๓๒. วาจาที่ดีดุจน้ำที่เย็น
มหาเตโชปิ เตโชยํ, มตฺติกํ น มุทุํ กเร;
อาโป อาเปสิ มุทุกํ, สาธุวาจาว กกฺขฬํฯ
“ไฟแม้จะมีความร้อนมากมาย,
ก็ไม่อาจทำดินเหนียวให้อ่อนนุ่มได้;
แต่น้ำทำดินเหนียวให้อ่อนนุ่มได้,
ดุจคำพูดดีทำคนกระด้างให้อ่อนโยนได้ ฉะนั้น.“
(กวิทัปปณนีติ หมวดบัณฑิต ๓๒, มหารหนีติ ๗, ธมฺมนีติ ๖๖)
..
ศัพท์น่ารู้ :
มหาเตโชปิ = (ตัดบทเป็น) มหาเตโช+อปิ (แม้ไฟกองใหญ่, ความร้อนสูง) มหนฺต+เตช > มหาเตช+สิ
เตโชยํ = เตโช+อยํ (ไฟ, เดช, อำนาจ, ความร้อน+นี้) เตช+สิ = เตโช, ส่วน อยํ เป็นสัพพนาม มาจาก อิม+สิ.
มตฺติกํ (ดิน, ดินเหนียว) มตฺติกา+อํ
น (ไม่, หามิได้) เป็นนิบาตบอกปฏิเสธ
มุทุํ (ความอ่อน, นุ่มนวล) มุทุ+อํ
กเร (พึงทำ) √กร+โอ+เอยฺย ตนาทิ. กัตตุ.
อาโป (น้ำ, ของเหลว, ธรรมชาติที่ซึมซาบ) อาป+สิ
อาเปสิ (ให้เหลวแล้ว, ซึมซับเอา) √อาป-พฺยาปเน+อี+ส อาคม ภูวาทิ. กัตตุ. ในมหารหนีติ เป็น อาเปติ, ในธัมมนีติ เป็น ปาเปติ
มุทุกํ (ความอ่อน, นุ่มนวล) มุทุก+อํ
สาธุวาจาว = สาธุวาจา+อิว, หรือ สาธุวาจา+เอว , สาธุ+วาจา (วาจาดี, คำไพเราะ, คำของคนดี + เหมือน, เท่านั้น), คำนี้ในมหารหนีติและธมฺมนีติเป็น สาธุวาจา จ กกฺขฬํ.
กกฺขฬํ (ความแข็ง, กระด้าง) กกฺขฬ+อํ, ลงทุติยาวิภัตติในอรรถแห่งกรรมด้วยสูตรว่า กมฺมตฺเถ ทุติยา. (รู ๗๖), แยก, ให้ลบสระหน้าและปกติสระหลังด้วยสูตรว่า สรโลโปมาเทสปฺปจฺจยาทิมฺหิ สรโลเป ตุ ปกติ. (รู ๖๗) รวมสำเร็จเป็น กกฺขฬํ (ความแข็ง)
คำว่า ในอรรถแแห่งกมฺม (กรรม) ศัพท์ที่ประกอบด้วยทุติยาวิภัตตินั้นในการกกัณฑ์ท่านว่ามี ๓ อย่าง คือ
๑. นิพฺพตฺตนีย (ให้เกิดขึ้น) เช่น มาตา ปุตฺตํ วิชายติ (มารดาคลอดบุตร) เป็นต้น
๒. วิกรณีย (ทำให้เปลี่ยนไป) เช่น กฏฺฐํ องฺคารํ กโรติ (เขาทำฟืนให้เป็นถ่าน) เป็นต้น
๓. ปาปณีย (ที่ควรถึง) เช่น เทวทตฺโต นิเวสนํ ปวิสติ (นายเทวทัตต์ เข้าไปสู่นิเวศน์) เป็นต้น
..
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen