๙๖. สี่ผู้ไม่รู้จักอิ่ม
น ติตฺติ ราชา ธนมฺหิ, ปณฺฑิโตปิ สุภาสิเต;
จกฺขุปิ ปิยทสฺสเน, น ติตฺติ สาคโร ชเลฯ
“พระราชา ย่อมไม่อิ่ม ในราชทรัพย์,
บัณทิต ย่อมไม่อิ่ม ในสุภาษิต;
ตา ย่อมไม่อิ่ม ในการดูรูปที่น่ารัก
ทะเล ย่อมไม่อิ่ม ในน้ำ.“
(กวิทัปปณนีติ หมวดบัณฑิต ๙๖ โลกนีติ ๓๕, ธัมมนีติ ๓๕๕)
..
ศัพท์น่ารู้ :
น (ไม่, หามิได้) นิบาตบอกปฏิเสธ
ติตฺติ (ความอิ่ม) ติตฺติ+สิ
ราชา (พระราชา) ราช+สิ แปลง สิ หลังราช พฺรหฺม ศัพท์เป็นต้นเป็น อา ด้วยสูตรว่า สฺยา จ. (รู ๑๑๓)
ธนมฺหิ (ในทรัพย์) ธน+สฺมิ แปลง สฺมึ เป็น มฺหิ ได้บ้าง ด้วยสูตรว่า สฺมาหิสฺมึนํ มฺหาภิมฺหิ วา. (รู ๘๑),
ปณฺฑิโตปิ ตัดบทเป็น ปณฺฑิโต+อปิ,
สุภาสิเต (ในสุภาษิต, คำที่กล่าวดีแล้ว) สุภาสิต+สฺมึ;
จกฺขุปิ ตัดบทเป็น จกฺขุ+อปิ (แม้ตา, แม้จักษุ) จกฺขุ+สิ นป.
ปิยทสฺสเน (ในการดูรูปอันเป็นที่รัก) ปิย+ทสฺสน > ปิยทสฺสน+สฺมึ,
ติตฺติ (ความอิ่ม)
สาคโร (ทะเล, สาคร) สาคร+สิ
ชเล (น้ำ, ชล) ชล+สฺมึ
คำว่า ธนมฺหิ (ในทรัพย์), สุภาสิเต (ในสุภาษิต), ปิยทสฺสเน (ในการดูรูปอันเป็นที่รัก) และ ชเล (ในน้ำ) ทั้ง ๔ ศัพท์นี้ประกอบด้วยสัตตมีวิภัตติ ก็จริง, ถึงกระนั้น ก็อาจแปลออกสำเนียงตติยาวิภัตติก็ได้ กล่าวคือ แปลว่า ด้วยทรัพย์, ด้วยสุภาษิต เป็นต้น เพราะสัตตมีวิภัตติสามารถลงในอรรถตติยาวภัตติ(กรณัตถะ) ได้ด้วยสูตรว่า กมฺมกรณนิมิตฺตตฺเถสุ สตฺตมี. (รู ๓๒๔)
..
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen