๘๒. ของหายาก ๔ อย่าง
เสเล เสเล น มณิกํ, คเช คเช น มุตฺติกํ;
วเน วเน น จนฺทนํ, ฐาเน ฐาเน น ปณฺฑิโตฯ
“แก้วมณีมีค่า มิได้มี ทุกภูผา,
แก้วมุกดา มิได้มี ทั่วทุกคชสาร,
แก่นจันทน์หอม มิได้มี ทุกป่าวาร,
ปราชญ์ผู้เชี่ยวชาญ มิได้มี ทุกที่ไป.“
(กวิทัปปณนีติ หมวดบัณฑิต ๘๒ โลกนีติ ๗, ธัมมนีติ ๓๖๑ จาณักยนีติ ๕๕)
..
ศัพท์น่ารู้ :
เสเล เสเล (ทุก ๆ ภูเขา) เสล+สฺมึ
น (ไม่, หามิได้) ทั้ง ๔ ศัพท์เป็นนิบาตบอกปฏิเสธ
มณิกํ (แก้วมณี, อ่าง, ไห, ขวด) มณิก+สิ ปฐมา. หรือ มณิก+อํ ทุติยา ก็ได้, ถ้าเป็น สิ ปฐมาวิภัตติให้แปลเป็นประธาน, ถ้าเป็น อํ ทุติยาวิภัตติให้แปลเป็นกรรม แล้วแต่ความประสงค์. ในสองประโยคต่อไปนี้ก็มีนัยเหมือนกัน, แต่ดูจากประโยคสุดท้ายแล้ว น่าจะเป็นประธานมากกว่า (?)
คเช คเช (ทุก ๆ ตัวช้าง, ช้างทุกเชือก) คช+สฺมึ
มุตฺติกํ (แก้วมุกดา) มุตฺติก+สิ, ศัพท์เดิมเป็น มุตฺตา อิตฺ.
วเน วเน (ทุก ๆ ป่า)
จนฺทนํ (ไม้จันทน์หอม) จนฺทน+สิ ศัพท์นี้เป็นได้ทั้ง ป./นป.
ฐาเน ฐาเน (ทุก ๆ ที่, ทุกแห่งไป) ฐาน+สฺมึ
ปณฺฑิโต (บัณฑิต, คนฉลาด, ผู้มีปัญญา) ปณฺฑิต+สิ โลกนีติและธัมมนีติ เป็น ปณฺฑิตํ (ซึ่งบัณฑิต)
คำว่า เสเล เสเล, คเช คเช, วเน วเน, ฐาเน ฐาเน การกล่าวลักษณะอย่างนี้ ในภาษาบาฬี ท่านเรียกว่า „อาเมณฑิตะ (คำพูดซ้ำ) ท่านในเวลาต่าง ๆ ๑๑ อย่าง ดังนี้ ๑. ภเย ในเวลากลัว ๒. โกเธ ในเวลาโกรธ ๓. ปสํสสายํ ในการสรรเสริญ ๔. ตุริเต ในกิจรีบด่วน ๕. โกตูหเล ในเวลาโกลาหล ๖. อจฺฉเร ในเวลาอัศจรรย์ ๗. หาเส ในเวลาดีใจ ๘. โกเส ในเวลาเสียใจ (ดุด่า) ๙. ปสาเท ในเวลาเลื่อมใส ๑๐. ครหายํ ในเวลาติเตียน และ ๑๑. สมฺมาเน ในเวลาบูชา. (ดูอภิธานัปปทีปิกา คาถา ๑๐๗)
..
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen