๙๔. รู้อย่างบัณฑิต
อตฺตานุรูปกํ วากฺยํ, สภาวรูปกํ ปิยํ;
อตฺตานุรูปกํ โกธํ, โย ชานาติ ส ปณฺฑิโต ฯ
“ผู้ใดรู้จักเจรจาสมตัว,
รู้จักรักสมสภาพ;
รู้จักโกรธสมตน,
ผู้นั้น นับว่าเป็นบัณฑิต”.
(กวิทัปปณนีติ หมวดบัณฑิต ๙๔ โลกนีติ ๒๙, ธัมมนีติ ๓๓)
..
ศัพท์น่ารู้ :
อตฺตานุรูปกํ (ที่สมควรแก่ตน) อตฺตานุรูปก+อํ, วิ. อตฺตโน อนุรูปกํ อตฺตานุรูปกํ, วากฺยํ (คำพูดที่สมควรแก่ตน ชื่อว่า อตฺตานุรูปกะ) เป็นฉัฏฐีตัปปุริสสมาส แม้อีกสองคำหลังก็มีนัยเดียวกันนี้. ส่วนในโลกนีติ เป็น ปตฺตานุรูปกํ
วากฺยํ (คำที่ควรพูด, คำพูด, พากย์) วากฺย+อํ
สภาวรูปกํ (ที่มีรูปตามสภาวะ, สมควรแก่สภาพ) สภาว+รูปก > สภาวรูปก+อํ
ปิยํ (ความรัก, สิ่งที่รัก) ปิย+อํ
อตฺตานุรูปกํ (ทีสมควรแก่ตน) อตฺต+อนุรูปก > อตฺตานุรูปก+อํ
โกธํ (ความโกรธ, อารมณ์หงุดหงิด) โกธ+อํ
โย (ใด, คนใด) ย+สิ สัพพนาม
ชานาติ (รู้, ทราบ) √ญา+นา+ติ กิยาทิ. กัตตุ. แปลง ญา เป็น ชา ได้บ้าง
ส = โส (นั้น, เขา) ต+สิ สัพพนาม, แปลง ต เป็น ส ด้วยสูตรว่า เอตเตสํ โต. (รู ๒๑๑), ลบสระอันเป็นสุดของสัพพนาม และลง อ อาคมได้บ้าง ด้วยสูตรว่า โลปญฺจ ตตฺรากาโร. (รู ๓๙)
ปณฺฑิโต (บัณฑิต, ผู้มีปัญญา) ปณฺฑิต+สิ
ส่วนในธัมมนีติ (ธมฺมนีติ ๓๓) มีข้อความการใช้ศัพท์ต่างกันนิดหน่อย ดังนี้
สภาวสทิสํ วากฺยํ, สภาวสทิสํ ปิยํ;
สภาวสทิสํ โกธํ, โย ชานาติ ส ปณฺฑิโตฯ
..
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen