๑๓๓. สิ่งที่ควรทำเมื่อยามมีภัย
ตสฺมา หิ ปณฺฑิโต โปโส, สมฺปสฺสํ อตฺถมตฺตโน;
พุทฺเธ ธมฺเม จ สงฺเฆ จ, ธีโร สทฺธํ นิเวสเยฯ
“เพราะฉะนั้นแล บุรุษผู้เป็นบัณฑิต
มีปัญญา เมื่อเล็งเห็นประโยชน์ตน
พึงตั้งศรัทธาไว้ในพระพุทธเจ้า
ในพระธรรมและพระสงฆ์เถิด.“
(กวิทัปปณนีติ หมวดบัณฑิต ๑๓๓, จตุรารักขทีปนี ๑๕, สํ. ส. ๑๕/๔๑๕ ปัพพโตปมสูตร)
..
ศัพท์น่ารู้ :
ตสฺมา (เพราะฉะนั้น) ต+สฺมา สัพพนาม หรือ นิบาตบท
หิ (จริงอยู่, แล) นิบาตบท, อนึ่ง ตสฺมา หิ จัดเป็นสมูหนิบาต แปลรวมกันว่า เพราะฉนั้นแล.
ปณฺฑิโต (บัณฑิต, ผู้มีปัญญา) ปณฺฑิต+สิ
โปโส (บุรุษ) โปส+สิ
สมฺปสฺสํ (เห็นอยู่) สมฺปสฺสนฺต+สิ แปลง นฺต เป็น อํ ได้บ้าง ด้วยสูตรว่า สิมฺหิ คจฺฉนฺตาทีนํ นฺตสทฺโท อํ. (รู ๑๐๗) = สมฺปสฺส อํ+สิ, แยก ลบ รวม = สมฺปสฺสํ+สิ, ลบ สิ ด้วยสูตรว่า เสสโต โลปํ คสิปิ. (รู ๗๔)
อตฺถมตฺตโน = อตฺถํ+อตฺตโน,
อตฺถํ (ประโยชน์, เนื้อความ, อรรถ) อตฺถ+อํ,
อตฺตโน (ของตน) อตฺต+ส แปลง ส เป็น โน ด้วยสูตรว่า สสฺส โน. (๑๒๗)
พุทฺเธ (ในพระพุทธเจ้า) พุทฺธ+สฺมึ
ธมฺเม (ในพระธรรม) ธมฺม+สฺมึ
จ (ด้วย, และ) นิบาติบทใช้ในอรรถสมุจจยะ (การรวมรวบ)
สงฺเฆ (ในพระสงฆ์) สงฺฆ+สฺมึ
ธีโร (นักปราชญ์, ผู้มีปัญญา) ธีร+สิ
สทฺธํ (ศรัทธา, ความเชื่อ) สทฺธา+อํ
นิเวสเย (ให้เขาไปตั้งไว้, ตั้งไว้มั่น) นิ+วิส+ณย+เอยฺย ภุวาทิ. เหตุกัตตุ.
ข้อความบางตอนจากพระสูตร
(พระเจ้าปเสนทิโกสลกราบทูลว่า)
…..อนึ่ง ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในราชสกุลนี้ เงินทองทั้งที่อยู่ในพื้นดิน ทั้งที่อยู่ในเวหาส ซึ่งพวกหม่อมฉัน สามารถจะใช้เป็นเครื่องมือยุแหย่ให้ข้าศึกที่ยกมาแตกกันก็มีอยู่เป็นอันมาก, ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แต่เมื่อชรามรณะครอบงำสิ คติวิสัยแห่งการรบด้วยทรัพย์แม้เหล่านั้นหามีไม่, ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็แลเมื่อชรามรณะครอบงำอยู่, อะไรเล่า? จะพึงเป็นกิจที่หม่อมฉันควรทำ นอกจากการประพฤติธรรม นอกจากการประพฤติ สม่ำเสมอ นอกจากการสร้างกุศล นอกจากการทำบุญ ฯ
(พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
“ถูกแล้วๆ มหาบพิตร ก็เมื่อชรามรณะครอบงำอยู่ อะไรเล่าจะพึงเป็นกิจที่พระองค์ควรทำนอกจากการประพฤติธรรม นอกจากประพฤติสม่ำเสมอ นอกจากการสร้างกุศล นอกจากการทำบุญ”
พระผู้มีพระภาคผู้พระสุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า..
“ภูเขาใหญ่แล้วด้วยศิลา จดท้องฟ้า กลิ้งบดสัตว์มาโดยรอบ
ทั้ง ๔ ทิศ แม้ฉันใด, ชราและมัจจุก็ฉันนั้น ย่อมครอบงำ
สัตว์ทั้งหลาย คือ พวกกษัตริย์ พวกพราหมณ์ พวกแพศย์
พวกศูทร พวกจัณฑาล และคนเทมูลฝอย ไม่เว้นใครๆ
ไว้เลย ย่อมย่ำยีเสียสิ้น ณ ที่นั้น, ไม่มียุทธภูมิสำหรับ
พลช้าง พลม้า ไม่มียุทธภูมิสำหรับพลรถ ไม่มียุทธภูมิ
สำหรับพลราบ และไม่อาจจะเอาชนะแม้ด้วยการรบด้วย
มนต์หรือด้วยทรัพย์, เพราะฉะนั้นแล บุรุษผู้เป็นบัณฑิต
มีปัญญา เมื่อเล็งเห็นประโยชน์ตน พึงตั้งศรัทธาไว้ในพระ-
พุทธเจ้า ในพระธรรมและในพระสงฆ์, ผู้ใดมีปรกติประพฤติ
ธรรมด้วยกาย ด้วยวาจา หรือด้วยใจ, บัณฑิตทั้งหลายย่อม
สรรเสริญผู้นั้น ในโลกนี้นั่นเทียว, ผู้นั้นละโลกนี้ไป ย่อม
บันเทิงในสวรรค์ ฯ
(สํ. สคาถา. ๑๕/๔๑๕ ปัพพโตปมสูตร)
..
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen