๓๙. เลี้ยงลูกให้ถูกกาล
ลาลเย ปญฺจวสฺสานิ, ทสวสฺสานิ ตาลเย;
ปตฺเต ตุ โสฬเส วสฺเส, ปุตฺตํ มิตฺตํว อาจเร ฯ
„พ่อแม่พึงเล่นหัวกับลูกวัยห้าขวบ,
พึงดูแลระมัดระวังตอนวัยสิบขวบ;
สำหรับลูกที่มีวัยย่างเข้าสิบหกปีแล้ว,
พึงปฏิบัติกะบุตรดุจเพื่อนสนิทกัน.“
(กวิทัปปณนีติ หมวดบัณฑิต ๓๙ นรทักขทีปนี ๒๘๙ นิตีมัญชรี ๑๐, จาณักยนีติ ๑๑)
..
ศัพท์น่ารู้ :
ลาลเย (ปรารถนา, ขับกล่อม, หยอกล้อ, เล่นหัว) √ลล-อิจฺฉายํ+ณย+เอยฺย จุราทิ. กัตตุ.
ปญฺจวสฺสานิ (ห้าขวบ, ห้าปี) ปญฺจวสฺส+โย แปลง โย เป็น นิ ได้แน่นอน ด้วยสูตรว่า อโต นิจฺจํ (รู ๑๙๖), วสฺส ศัพท์นี้เป็นได้สองลิงค์คือ ปุงลิงค์และนปุงสกลิงค์
ทสวสฺสานิ (สิบขวบ, สิบปี) ทสวสฺส+โย
ตาลเย (ดำรง, รักษา, ดูแล, คุ้มครอง) √ตล-ปติฏฺฐายํ+ณย+เอยฺย จุราทิ. กัตตุ.
ปตฺเต (บรรลุ, ถึง, ครบแล้ว) ปท+ต+สฺมึ แปลง สฺมึ เป็น เอ ได้บ้าง ด้วยสูตรว่า สฺมาสฺมึนํ วา. (รู ๙๐)
ตุ (ส่วน, สำหรับ) เป็นนิบาตบอกความพิเศษ
โสฬเส (สิบหก) โสฬส+สฺมึ
วสฺเส (ขวบ, ปี, พรรษา, ฝน) วสฺส+สฺมึ, “โสฬเส วสฺเส ปตฺเต” แปลว่า “เมื่ออายุครบ ๑๖ ปีแล้ว” หรือ “เมื่อปีที่ ๑๖ ถึงแล้ว” เป็นประโยคลักขณะ
ปุตฺตํ (ซึ่งบุตร) ปุตฺต+อํ
มิตฺตํว ตัดบทเป็น มิตฺต+อิว (เหมือนมิตร) มิตฺต+อํ, อิว นิบาตบอกอุปมา
อาจเร (พึงประพฤติ, ปฏิบัติ) อา+√จร+อ+เอยฺย ภูวาทิ. กัตตุ. กริยาศัพท์ว่า ลาลเย, ตาลเย, อาจเร ก็ดี ให้แปลง เอยฺย เป็น เอ ได้บ้างด้วยมหาสูตรว่า กฺวจิ ธาตุ ฯ. (รู ๔๘๘)
..
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen