๑๘๘. สุนัขเห็นกัน-คนพาลเห็นคนดี
สุนโข สุนขํ ทิสฺวา, ทนฺตํ ทสฺเสติ หึสิตุํ;
ทุชฺชโน สุชนํ ทิสฺวา, โรสยํ หึสมิจฺฉติฯ
"สุนัขเห็นกัน, มันสะแหยง
ฟันให้กันแล้วก็กัดฟัดกัน;
คนพาลเห็นคนดีก็เช่นกัน,
เกิดหมั่นไส้ อยากเบียดเบียนเขา.“
(กวิทัปปณนีติ หมวดคนดี ๑๘๘, โลกนีติ ๕๕, ธัมมนีติ ๑๓๗)
..
ศัพท์น่ารู้:
สุนโข: (สุนัข, หมา) สุนข+สิ
สุนขํ: (ซึ่งสุนัข) สุนข+อํ
ทิสฺวา: (เห็นแล้ว) ทิส+อ+ตฺวา+สิ
ทนฺตํ: (ซึ้งฟัน) ทนฺต+อํ
ทสฺเสติ (ย่อมแสดง, เห็น, ปรากฏ) √ทิส+เณ+ติ ภูวาทิ. เหตุกัตตุ. แปลง ทิส เป็น ทสฺส ได้บ้าง § ทิสฺส ปสฺส-ทิสฺส-ทกฺขา วา. (รู ๔๘๓)
หึสิตุํ: (เพื่ออันเบียดเบียน, ข่มแหง, รังแก) √หึส+อ+อิ+ตุํ
ทุชฺชโน: (คนพาล, ทุรชน) ทุชฺชน+สิ
สุชนํ: (ซื่งคนดี, สุชน) สุชน+อํ
ทิสฺวา: (เห็นแล้ว) √ทิส+อ+ตฺวา+สิ
โรสยํ: (โกรธ, อาฆาต, มาดร้าย, เกรี้ยวกราด, ขึงขัง, สยะแสยงอยู่) √รุส+ณย+อนฺต > โรสยนฺต+สิ
หึสมิจฺฉติ: ตัดบทเป็น หึสํ+อิจฺฉติ (อยากเบียดเบียด, ชอบรังแก) หึสํ (ซึ่งการรังแก, เบียดเบียน) หึสา+อํ, ส่วน อิจฺฉติ (ย่อมปรารถนา, ต้องการ, อยาก, ชอบ) อิสุ+อ+ติ
..
สุขน (สุนัข, หมา) ศัพท์นี้ มาจาก สุน+? (ไม่ทราบว่าเป็นปัจจัยอะไร) รู้แต่ว่า แปลง อุน เป็น อุนข ด้วยสูตรว่า สุนสฺสุนสฺโสณวานุวานูนุนขุณานา. (รู ๖๖๓) สูตรนี้มี ๓ บท แยกเป็น สุนสฺส+อุนสฺส+โอณวานุวานูนุนขุณานา.
(แปลว่า) แปลง อุน ของ สุน ศัพท์ เป็น โอณ-วาน-อุวาน-อุน-อุนข-อุณ-อา-อาน.“
เมือรวมเข้ากันและประกอบกับวิภัตตินามแล้ว ก็จะได้รูปเป็นชื่อของสุนัขว่า
โสโณ, สฺวาโน, สุวาโน, สุโน, สุนโข, สุโณ, สา, สาโน. ศัพท์เหล่านี้แปลว่า หมา เหมือนกันหมด.
ในสัททนีติ ธาตุมาลา แสดงให้คำจำกัดความ (วิคฺคห) ว่า
โสโณติ สุนโข, โส หิ สามิกสฺส วจนํ สุณาตีติ โสโณติ วุจฺจติ.
(แปลว่า) สัตว์ย่อมฟัง เหตุนั้น สัตว์นั้น ชื่อว่า สุนัข, แท้จริง สุนัขนั้นเขาเรียกว่า โสณ (เป็นต้น) เพราะอรรถว่า เป็นสัตว์ที่ฟังคำของเจ้าของ.
บางท่านว่า สุนัข หมายถึง สัตว์ที่มีเล็บงาม โดยแยกศัพท์ว่า สุ+นข คือ สุ = ดี, งาม, ง่าย + นข = เล็บ, ก็เลยเป็น “สัตว์ที่มีเล็บงาม” อันนี้ยังไม่เคยเห็นรูปวิเคราะห์ที่โบราณาจารย์ท่านแสดงไว้ เคยแต่ฟังตาม ๆ กันมา หรือผู้รู้ท่านใด เคยเห็นหลักฐานปรากฏก็แจ้งเข้ามาได้ เพื่อเป็นวิทยาทานต่อไป ขอขอบคุณล่วงหน้าครับ.
..
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen