๔๒. หกภาษาร่วมสมัยที่ควรรู้
สกฺกตํ ปากตญฺเจว-, ปภํโส จ ปิสาจิกี;
มาคธี โสรเสนีว, ฉ ภาสา ปริกิตฺติตาฯ
“ภาษา ๖ เหล่านี้ คือ ๑. ภาษาสันสกฤต
๒. ภาษาปรากฤต ๓. ภาษาอปภังสะ (อปภรังศ)-
๔. ภาษาปีสาจิกี (ไปศาจี) ๕. ภาษาบาฬี และ
๖. ภาษาโสรเสนี (เศารเสนี)
อันบัณฑิตทั้งหลายประกาศไว้แล้ว.“
(กวิทัปปณนีติ หมวดบัณฑิต ๔๒)
..
ศัพท์น่ารู้ :
สกฺกตํ (ภาษาสันสกฤต)
ปากตญฺเจว-,ปภํโส ตัดบทเป็น ปากตํ+เจว+อปภํโส (ภาษาปรากฤต และภาษาอปภังสะ)
ปิสาจิกี (ภาษาปิสาจิกี, หรือ ไปศาจี)
มาคธี (ภาษาของชาวมคธ, ภาษาบาฬี)
โสรเสนีว ตัดบทว่า โสรเสนี+เอว (ภาษาโสรเสนี, หรือ เศารเสนี + นั่นเทียว) ,
ฉ (หก) ฉ+โย แปลง โย กับสระที่สุดสังขยาเป็น อ ด้วยสูตรว่า ปญฺจาทีนมกาโร. (รู ๒๕๑)
ภาสา (ภาษา ท.) ภาสา+โย ลบ โย วิภัตติด้วย ได้บ้าง สูตรว่า ฆปโต จ โยนํ โลโป. (รู ๑๔๖)
ปริกิตฺติตา (ถูกประกาศ, ชี้แจง, สรรเสริญแล้ว) ปริ+√กิตฺต+อิ+ต > ปริกิตฺติต+อา ปัจจัยอิตถีลิงค์ > ปริกิตฺติตา+โย วิภัตติพหูพจน์.
ในหนังสือความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับวรรณคดีบาลี หน้า ๕๙/๒๑๓, ซึ่งเรียบเรียงโดย อ. เสนาะ ผดุงฉัตร ป.ธ. ๙, พ.ม., พธ.บ., M.A.Pol.Sc ได้ให้คำอธิบายไว้ว่า
ภาษาตระกูลปรากฤต มีหลายภาษา โบราณจำแนกไว้ มี ๖ ภาษาคือ
๑. มาคธี ภาษาของมคธรัฐ
๒. อรรธมาคธี ภาษากึ่งมาคธี
๓. เศารเสนี ภาษาของสุรเสนรัฐ
๔. มหาราษฏรี ภาษาของมหาราษฏรรัฐ
๕. ไปศาจี ภาษาปีศาจ หรือภาษาของชนชั้นต่ำ ไม่มีระเบียบแบบแผน และ
๖. อปภรังศ ภาษารุ่นหลัง ซึ่งไวยากรณ์ใด้เปลี่ยนไปจนหมดรูปแล้ว
ส่วนในปทรูปสิทธิ นามกัณฑ์ สูตรที่ ๖๐ ท่านกล่าวไว้ว่า
สา มาคธี มูลภาสา, นรา ยายาทิกปฺปิกา;
พฺรหฺมาโน จ’สฺสุตาลาปา, สมฺพุทฺธา จาปิ ภาสเร.
„ชนผู้เกิดต้นกัปป์ พวกพรหม ชนผู้ไม่เคยฟังคำพูดของมนุษย์
และสัมมาสัมพระพุทธเจ้า ย่อมพูดด้วยภาษาใด
ภาษานั้นชื่อว่าภาษาดั้งเดิม อันเป็นภาษาของชาวมคธ.“
ผมเองไม่มีความรู้ลึกซึ้งเกี่ยวกับเรื่องภาษาทั้ง ๖ นี้ ขอนำมาฝากทุกท่านช่วยกันหาความรู้เพิ่มเติมกันเอาเอง เพื่อต่อยอดความรู้ต่อไปนะครับ
..
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen