๗๕. ควรคบหาผู้ชี้ขุมทรัพย์
นิธีนํว ปวตฺตารํ, ยํ ปสฺเส วชฺชทสฺสินํ;
นิคฺคยฺหวาทึ เมธาวึ, ตาทิสํ ปณฺฑิตํ ภเช;
ตาทิสํ ภชมานสฺส, เสยฺโย โหติ น ปาปิโย ฯ
“บุคคลพึงเห็นบุคคลผู้มักชี้โทษ
เหมือนบุคคลผู้บอกขุมทรัพย์
พึงคบผู้มักกล่าวข่มขี่ มีปัญญาเช่นนั้น
เพราะว่า เมื่อคบบัณฑิตผู้เช่นนั้น
มีแต่คุณที่ประเสริฐ โทษที่ลามก ย่อมไม่มี.“
(กวิทัปปณนีติ หมวดบัณฑิต ๗๕ จตุรารักขทีปนี ๒๑ เมตตาภาวนานิทเทส ขุ. ธ. ๒๕/๑๖)
..
ศัพท์น่ารู้ :
นิธีนํว ตัดบทเป็น นิธีนํ+อิว (ขุมทรัพย์ ท. + เพียงดัง)
นิธีนํ (ขุมทรัพย์ ท.) นิธิ+นํ
อิว (ราวกะ, เพียงดัง, เหมือน, เช่น, ดุจ, ประหนึ่ง) นิบาติบอกอุปมา
ปวตฺตารํ (ผู้บอก, ชี้, กล่าว) ปวตฺตุ+อํ, เพราะ อํ วิภัตติ ให้แปลงสระที่สุดเป็น อาร ด้วยสูตรว่า อญฺเญสฺวารตฺตํ. (รู ๑๕๙) = ปวตฺตาร+อํ แยกลบรวมสำเร็จรูปเป็น ปวตฺตารํ, ปวตฺตุ ศัพท์ มีวิธีแจกปทมาลาเหมือน กตฺตุ ศัพท์ มีรูปเป็น ปวตฺตา, ปวตฺตาโร, โภ ปวตฺต, ปวตฺตา, ภวนฺโต ปวตฺตาโร, ปวตฺตารํ ปวตฺตาเร ปวตฺตาโร ฯลฯ
ยํ (ใด) ย+อํ
ปสฺเส (พึงเห็น, มอง, ดู) ทิส+อ+เอยฺย
วชฺชทสฺสินํ (ชี้โทษ, แสดงโทษ) วชฺช+ทสฺสี > วชฺชทสฺสี+อํ;
นิคฺคยฺหวาทึ (ผู้กล่าวข่ม, ห้ามปราม) นิคฺคยฺห+วาที > นิคฺคยฺหวาที+อํ
เมธาวึ (ผู้มีปัญญา, บัณฑิต, เมธาวี) เมธาวี+อํ,
ตาทิสํ (ผู้เช่นนั้น) ตาทิส+อํ
ปณฺฑิตํ (บัณฑิต, นักปราชญ์, ผู้มีปัญญา) ปณฺฑิต+อํ
ภเช (พึงคบหา, เข้าไปใกล้, ตีสนิท) √ภช+อ+เอยฺย ภูวาทิ. กัตตุ.
ตาทิสํ (ผู้เช่นนั้น) ตาทิส+อํ
ภชมานสฺส (คบอยู่) √ภช+อ+มาน ปัจจัยในกิตก์ > ภชมาน+ส จตุตถี./ฉัฏฐี.,
เสยฺโย (ประเสริฐกว่า) เสยฺย+สิ สำเร็จรูปมาจาก ปสตฺถ+อิย แปลง ปสตฺถ เป็น ส ด้วยสูตรว่า ปสตฺถสฺส โส จ. (รู ๓๙๒) = ส+อิย, ลบ สระหน้าเพราะสระหลังด้วยสูตรว่า สรา สเร โลปํ. (รู ๑๓) = สฺ+อิย, แปลง อิ เป็น เอ ด้วยสูตรว่า กฺวจาสวณฺณํ ลุตฺเต. (รู ๑๖) = สฺ+เอย, ซ้อน ยฺ ด้วยสูตรว่า ปร เทฺวภาโว ฐาเน. (รู ๔๐) = สฺ+เอยฺย, รวมเป็น เสยฺย, เสยฺย+สิ แปลง สิ เป็น โอ ด้วยสูตรว่า โส. (รู ๖๖) = เสยฺโย
โหติ (ย่อมเป็น) √หู+อ+ติ ภูวาทิ. กัตตุ.
น (ไม่, หามิได้) นิบาตบอกปฏิเสธ
ปาปิโย (เลวกว่า) ปาปิย+สิ. เป็นศัพท์วิเสสตัทธิตเหมือนกัน วิเสสตัทธิต มีปัจจัย ๕ ตัว คือ ตร ตม อิสิก อิย และ อิฏฺฐ (มีสูตรว่า วิเสเส ตรตมิสิกิยิฏฺฐา. (รู ๓๙๐)) ปัจจัย ๓ ตัว คือ ตร อิสิก อิย ใช้อรรถวิเสสะ (กว่า), ส่วนปัจจัยอีก ๒ ตัว คือ ตม อิฏฺฐ ในอรรถอติวิเสส (ที่สุด) อุทาหรณ์ เช่น ปาปตโร, ปาปิโย (บาปกว่า), ปาปตโม, ปาปิฏฺโฐ (บาปที่สุด) เป็นต้น ศัพท์ที่ประกอบกับปัจจัยเหล่านี้ เป็นคุณศัพท์ เป็นได้ ๓ ลิงค์
..
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen