๘๘. การฟังเป็นบ่อเกิดแห่งปัญญา
สุสฺสูสา สุตฺตวทฺธนี, สุตํ ปญฺญาย วทฺธนํ;
ปญฺญาย อตฺถํ ชานาติ, อตฺโถ ญาโต สุขาวโหฯ
“การตั้งใจฟัง ทำให้ความรู้พัฒนา,
ความรู้พัฒนาแล้ว ทำให้ปัญญาเจริญ;
เพราะปัญญาเจริญ เป็นเหตุให้รู้อรรถ,
อรรถที่รู้ชัดเจนแล้ว เป็นเหตุนำสุขมาให้.“
(กวิทัปปณนีติ หมวดบัณฑิต ๘๘ โลกนีติ ๒๑, มหารหนีติ ๖๓, ธัมมนีติ ๒๘, นรทักขทีปนี ๑๑)
..
ศัพท์น่ารู้ :
สุสฺสูสา (ความปรารถนาเพื่อฟัง, การอยากจะฟัง, การตั้งใจฟัง) สุสฺสูสา+สิ, บางคัมภีร์เป็น สุสฺสุสา ก็มี.
สุตฺตวทฺธนี (ความเจริญด้วยสุตตะ, -ปัญญา, -ความรู้) สุต+วทฺธนี > สุตฺตวทฺธนี+สิ, บางคัมภีร์เป็น สุตวฑฺฒนํ, สุตสมฺปนฺโน ก็มี.
สุตํ (การฟัง, สิ่งที่ฟังแล้ว, ความรู้) สุต+สิ
ปญฺญาย (ด้วยปัญญา) ปญฺญา+นา
วทฺธนํ (เจริญ, พัฒนา) วทฺธน+สิ, ส่วนมากเป็น วฑฺฒนํ, วฑฺฒนา ก็ได้มีความหมายเหมือนกัน
อตฺถํ (ซึ่งอรรถ, -เนื้อความ, ประโยชน์) อตฺถ+อํ
ชานาติ (ย่อมรู้, -ทราบ) √ญา+นา+ติ กิยาทิ. กัตตุ.
อตฺโถ (อรรถ, ประโยชน์, เนื้อความ) อตฺถ+สิ
ญาโต (ถูกรู้แล้ว) ญาต+สิ
สุขาวโห (นำมาซึ่งความสุข, เป็นเหตุนำสุขมาให้) สุข+อาวห > สุขาวห+สิ
..
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen