนัก แต่บางครั้งหัวหน้าลงมือเอง ลูกน้องคอยสนับสนุน เช่น คอยดูต้นทาง เป็นต้น หัวหน้าจึงมีโทษหนักกว่า

โทษของอกุศลกรรมบถ ๑๐
บุคคลผู้ประกอบ คือ ประพฤติ หรือ กระทำอกุศลกรรมบถ ๑๐ อย่างนี้ ย่อมตกนรก เหมือนกับถูกจับเอาไปวางไว้ ดังพระพุทธองค์ตรัสไว้ในปฐมนิรยสัคคสูตร ปัญจมปัณณาสก์ ทสกนิบาต อังคุตตรนิกายว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ย่อม
ตกนรกเหมือนถูกจับเอาไปวางไว้ ธรรม ๑๐ ประการอะไรบ้าง คือ บุคคลบางคนในโลกนี้
. เป็นผู้มักฆ่าสัตว์ มีมือเปื้อนเลือด คิดแต่ประหัตประหาร ไม่มีความเมตตากรุณาต่อสัตว์ทั้งปวง
. มักเป็นผู้ถือเอา สิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ ไม่ว่าของนั้นจะอยู่ในบ้านของเขา หรือที่ไหน ๆ ก็ตาม เป็นผู้ถือเอาสิ่งนั้นด้วยจิตคิดขโมย
. เป็นผู้มักประพฤติผิดในกาม จะเป็นผิดเพราะการนอกใจคู่ครองของตน ผิดเพราะล่วงละเมิดคู่ครองของผู้อื่น หรือผิดเพราะล่วงละเมิดต่อบุคคลที่ตนไม่มีสิทธิ์ที่จะทำเช่นนั้นก็ตาม

. เป็นผู้มักกล่าวเท็จ คือ ตนไม่รู้บอกว่ารู้ ไม่เห็นบอกว่าเห็น หรือรู้บอกว่าไม่รู้ เห็นบอกว่าไม่เห็น เป็นผู้กล่าวเท็จทั้ง ๆ ที่รู้ เพราะเหตุแห่งตน เพราะเหตุแห่งบุคคลอื่น หรือเพราะเห็นแก่อามิสสินจ้าง
. เป็นผู้พูดทำลายความสามัคคี ฟังจากฝ่ายนี้ไปบอกฝ่ายโน้น หรือฟังจากฝ่ายโน้นมาบอกฝ่ายนี้ เพื่อให้เขาแตกสามัคคีกัน หรือเพื่อจะทำตนให้เป็นที่รักของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ชอบสร้างความแตกแยก หรือส่งเสริมให้คนแตกแยก ชอบตั้งพรรคตั้งพวก พูดแต่ถ้อยคำที่จะทำให้แบ่งพรรคแบ่งพวก
. เป็นผู้พูดวาจาที่แผ่ไปเผาผลาญหัวใจของผู้ฟัง เป็นคำพูดบาดหู หยาบคาย เผ็ดร้อน กระทบกระเทียบเปรียบเปรย ทำให้ผู้ฟังเกิดความโกรธและฟุ้งซ่าน
. เป็นผู้พูดทำลายความสุข และประโยชน์ที่สัตบุรุษพึงได้รับ คือ พูดคำที่กำจัดทางแห่งประโยชน์และความสุขนั้น ไม่รู้กาลเทศะ พูดปราศจากอรรถ ธรรม หรือวินัย อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นเครื่องแสดงเหตุผลเพื่อให้เข้าใจประโยชน์ในโลกนี้และประโยชน์ในโลกหน้า
. เป็นผู้มากไปด้วยความละโมบ จ้องหาทางเอาของคนอื่นมาเป็นของตน
. เป็นผู้มีใจพยาบาท มีความคิดประทุษร้ายว่า ขอสัตว์เหล่านี้จงถูกฆ่า ถูกจองจำ จงหายสาบสูญ จงพินาศ จงอย่าอยู่ในโลกนี้
๑๐. เป็นผู้มีความเห็นผิด มีทัศนะที่วิปริต ว่าการให้ทานไม่มีผล การบูชาไม่มีผล การเซ่นสรวงไม่มีผล ผลวิบากของกรรมดีและกรรมชั่วไม่มี โลกนี้ไม่มีโลกหน้าไม่มี มารดาไม่มีคุณ บิดาไม่มีคุณ โอปปาติกสัตว์ไม่มี สมณะพราหมณ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ รู้แจ้งเองแล้ว แสดงโลกนี้ และโลกหน้าได้แจ่มแจ้ง ไม่มี
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการเหล่านี้ ย่อมตกนรก เหมือนถูกจับเอาไปวางไว้

พฤติกรรมที่เป็นบาป ๔ อย่าง
ผู้ที่ทำกายกรรมอันเป็นอกุศล ๓ อย่าง พูดวจีกรรม อันเป็นอกุศล ๔ อย่าง คิดมโนกรรมอันเป็นอกุศล ๓ อย่าง ดังกล่าวมาเท่านั้น จึงเป็นบาปทำให้ไปตกนรกก็หาไม่ แม้ผู้ชักชวน ผู้ยินดี ผู้ยกย่องสรรเสริญ อกุศลกรรม หรือบุคคลผู้ประพฤติอกุศลกรรมเหล่านั้น ก็ล้วนทำให้ไปตกนรกได้เหมือนกัน ดังนั้น ตามหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาจึงสรุปพฤติกรรมที่เป็นบาป สามารถนำไปสู่นรกได้ ๔ อย่าง คือ

. การทำ การพูด การคิด สิ่งที่เป็นอกุศลด้วยตนเอง
. การชักชวนผู้อื่นให้ทำ ให้พูด ให้คิดสิ่งที่เป็นอกุศลเหล่านั้น
. การยินดีกับบุคคลผู้ทำ ผู้พูด ผู้คิดสิ่งที่เป็นอกุศลเหล่านั้น
. การพูดยกย่องสรรเสริญ บุคคลผู้ทำ ผู้พูด ผู้คิด สิ่งที่เป็นอกุศลเหล่านั้น
สมจริงดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในกรรมปถวรรค อังคุตตรนิกาย ซึ่งขอยกมากล่าวแต่ใจความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ย่อมตกนรก เหมือนถูกเขาจับเอาไปวางไว้ ธรรม ๔ ประการคือ ๑. เป็นผู้ทำเอง พูดเอง คิดเอง ๒. เป็นผู้ชักชวนผู้อื่นให้ทำ ให้พูด ให้คิด ๓. เป็นผู้ยินดีกับบุคคลผู้ทำ ผู้พูด ผู้คิด ๔. เป็นผู้พูดสรรเสริญ ปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร มุสาวาท ปิสุณวาจา ผรุสวาจา สัมผัปปลาปะ อภิชฌา พยาบาท และมิจฉาทิฏฐิ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล ย่อมตกนรก เหมือนถูกเขาจับเอาไปวางไว้
คนชั่วยิ่งกว่าคนชั่ว
อนึ่ง บุคคลผู้ทำ ผู้พูด ผู้คิด กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม อันเป็นอกุศลทั้ง ๑๐ นี้ ถึงแม้ว่า จะทำให้ตกนรกก็จริง ถึงอย่างนั้น องค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ตรัสว่า เป็นคนชั่วธรรมดาเท่านั้น แต่บางคนนอกจาก ทำ พูด และคิดอกุศลด้วยตนเองแล้ว ยังชักชวน หรือบีบบังคับผู้อื่นให้ทำ ให้พูด ให้คิดอกุศลเหล่านั้นด้วย บุคคลเช่นนี้ พระพุทธองค์ตรัสว่าเป็นคนชั่วยิ่งกว่าคนชั่ว ตามพระพุทธพจน์ในทสกรรมสูตรว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ โลภอยากได้ของผู้อื่น คิดร้ายทำลายผู้อื่น เป็นมิจฉาทิฏฐิ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลนี้เราเรียกว่า คนชั่ว
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แต่บุคคลบางคนในโลกนี้ ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประ พฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ โลภอยากได้ของผู้อื่น คิดร้ายทำลายผู้อื่น เป็นมิจฉาทิฏฐิด้วยตนเองแล้ว ยังชักชวนบุคคลอื่นให้ทำ ให้พูด ให้คิดอย่างนั้นด้วย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลนี้เราเรียกว่า คนชั่วยิ่งกว่าคนชั่ว
กุศลกรรมบถ ๑๐
. ปาณาติปาตา เวรมณี เว้นจากทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง
. อทินฺนาทานา เวรมณี เว้นจากถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้
ด้วยอาการแห่งขโมย
. กาเมสุมิจฺฉาจารา เวรมณี เว้นจากประพฤติผิดในกาม
ทั้ง ๓ นี้ จัดเป็นกายกรรม เพราะเป็นไปทางกายทวารโดยมาก
. มุสาวาทา เวรมณี เว้นจากพูดเท็จ
. ปิสุณาย วาจาย เวรมณี เว้นจากพูดส่อเสียด
. ผรุสาย วาจาย เวรมณี เว้นจากพูดคำหยาบ
. สมฺผปฺปลาปา เวรมณี เว้นจากพูดเพ้อเจ้อ
ทั้ง ๔ นี้ จัดเป็นวจีกรรม เพราะเป็นไปทางวจีทวารโดยมาก
. อนภิชฺฌา ไม่โลภอยากได้ของเขา
. อพฺยาปาท ไม่พยาบาทปองร้ายเขา
๑๐. สมฺมาทิฏฺฐิ เห็นชอบตามคลองธรรม
ทั้ง ๓ นี้ จัดเป็นมโนกรรม เพราะเป็นไปทางมโนทวารโดยมาก

คำว่า กุศลกรรมบถ แปลได้ ๒ นัย
. แปลว่า ทางเกิดแห่งกุศลกรรมที่ส่งผลในปฏิสนธิกาลได้
. แปลว่า กุศลกรรมที่เป็นเหตุเกิดในสุคติภูมิ และความสุขในสุคติภูมินั้น

กุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้ ทรงแสดงไว้ในพระสูตรมากมาย เฉพาะใน อังคุตตรนิกาย มีอยู่หลายสูตร มีชื่อเรียกต่าง ๆ กันไป ดังนี้

ในสาธุสูตร เรียกว่า สาธุธรรม (ธรรมดี)
ในอริยธรรมสูตร เรียกว่า อริยธรรม (ธรรมของอารยชน)
ในกุศลสูตร เรียกว่า อรรถธรรม (ธรรมที่ทำลายความชั่ว)
ในอรรถสูตร เรียกว่า อนาสวธรรม (ธรรมที่ไม่มีกิเลส)
ในวัชชสูตร เรียกว่า อนวัชชธรรม (ธรรมที่ไม่มีโทษ)
ในตปนียสูตร เรียกว่า อตปนียธรรม (ธรรมที่สร้างความร่มเย็น)
ในอาจยคามิสูตร เรียกว่า อปจยคามิธรรม (ธรรมที่ไม่ก่อให้เกิดความทุกข์)
ในสาเลยยกสูตร ปัญจมวรรค แห่งมูลปัณณาสก์ ทรงเรียกว่า ธรรมจริยสมจริยา
ธรรมจริยา แปลว่า การประพฤติที่เป็นธรรม
สมจริยา แปลว่า การประพฤติกรรมที่ถูกต้อง
ทรงแสดงผลดีที่พึงจะได้รับ จากการประพฤติธรรมและการประพฤติกรรมที่ถูกต้องนี้ว่า ใครปรารถนาอะไร จะเป็นมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ พรหมสมบัติ มรรค ผล และนิพพาน ล้วนสำเร็จสมประสงค์ทั้งสิ้น ดังข้อความในสาเลยยกสูตรว่า
ดูก่อนพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย สัตว์บางพวกในโลกนี้ หลังจากตายจากโลกนี้แล้ว ย่อมบังเกิดในสุคติโลกสวรรค์ เพราะเหตุแห่งธรรมจริยาและสมจริยา ดูก่อนพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ธรรมจริยาและสมจริยา ทางกายมี ๓ ทางวาจามี ๔ ทางใจมี ๓
ธรรมจริยาและสมจริยา ทางกายมี ๓ คือ
. บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมเป็นผู้ละการยังสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วงไปเว้นขาดจากการยังสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วงไป เป็นผู้มีท่อนไม้และศัสตราอันวางแล้ว มีความละอายประกอบด้วยความเอ็นดู เป็นผู้เกื้อกูล อนุเคราะห์สัตว์ทุกจำพวก
. เป็นผู้ละอทินนาทาน เว้นขาดจากอทินนาทาน ขึ้นชื่อว่า ทรัพย์ของผู้อื่นจะอยู่ในบ้าน หรืออยู่ในป่าก็ตาม ย่อมเป็นผู้ไม่ถือเอาทรัพย์นั้นที่เจ้าของไม่ได้ให้ด้วยจิตคิดขโมย
. เป็นผู้ละกาเมสุมิจฉาจาร เว้นขาดจากกาเมสุมิจฉาจาร
ธรรมจริยาและสมจริยา ทางวาจามี ๔ คือ
­­ . บุคคลในโลกนี้ เป็นผู้ละมุสาวาท เว้นขาดจากมุสาวาท ไปในสภาก็ดี ในบริษัทก็ดี ในท่ามกลางหมู่ญาติก็ดี ในท่ามกลางเสนาก็ดี ในท่ามกลางแห่งราชตระกูลก็ดี ถูกอ้างเป็นพยาน ซักถามว่า แน่ะพ่อชาย ท่านจงมา ท่านรู้อย่างไร จงเบิกอย่างนั้น บุคคลนั้นเมื่อไม่รู้ ก็บอกว่า ข้าพเจ้าไม่รู้ หรือรู้อยู่ก็บอกว่า ข้าพเจ้ารู้ เมื่อไม่เห็นก็บอกว่า ข้าพเจ้าไม่เห็น หรือเห็นก็บอกว่า ข้าพเจ้าเห็น ย่อมไม่กล่าวเท็จทั้งที่รู้ เพราะเหตุแห่งตน เพราะเหตุแห่งคนอื่น หรือเพราะเหตุแห่งอามิสสินจ้าง
. เป็นผู้ละคำส่อเสียด เว้นขาดจากกล่าวส่อเสียด ฟังข้างนี้แล้วไม่ไปบอกข้างโน้น เพื่อทำลายคนหมู่นี้ หรือฟังจากข้างโน้นแล้วไม่มาบอกคนหมู่นี้ เพื่อทำ
ลายคนหมู่โน้น เป็นผู้สมานคนทั้งหลายที่แตกกันแล้ว หรือสนับสนุนหมู่คนที่สามัคคีกันอยู่แล้ว เป็นผู้มีความชื่นชมยินดีในหมู่คนผู้สามัคคีกัน เป็นผู้กล่าววาจาที่ทำให้คนสามัคคีกัน
. เป็นผู้ละคำหยาบ เว้นขาดจากการกล่าวคำหยาบ เป็นผู้กล่าววาจาไม่มีโทษ เสนาะโสต เป็นที่รักจับใจ เป็นคำสุภาพ เป็นที่ชอบใจ พอใจของคนจำนวนมาก
. เป็นผู้ละการกล่าวเพ้อเจ้อ เว้นขาดจากการกล่าวเพ้อเจ้อ พูดในเวลาที่ควรพูด พูดคำจริง พูดอิงอรรถ อิงธรรม อิงวินัย มีหลักฐาน มีที่อ้างอิง ไม่พูดมาก พูดแต่คำที่มีประโยชน์
ดูก่อนพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ธรรมจริยาและสมจริยาทางวาจามี ๔ อย่างนี้แล

ธรรมจริยาและสมจริยา ทางใจมี ๓ อย่าง คือ

. บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มากไปด้วยความไม่เพ่งเล็ง ไม่ละโมบอยากได้ทรัพย์ของผู้อื่นมาเป็นของตน
. เป็นผู้มีใจไม่พยาบาท ไม่คิดร้ายต่อผู้อื่น คิดแต่ในทางที่ดีว่า ขอสัตว์ทั้งหลาย จงมีความสุข อยู่รอดปลอดภัยเถิด
. เป็นผู้มีความเห็นชอบ มีความเห็นไม่วิปริตว่า ทานที่ให้แล้วมีผล การเซ่นสรวงบูชามีผล ผลวิบากของกรรมดีและกรรมชั่วมีจริง โลกนี้มีจริง โลกหน้ามีจริง มารดามีบุญคุณ บิดามีบุญคุณ โอปปาติกะมีจริง สมณพราหมณ์ผู้รู้แจ้งโลกนี้และโลกหน้ามีจริง
ดูก่อนพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ธรรมจริยาและสมจริยาทางใจมี ๓ อย่างนี้แล
ดูก่อนพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย สัตว์บางพวกในโลกนี้ หลังจากตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะการประพฤติธรรมและการประพฤติกรรมอันชอบเหล่านี้แล
ดูก่อนพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ถ้าบุคคลผู้ประพฤติธรรมและประพฤติกรรมอันชอบ พึงหวังว่า หลังจากที่เราตายแล้ว พึงเกิดเป็น
. กษัตริย์มหาศาล
. พราหมณ์มหาศาล
. เทวดาชั้นจาตุมมหาราช
. เทวดาชั้นดาวดึงส์
. เทวดาชั้นยามา
. เทวดาชั้นดุสิต
. เทวดาชั้นนิมมานรดี
. เทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัสดี
. พรหมชั้นพรหมปาริสัชชา
๑๐. พรหมชั้นพรหมปุโรหิตา
๑๑. พรหมชั้นมหาพรหมา
๑๒. พรหมชั้นปริตตาภา
๑๓. พรหมชั้นอัปปมาณาภา
๑๔. พรหมชั้นอาภัสสรา
๑๕. พรหมชั้นปริตตสุภา
๑๖. พรหมชั้นอัปปมาณสุภา
๑๗. พรหมชั้นสุภกิณหา
๑๘. พรหมชั้นอสัญญีพรหม
๑๙. พรหมชั้นเวหัปผลา
๒๐. พรหมชั้นอวิหา
๒๑. พรหมชั้นอตัปปา
๒๒. พรหมชั้นสุทัสสา
๒๓. พรหมชั้นสุทัสสี
๒๔. พรหมชั้นอกนิฏฐา
๒๕. อรูปพรหมชั้นอากาสานัญจายตนะ
๒๖. อรูปพรหมชั้นวิญญาณัญจายตนะ
๒๗. อรูปพรหมชั้นอากิญจัญญายตนะ
๒๘. อรูปพรหมชั้นเนวสัญญานาสัญญายตนะ
๒๙. การบรรลุเจโตวิมุตติ ในชาติปัจจุบัน
๓๐. การบรรลุปัญญาวิมุตติ ในชาติปัจจุบัน

ทั้งหมดนี้ย่อมเป็นไปได้ ถามว่า เพราะเหตุไร ตอบว่า เพราะบุคคลนั้นเป็นผู้ประพฤติธรรมและเป็นผู้ประพฤติกรรมอันชอบ
พระสูตรนี้แสดงว่า บุคคลผู้ปฏิบัติตามกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้ จะปรารถนามนุษยสมบัติ สวรรค์สมบัติ และนิพพานสมบัติ ก็ตาม ล้วนสมประสงค์ทั้งนั้น
มนุษยสมบัติ ทรงแสดงด้วยคำว่า พึงเกิดเป็นกษัตริย์มหาศาลและพราหมณ์มหาศาล
สวรรคสมบัติ ทรงแสดงด้วยคำว่า พึงเกิดเป็นเทวดาชั้นจาตุมมหาราช จนถึงรูปพรหมชั้น เนวสัญญานาสัญญายตนะ
นิพพานสมบัติ ทรงแสดงด้วยคำว่า การบรรลุเจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติ
กุศลกรรมบถ ๑๐
ทำให้ได้มนุษยสมบัติ สวรรคสมบัติ และนิพพานสมบัติ
กุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้ จัดว่าเป็นศีล บุคคลผู้รักษาศีล กระทำให้บริสุทธิ์ บริบูรณ์ ย่อมได้รับอานิสงส์ ดังนี้
. สีเลน สุคตึ ยนฺติ คนทั้งหลายไปสู่สุคติได้ เพราะศีล
. สีเลน โภคสมฺปทา คนทั้งหลายถึงพร้อมด้วยโภคทรัพย์ เพราะศีล
. สีเลน นิพฺพุตึ ยนฺติ คนทั้งหลายบรรลุนิพพานได้ เพราะศีล
ศีลเป็นเหตุให้ได้ไปสู่สุคติ เพราะผลของกุศลกรรมบถ ๑๐ โดยเป็นอุปนิสสยปัจจัย โดยตรง ให้ได้เกิดเป็นมนุษย์ ๑, กามาวจรสวรรค์ ๖ ชั้น, และให้ได้เกิดในพรหมโลก ๒๐ ชั้น

อุปนิสัยมี ๓ อย่าง
. ทานุปนิสัย อุปนิสัยคือทาน การเสียสละ คนผู้มีอุปนิสัยนี้ย่อมกำจัดความโลภหรือทำความโลภให้เบาบางลงได้
. สีลุปนิสัย อุปนิสัยคือศีล การเว้นจากเบียดเบียนสัตว์อื่นคนผู้มีนิสัยนี้ ย่อมไม่มีการเบียดเบียนสัตว์อื่น
. ภาวนุปนิสัย อุปนิสัยคือภาวนา การสั่งสมความดี คนผู้มีอุปนิสัยนี้ ย่อมเพียรพยายาม เพื่อทำความดีให้สูงยิ่ง ๆ ขึ้นไป
กุศลกรรมบถ ๑๐ นี้ จัดเป็นศีล ดังนั้น จึงเป็นสีลุปนิสัย ที่จะช่วยสนับสนุนให้ได้บรรลุสมาธิ ปัญญาและวิมุตติ ตามพระบาลีว่า สีลปริภาวิโต สมาธิ มหปฺผโล โหติ มหานิสํโส แปลว่า สมาธิที่ถูกบ่มด้วยศีล ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก อธิบายว่า บุคคลผู้มีศีลบริสุทธิ์ เมื่อบำเพ็ญสมาธิ ย่อมสามารถทำฌานให้เกิดได้ง่าย ครั้นได้ฌานแล้ว ตายไป ย่อมเกิดเป็นพรหม อย่างนี้ ชื่อว่ากุศลกรรมบถ เป็นเหตุให้ได้ไปเกิดในพรหมโลก
ส่วนผู้ได้ฌานบางท่าน ทำฌานให้เป็นบาทแห่งการเจริญวิปัสสนา ย่อมรู้แจ้งเห็นจริงได้ง่าย ตามพระบาลีว่า
สมาธิปริภาวิตา ปญฺญา มหปฺผลา โหติ มหานิสํสา
แปลว่า ปัญญาที่ถูกบ่มด้วยสมาธิ ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก
จิตของบุคคลผู้มีปัญญารู้แจ้งเห็นจริง ย่อมหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง ตามพระบาลีว่า ปญฺญปริภาวิตํ จิตฺตํ สมฺมเทว อาสเวหิ วิมุจฺจติ
เสยฺยถีทํ กามาสวา ภวาสวา อวิชฺชาสวา
แปลว่า จิตที่ถูกอบรมด้วยปัญญา ย่อมหลุดพ้นจากกามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ โดยชอบ อย่างนี้ ชื่อว่ากุศลกรรมบถ เป็นเหตุให้ได้บรรลุเจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติ
สีลุปนิสัย คือ กุศลกรรมบถ ๑๐ เป็นเหตุให้บุคคลได้บรรลุฌาน มรรค ผล และนิพพาน ดังพรรณนามาฉะนี้ เปรียบได้กับส่วนของต้นไม้ สีลุปนิสัย เป็นเสมือนรากไม้ สมาธิ เป็นเสมือนลำต้น ปัญญา เป็นเสมือนกิ่งก้านและใบ วิมุตติ ความหลุดพ้นเป็นเสมือนดอกและผลของต้นไม้
ศีลคือกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ ทำให้ผู้ปฏิบัติได้มนุษยสมบัติ สวรรคสมบัติ และนิพพานสมบัติ ตามขั้นตอนดังได้อธิบายมานี้

อธิบายกุศลกรรมบถ ๑๐ โดยอาการ ๕
. โดยธรรม คือ โดยสภาวธรรม
กุศลกรรมบถ ๗ คือ
. ปาณาติปาตา เวรมณี
. อทินฺนาทานา เวรมณี
. กาเมสุมิจฺฉาจารา เวรมณี
. มุสาวาทา เวรมณี
. ปิสุณาย วาจาย เวรมณี
. ผรุสาย วาจาย เวรมณี
. สมฺผปฺปลาปา เวรมณี
แม้มีชื่อต่างกันก็จริง แต่เมื่อว่าโดยสภาวธรรม ได้แก่ เจตนา หรือวิรัติ หมายความว่า ถ้าไม่ตั้งใจจะงดเว้น หรือไม่มีการงดเว้น กรรมบถทั้ง ๗ นี้ ย่อมสำเร็จไม่ได้เลย
มโนกรรม ๓ คือ อนภิชฌา โดยสภาวธรรม ได้แก่อโลภะ อพยาบาท โดยสภาวธรรม ได้แก่อโทสะ สัมมาทิฏฐิ โดยสภาวธรรม ได้แก่ อโมหะ ที่วประกอบด้วยเจตนา
. โดยโกฏฐาสะ คือ โดยส่วนแห่งธรรมต่าง ๆ
กุศลกรรมบถ ๗ คือ กายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ เป็นกรรมบถอย่างเดียว ไม่เป็นรากเหง้าของกุศลเหล่าอื่น ส่วนมโนกรรม ๓ อย่าง คืออนภิชฌา อพยาบาท และสัมมาทิฏฐิ เป็นทั้งกรรมบถ เป็นทั้งรากเหง้าของกุศลเหล่าอื่น เพราะทั้ง ๓ นี้ ก็คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ ที่เป็นกุศลมูลนั่นเอง
. โดยอารมณ์ คือ สิ่งที่ใจเข้าไปยึดแล้ว เป็นเหตุให้งดเว้นจากอกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ พระอรรถกถาจารย์ อธิบายว่า อารมณ์แห่งอกุศลกรรมบถ ๑๐ นั่นแหละ เป็นอารมณ์แห่งกุศลกรรมบถทั้ง ๑๐ ประการ เปรียบเหมือนน้ำที่สามารถทำให้เรือลอยก็ได้ ทำให้จมลงก็ได้
. โดยเวทนา คือ ความรู้สึกเป็นสุข เป็นทุกข์ และเฉย ๆ พระอรรถกถาจารย์ อธิบายว่า ในขณะทำกุศล ทุกขเวทนา คือความเสียใจ ความไม่สบายใจ ย่อมไม่มี เพราะฉะนั้น ในขณะประพฤติกุศลกรรมบถ จึงมีเพียงเวทนา ๒ คือ สุขเวทนา และอุเบกขาเวทนา
. โดยมูล คือ โดยกุศลมูล ๓ อย่าง ได้แก่ อโลภมูล ๑ อโทสมูล ๑ อโมหมูล ๑
กุศลกรรมบถ ๗ คือ กายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ ที่บุคคลประพฤติด้วยปัญญามีมูล ๓ คือ อโลภมูล อโทสมูล อโมหมูล ที่ประพฤติโดยขาดปัญญามีมูล ๒ คือ อโลภมูล อโทสมูล
อนภิชฌาที่ประพฤติด้วยปัญญา มีมูล ๒ คือ อโทสมูล อโทหมูล ที่ประพฤติโดยขาดปัญญามีมูลเดียว คือ อโมหมูล
อพยาบาทที่ประพฤติด้วยปัญญา มีมูล ๒ คือ อโลภมูล อโมหมูล ที่ประพฤติโดยขาดปัญญามีมูลเดียว คือ อโลภมูล
สัมมาทิฏฐิ มีมูล ๒ คือ อโลภมูล อโทสมูล

อานิสงส์ของกุศลกรรมบถ ๑๐
กุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้ พระพุทธองค์ตรัสไว้ ในจุนทสูตร ทสกนิบาต อังคุตตรนิกายว่า ดูก่อนจุนทะ ความสะอาดทางกายมี ๓ ทางวาจามี ๔ ทางใจมี ๓ ดูก่อนจุนทะ ความสะอาดทางกาย ๓ อย่าง มีอะไรบ้าง ดูก่อนจุนทะ บุคคลบางคนในโลกนี้
. เป็นผู้ละปาณาติบาท เว้นขาดจากปาณาติบาท วางท่อนไม้ วางศัสตรา มีความสะอาดใจ มีความเอ็นดู มีความเมตตากรุณาต่อสัตว์ทุกหมู่เหล่า
. เป็นผู้ละอทินนาทาน เว้นขาดจากอทินนาทาน ไม่ถือเอาสิ่งที่เจ้าของไม่ได้ให้ ด้วยจิตอันเป็นขโมย ไม่ว่าของนั้นจะอยู่ในบ้านของเขา อยู่ในป่า หรือที่ไหน ๆ ก็ตาม
. เป็นผู้ละกาเมสุมิจฉาจาร เว้นขาดจากกาเมสุมิจฉาจาร
ดูก่อนจุนทะ ความสะอาดทางวาจา ๔ อย่าง มีอะไรบ้าง ดูก่อนจุนทะ บุคคลบางคน ในโลกนี้
. เป็นผู้ละมุสาวาท เว้นขาดจากมุสาวาท อยู่ในสภา อยู่ในบริษัท อยู่ในท่ามกลางหมู่ญาติ อยู่ในท่ามกลางเสนา หรืออยู่ในท่ามกลางราชสำนัก ก็ตาม ถูกเขาอ้างเป็นพยาน ซักถามว่า พ่อชายผู้เจริญ พ่อรู้อย่างไร จงเบิกความอย่างนั้น ผู้นั้น เมื่อไม่รู้ ก็บอกว่าไม่รู้ หรือเมื่อรู้ ก็บอกว่ารู้ เมื่อไม่เห็น ก็บอกว่าไม่เห็น หรือเมื่อเห็น ก็บอกว่าเห็น จะไม่เป็นผู้กล่าวมุสาวาท ทั้งที่รู้ตัว เพราะเหตุแห่งตน เพราะเหตุแห่งผู้อื่น หรือเพราะเหตุแห่งอามิสสินจ้าง
. เป็นผู้ละวาจาส่อเสียด เว้นขาดจากวาจาส่อเสียด ฟังฝ่ายนี้แล้ว ไม่ไปบอกฝ่ายโน้น เพื่อทำลายคนฝ่ายนี้ หรือฟังฝ่ายโน้นแล้ว ไม่มาบอกฝ่ายนี้ เพื่อทำลายคนฝ่ายโน้น เป็นผู้สมานคนที่แตกสามัคคี และสนับสนุนคนที่สามัคคีกันอยู่ ชื่นชมยินดีคนที่สามัคคีกัน พูดแต่วาจาที่สร้างความสามัคคี
. เป็นผู้ละวาจาหยาบ เว้นขาดจากวาจาหยาบ เป็นผู้พูดแต่วาจาอันไม่มีโทษ เสนาะโสต เป็นที่รัก ซึ้งใจ เป็นคำพูดของผู้ดี เป็นที่รักและชอบใจของคนทั่วไป
. เป็นผู้ละคำเพ้อเจ้อ เว้นขาดจากคำเพ้อเจ้อ เป็นผู้พูดถูกกาลเวลา พูดแต่คำจริง พูดอิงอรรถ พูดอิงวินัย พูดถ้อยคำมีหลักฐาน มีที่อ้าง มีที่สุด ประกอบด้วยประโยชน์ โดยสมควรแก่เวลา
ดูก่อนจุนทะ ความสะอาดทางใจ ๓ อย่าง มีอะไรบ้าง ดูก่อนจุนทะ บุคคลบางคนในโลกนี้
. เป็นผู้ไม่มากไปด้วยความเพ่งเล็ง ไม่เพ่งเล็งคิดเอาของผู้อื่น มาเป็นของตนว่า ทำอย่างไรหนอ ทรัพย์ของผู้อื่นนั้น จะพึงเป็นของเรา
. เป็นผู้มีใจไม่พยาบาท มีใจไม่คิดประทุษร้ายผู้อื่นว่า ขอสัตว์เหล่านี้จงอย่าจองเวรกัน อย่าเบียดเบียนกัน อย่ามีความทุกข์ จงมีแต่ความสุข อยู่รอดปลอดภัยเถิด
. เป็นผู้มีความเห็นชอบ มีทัศนะอันไม่วิปริตว่า ทานที่ให้แล้วมีผล การเซ่นสรวงมีผล การบูชามีผล ผลวิบากของกรรมดีและกรรมชั่วมีจริง โลกนี้มีจริง โลกหน้ามีจริง มารดาบิดามีบุญคุณต่อบุตรธิดาจริง โอปปาติกสัตว์มีจริง สมณพราหมณ์ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ รู้แจ้งประจักษ์ทั้งโลกนี้และโลกหน้าแล้ว สั่งสอนผู้อื่นมีจริง
ดูก่อนจุนทะ กุศลกรรมบถมี ๑๐ ประการ ดังนี้แล ดูก่อนจุนทะ บุคคลประกอบด้วยกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการเหล่านี้ ลุกขึ้นจากที่นอน แต่เช้าตรู่ จะจับต้องแผ่นดิน โคมัยสด หญ้าอันเขียวขจี หรือไม่จับต้องก็ตาม จะประนมไหว้พระอาทิตย์หรือไม่ก็ตาม จะลงอาบน้ำเช้าเย็นหรือไม่ก็ตาม จะบูชาไฟหรือไม่ก็ตาม ย่อมเป็นผู้สะอาดอย่างแท้จริง ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร ดูก่อนจุนทะ เพราะกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้ เป็นพฤติกรรมอันสะอาดและเป็นเครื่องสร้างพฤติกรรมอันสะอาด ดูก่อนจุนทะ เทวคติ มนุษยคติ หรือสุคติอื่นใด บรรดามี ย่อมปรากฏ เพราะเหตุแห่งการประกอบกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการเหล่านี้แล

--------------------------------------

สรุปกุศลกรรมบถ
เครื่องมือสร้างความดี
จากการที่ได้ศึกษาเรื่องกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้ ผู้ศึกษาจะเห็นได้ว่า ตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา เครื่องมือที่จะใช้ทำกุศลของมนุษย์ ที่สำคัญที่สุด คือ กาย วาจา และใจ ของตนนี่เอง
กาย งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม อันเกิดขึ้น เพราะหิริและโอตตัปปะ
วาจา งดเว้นจากการพูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ ไร้สาระ ไม่รู้กาละเทศะ อันเกิดขึ้นเพราะหิริและโอตตัปปะ
ใจ ไม่โลภอยากได้ของใคร ไม่คิดร้ายทำลายใคร มีความเห็นชอบตามทำนองคลองธรรม (สิ่งที่สัตบุรุษมีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นต้นสอนไว้) เพียงการปฏิบัติอย่างนี้ ก็สามารถสร้างมนุษยสมบัติ สวรรคสมบัติและนิพพานสมบัติให้แก่ตนได้แล้ว ดังคำสอนในสาเลยยกสูตรเป็นต้น
อีกอย่างหนึ่ง กายที่ใช้ทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวม วาจาใช้พูดในทางที่ดี ใจใช้คิดในทางที่ดี ก็สามารถสร้างมนุษยสมบัติ สวรรคสมบัติได้ ดังอุทาหรณ์ต่อไปนี้
กายที่ใช้ทำประโยชน์ อุทาหรณ์ เช่น นายมฆะเป็นตัวอย่าง ท่านเล่าว่า ครั้งดึกดำบรรพ์ในหมู่บ้านอจลคาม แคว้นมคธ ชายหนุ่มคนหนึ่งชื่อว่า มฆะ ชอบทำสถานที่ต่าง ๆ ให้เป็นรัมณียสถานสำหรับคนทั่วไป โดยมีความคิดว่า คนทั้งหลายอาศัยพักในสถานที่นี้แล้ว ล้วนมีความสุข และเราเองเมื่อเห็นผู้อื่นมีความสุข ก็มีความสุขใจเช่นเดียวกัน
ครั้นถึงฤดูหนาว เขาได้ก่อไฟเพื่อให้ความอบอุ่นแก่ชาวบ้าน ฤดูร้อนหาน้ำมาให้ผู้อดน้ำ เขาได้สร้างรัมณียสถานเพิ่มขึ้นอีกหลายแห่ง ต่อมามีคนอื่นอีก เห็นว่าการทำอย่างนั้นเป็นความดี จึงมาร่วมด้วย พวกเขาได้สร้างประโยชน์ให้แก่ส่วนรวม กว้างขวางออกไป เช่น สร้างถนน สร้างสะพาน สร้างศาลพักร้อน เป็นต้น
ครั้งนั้น นายบ้าน (ผู้ใหญ่บ้าน หรือกำนัน) เห็นพวกเขาแล้วคิดว่า คนพวกนี้ทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่เราเลย ถ้าพวกเขาไปหาปลา หาเนื้อ ซื้อสุรามารับประทานและแบ่งให้เราบ้าง น่าจะเกิดประโยชน์ดีกว่า อีกอย่างหนึ่ง ถ้าปล่อยให้คนพวกนี้ทำความดีต่อไป ประชาชนก็จะรักใคร่ เป็นอันตรายต่อตำแหน่งของตน เขาคิดกำจัดคนเหล่านั้น จึงไปยังราชสำนัก กราบทูลว่า ข้าพระองค์เห็นคนกลุ่มหนึ่ง ส้องสุมผู้คนเป็นจำนวนมาก อาจคบคิดกันเป็นกองโจรปล้นราชสมบัติ พระราชา ไม่ทันสอบสวนความจริง รับสั่งว่า จงไปจับตัวพวกมันมาประหารชีวิต โดยให้ช้างเหยียบให้ตาย
เขาดีใจมากที่อุบายกำจัดคนดีของเขาสำเร็จอย่างง่ายดาย จึงนำเจ้าหน้าที่ไปจับตัวคนเหล่านั้นมา พันธนาการแน่นหนา ให้นอนในพระลานหลวง แล้วไสช้างให้เหยียบพวกเขา แต่จะบังคับอย่างไร ช้างก็ไม่ยอมเหยียบ พระราชารับสั่งว่า ช้างเห็นคนคงเกิดความกลัว จงไปเอาเสื่อลำแพนมาคลุมพวกมันไว้ก่อน แม้จะทำตามนั้น ช้างก็ไม่กล้าเข้าใกล้อย่างเดิม
พระราชาทอดพระเนตรเห็นเหตุการณ์นั้น ทรงได้พระสติว่า เรื่องนี้น่าจะมีเหตุอะไรสักอย่าง จึงรับสั่งให้นำตัวพวกเขามาเฝ้า แล้วตรัสถามว่า พวกเจ้าอาศัยเราแล้ว ไม่ได้อะไรหรือ จึงคิดทำร้ายเรา
นายมฆะทูลถามว่า ขอเดชะ พระองค์ตรัสถามเรื่องอะไร
เขาว่า พวกเจ้าส้องสุมผู้คนเป็นกองโจร หลบซ่อนอยู่ในป่า
ใครกราบทูลอย่างนั้น พระเจ้าข้า
นายบ้าน เขาบอก
ขอเดชะพวกข้าพระองค์ไม่ได้เป็นโจร พวกข้าพระองค์แผ้วทางไปสู่สวรรค์ ด้วยการสร้าง รัมณียสถาน สร้างถนน สร้างสะพาน สร้างศาลาพักร้อน เป็นต้น แต่นายบ้านพยายามซักนำพวกข้าพระองค์ในทางอกุศล พวกข้าพระองค์ไม่ยอมทำตาม เขาโกรธ จึงได้กราบทูลอย่างนั้นเพื่อต้องการกำจัดพวกข้าพระองค์ พระเจ้าข้า
พระราชาทรงสดับความจริงแล้ว ทรงถึงความโสมนัส ตรัสว่า พ่อทั้งหลาย ฉันขอโทษด้วย ช้างเป็นสัตว์ดิรัจฉานยังรู้จักความดีของพวกเจ้า เราเป็นมนุษย์เสียอีกยังไม่รู้เลย ได้ทรงมอบหมู่บ้านนั้นให้พวกเขาปกครอง และช้างเชือกนั้นให้เป็นพาหนะ
นายมฆะได้เห็นผลของความดีในปัจจุบัน ดีใจมากจึงชักชวนพรรคพวกให้ทำความดียิ่ง ๆ ขึ้นไป เขาได้บำเพ็ญวัตตบท ๗ ประการ คือ
  1. บำรุงบิดามารดา
  2. ประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่
  3. พูดคำสัตย์
  4. ไม่พูดคำหยาบ
  5. ไม่พูดส่อเสียด
  6. กำจัดความตระหนี่
  7. ไม่โกรธ
ในเวลาสิ้นชีวิตได้ไปเกิดเป็นท้าวสักกะเทวราชในภพดาวดึงส์ แม้สหายของเขาก็ไปเกิดในที่นั้นเหมือนกัน นี้คือ กาย สร้างสวรรค์สมบัติให้แก่ตน
วาจา หรือปาก ก็สามารถสร้างสวรรคสมบัติได้ มีสุนัขตัวหนึ่ง เป็นอุทาหรณ์ พระอรรถกถาจารย์เล่าไว้ในอรรถกถาธรรมบทว่า มีสุนัขแสนรู้ตัวหนึ่ง ของนายโคบาล ผู้เป็นอุปัฏฐากของพระปัจเจกพุทธเจ้า เวลาที่มันยังเล็กอยู่ พระปัจเจกพุทธเจ้า เมื่อฉันอาหารเอาข้าวสุกปั้นเป็นก้อนให้ก้อนหนึ่งทุกครั้ง มันมีความสนิทสนม และจงรักภักดีพระปัจเจกพุทธเจ้ามาก
นายโคบาล ไปยังบรรณศาลาของพระปัจเจกพุทธเจ้าทุกวัน ๆ ละ ๒ ครั้ง คือ ก่อนเที่ยง ไปกราบเรียนเวลาฉันภัตตาหาร เวลาหลังเที่ยงเอาน้ำปานะไปถวาย สุนัขนั้นตามนายไปด้วยทุกวัน และทุกครั้ง ขณะเดินไปตามทางมีพุ่มไม้ กอไม้ตรงไหนที่น่าสงสัยว่าจะมีสัตว์ร้าย เขาเอาไม้ฟาด และส่งเสียงไล่ สุนัขนั้นกำหนดจดจำอาการนั้นได้อย่างแม่นยำ
วันหนึ่งนายของมันเรียนกับพระปัจเจกพุทธเจ้าว่า ถ้าวันไหนกระผมไม่ว่าง จะส่งเจ้าตัวนี้มาเพื่อเรียนเวลาภัตตาหารให้ทราบ ขอพระผู้เป็นเจ้าได้โปรดไปตามเวลาที่เจ้าตัวนี้ส่งสัญญาณ แล้วเขาก็ได้ทำตามนั้น
เมื่อได้เวลาภัตตาหาร นายของมันส่งสัญญาณให้รู้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น มันรีบวิ่งมุ่งหน้าไปยังบรรณศาลา ครั้นไปถึงแล้ว ส่งเสียงเห่า ๓ ครั้ง เพื่อให้พระปัจเจกพุทธเจ้าทราบ แล้วไปนอนคอยอยู่ที่แห่งหนึ่ง เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้า กำหนดเวลาที่เหมาะสมแล้ว จึงออกจากบรรณศาลา สุนัขวิ่งนำหน้าไปยังบ้านของนาย ครั้นถึงสถานที่ที่นายเคยระแวงภัยแต่สัตว์ร้าย เอาไม้ฟาดพุ่มไม้ส่งเสียงไล่ มันก็ส่งเสียงเห่าเพื่อขับไล่สัตว์ร้าย ได้ทำอย่างนี้ทุกวัน
สุนัขนั้นใช้ปากของตนให้เป็นกุศล ช่วยบอกเวลาภัตตาหาร และคุ้มครองป้องกันภัยแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าด้วยการส่งเสียงเห่า ด้วยความซื่อสัตย์ และจงรักภักดีต่อผู้มีศีลธรรม ครั้นสิ้นชีวิตได้ไปเกิดเป็นเทพบุตรผู้มีศักดิ์ใหญ่ ในดาวดึงส์เทวโลก นามว่า โฆสกเทพบุตร นี้คือ วาจา หรือปาก สร้างสวรรคสมบัติให้แก่ตนได้ดังนี้แล
ใจ หรือความคิด ก็สามารถสร้างสวรรคสมบัติได้ พึงเห็นมาณพคนหนึ่งเป็นอุทาหรณ์ พระอรรถกถาจารย์เล่าไว้ในอรรถกถาธรรมบทว่า มีเด็กหนุ่มคนหนึ่ง
ชื่อมัฏฐกุณฑลี เป็นบุตรของพราหมณ์ยอดตระหนี่ เมื่อเขามีอายุ ๑๖ ปี ได้ป่วยเป็นโรคผอมเหลือง พราหมณ์ผู้บิดาไปเก็บรากไม้ ใบไม้ เปลือกไม้ ตามคำบอกเล่าของชาวบ้านมาต้มยาให้รับประทาน โรคของเขากำเริบมากขึ้นทุกที ญาติมิตรทราบข่าวต่างพากันมาเยี่ยม พราหมณ์กลัวคนจะเห็นทรัพย์สมบัติ จึงนำบุตรชายออกมานอนที่นอกชาน
ครั้งนั้น พระศาสดาทรงเข้ามหากรุณาสมบัติเพื่อตรวจดูสัตว์โลก เด็กหนุ่มนั้นได้ปรากฏในข่ายแห่งพระญาณของพระองค์ จึงได้เสด็จไปโปรด โดยเสด็จพระดำเนินผ่านหน้าบ้าน เขาเห็นพระศาสดาเกิดศรัทธาเลื่อมใส แต่ไม่มีอะไรจะทำบุญ หรือแม้แต่จะยกมือทั้งสองขึ้นถวายบังคมก็ไม่สามารถจะทำได้ เพราะขณะนั้นเขาเหลือเพียงแต่ความรู้สึกในใจเท่านั้น จึงได้ทำใจให้เลื่อมใสในพระศาสดาด้วยความเคารพนับถือบูชา ปรารถนาจะทำบุญ เมื่อพระศาสดาเสด็จผ่านไปไม่นาน เขาก็สิ้นชีวิตลง แล้วได้ไปเกิดเป็นเทพบุตร ในดาวดึงส์เทวโลก นี้คือ ใจ สร้างสวรรค์สมบัติให้แก่ตน
ภายหลังพระศาสดาทรงปรารภถึงเทพบุตรนั้น แสดงธรรมแก่มหาชนว่า การทำกรรมอันเป็นกุศลหรืออกุศลก็ตาม ใจเป็นหัวหน้า ใจเป็นใหญ่ในการทำกรรมนั้น ๆ และกรรมที่ได้ทำไว้แล้วย่อมติดตามผู้ทำไปทุกหนทุกแห่ง เหมือนกับเงาตามตัว ใจ คือ ความคิดแม้เพียงแต่คิดเท่านั้น หากคิดในทางที่ดี ก็สามารถสร้างสวรรคสมบัติได้ เหมือนกับเด็กหนุ่ม ชื่อมัฏฐกุณฑลีนี้แล

พฤติกรรมที่เป็นบุญ ๔ อย่าง
ผู้ที่งดเว้นจากกายกรรมอันเป็นอกุศล ๓ อย่าง วจีกรรมอันเป็นอกุศล ๔ อย่าง มโนกรรมอันเป็นอกุศล ๓ อย่างเท่านั้น จึงจัดว่าเป็นผู้ทำกุศลส่งผลให้ไปเกิดในสุคติก็หาไม่ แม้ผู้ที่ชักชวน ยินดี และพูดสรรเสริญ บุคคลอื่นในการประพฤติกุศลกรรมเหล่านั้น ก็จัดเป็นกุศลกรรมนำไปสู่สุคติได้ทั้งสิ้น
ดังนั้น ตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา จึงสรุปพฤติกรรมที่จัดเป็นกุศลได้ ๔ อย่างคือ
. การทำ การพูด การคิด สิ่งเป็นกุศลด้วยตนเอง
. การชักชวนผู้อื่น ให้ทำ ให้พูด ให้คิด สิ่งที่เป็นกุศล
. การยินดีกับบุคคลผู้ทำ ผู้พูด ผู้คิดสิ่งที่เป็นกุศล
. การยกย่องสรรเสริญ ให้กำลังใจ ให้การสนับสนุนบุคคลผู้ทำ ผู้พูด ผู้คิดสิ่งที่เป็นกุศล
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ ในกรรมปถวรรคอังคุตตรนิกาย ซึ่งขอยกมากล่าวแต่ใจความโดยย่อว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ย่อมได้ขึ้นสวรรค์ เหมือนมีคนอุ้มไปวางไว้ ธรรม ๔ ประการคือ ๑. เป็นผู้ทำเอง พูดเอง คิดเอง ๒. เป็นผู้ชักชวนผู้อื่นให้ทำ ให้พูด ให้คิด ๓. เป็นผู้ยินดีกับบุคคลผู้ทำ ผู้พูด ผู้คิด ๔. เป็นผู้สรรเสริญ การงดเว้นและผู้งดเว้นจากปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร มุสาวาท ปิสุณวาจา ผรุสวาจา สัมผัปปลาปะ อภิชฌา พยาบาท มิจฉาทิฏฐิ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล ย่อมได้ขึ้นสวรรค์ เหมือนมีคนมาอุ้มไปวางไว้

คนดียิ่งกว่าคนดี
อนึ่ง บุคคลผู้ทำ ผู้พูด ผู้คิด กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม อันเป็นกุศล ๑๐ ประการนี้ แต่ลำพังตนเอง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนว่า เป็นคนดี (ธรรมดา) ส่วนบุคคลใด ตนเองก็ประพฤติกุศลกรรม ๑๐ ประการนี้ และยังชักชวน ยินดี หรือพูดสรรเสริญบุคคลอื่นในการประพฤติกุศลกรรม ๑๐ ประการนี้ด้วย บุคคลนั้นจัดว่าเป็นคนดียิ่งกว่าคนดี ตามพระพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ในทสกรรมสูตรว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้งดเว้นจากปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร มุสาวาท ปิสุณวาจา ผรุสวาจา สัมผัปปลาปะ อภิชฌา พยาบาท มิจฉาทิฏฐิ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลนี้เราเรียกว่า เป็นคนดี
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ ตนเองงดเว้นจากปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร มุสาวาท ปิสุณวาจา ผรุสวาจา สัมผัปปลาปะ อภิชฌา พยาบาท มิจฉาทิฏฐิ แล้วยังชักชวนบุคคลอื่นให้งดเว้นจากอกุศลกรรมเหล่านั้น ยินดีกับบุคคลผู้งดเว้น จากอกุศลกรรมเหล่านั้น หรือ พูดสรรเสริญบุคคลผู้งดเว้นจากอกุศลกรรมเหล่านั้น อีกด้วย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลนี้เราเรียกว่า เป็นคนดียิ่งกว่าคนดี
---------------------------

Keine Kommentare: