๑๒๐. เมื่อได้อย่างก็ต้องเสียอย่าง
สุขตฺถิโก สเจ วิชฺชํ, วิชฺชตฺถิโก จเช สุขํ;
สุขตฺถิโน กุโต วิชฺชา, กุโต วิชฺชตฺถิโน สุขํฯ
„หากอยากอยู่แบบสบายๆ ก็ต้องสละวิชา
หากอยากมีความรู้ ก็ต้องสละความสบาย
คนที่เอาแต่ความสบาย จะเอาความรู้แต่ที่ไหน?
คนอยากมีความรู้ จะเอาความสบายได้อย่างไร?“
(กวิทัปปณนีติ หมวดบัณฑิต ๑๒๐)
..
ศัพท์น่ารู้ :
สุขตฺถิโก (ผู้ต้องการความสุข, ผู้ประกอบด้วยความสุข) สุข+อตฺถิก > สุขตฺถิก+สิ
สเจ (ถ้าว่า, หากว่า, ผิว่า) เป็นนิบาต ด้านบนนั้นไม่ได้แปลศัพท์นี้ ละไว้ในฐานความเข้าใจ
วิชฺชํ (ซึ่งวิชา, วิทยา, ความรู้, การศึกษา) วิชฺชา+อํ อิต.
วิชฺชตฺถิโก (ผู้ต้องการวิชา, ผู้แสวงหาความรู้) วิชฺชา+อิตฺถิก > วิชฺชตฺถิก+สิ
จเช (สละ, ละ, ทิ้ง) √จช+อ+เอยฺย ภูวาทิ. กัตตุ.
สุขํ (ซึ่งความสุข, ความสบาย) สุข+อํ
สุขตฺถิโน (แก่ผู้ต้องการความสุข) สุขตฺถี+ส, สุข+อตฺถ+อี ปัจจัยในอัสสัตถิตัทธิต
กุโต (แต่ที่ไหน, จากที่ไหน) กึ+โต ปัจจัยในอรรถปัญจมีวิภัตติ. ในเพราะ โต ปัจจัย ให้แปลง กึ เป็น กุ ด้วยสูตรว่า ตฺร-โต-เถสุ จ. (รู ๒๖๒)
วิชฺชา (วิชา, วิทยา, ความรู้, การศึกษา) วิชฺชา+สิ
วิชฺชตฺถิโน (แก่ผู้ต้องการวิชา, ผู้มีความปรารถนาด้วยวิชา) วิชฺชตฺถี+ส
สุขํ (อ. ความสุข) สุข+สิ นป.
..
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen