๑๙๗. โภคทรัพย์ฤาจักมีด้วยการคิด
อจินฺติตมฺปิ ภวติ, จินฺติตมฺปิ วินสฺสติ;
น หิ จินฺตามยา โภคา, อิตฺถิยา ปุริสสฺส วาฯ
“บางสิ่งแม้ที่ไม่ได้คิดไว้ ย่อมมีก็ได้
บางสิ่งแม้ที่คิดเอาไว้ ย่อมพินาศก็ได้
โภคะทั้งหลายของสตรี หรือบุรุษ
จะสำเร็จได้ด้วยความนึกเอาไม่มีเลย.“
(กวิทัปปณนีติ หมวดคนดี ๑๙๗, โลกนีติ ๖๖ ขุ. ชา. ๒๗/๑๘๕๙ สรภชาดก, ๒๘/๔๕๐ มหาชนกชาดก)
..
ศัพท์น่ารู้:
อจินฺติตมฺปิ: ตัดบทเป็น อจินฺติตํ+อปิ (แม้ที่ไม่ได้คิดแล้ว, ไม่ได้นึกไว้, ที่มิได้ตั้งใจไว้) อจินฺติต+อํ, ส่วน อปิ ศัพท์เป็นอุปสัคบท เป็นอุปสัคศัพท์เดียวที่ลงหลังศัพท์อื่น ส่วนอุปสัค ๑๙ ตัว ที่เหลือใช้ลงหน้าอื่นทั้งนั้น บางท่านว่าจัดเป็นนิบาตบทก็มี.
ภวติ: (ย่อมมี, ย่อมเป็น) ภู+อ+ติ ภูวาทิ. กัตตุ.
จินฺติตมฺปิ: ตัทบทเป็น จินฺติตํ+อปิ (แม้ที่คิดไว้แล้ว, ที่นึกเอาไว้, ที่ตั้งใจเอาไว้) จินฺติต+อํ, อปิ ศัพท์เป็นอุปสัค
วินสฺสติ: (ย่อมพินาศไป, พังสลาย, ไม่สมดั่งใจ) วิ+√นส-นาเส+ย+ติ ทิวาทิคณะ เอา ย ปัจจัยกับที่สุดธาตุ เป็นปุพพรูป ด้วยสูตรว่า ตถา กตฺตริ จ. (รู ๕๑๑)
น: (ไม่, หามิได้) เป็นนิบาต
หิ: (จริงอยู่, แท้จริง, เพราะ, ความจริงมีอยู่ว่า) เป็นนิบาต
จินฺตามยา: (ที่สำเร็จด้วยการคิด) จินฺตา+มย ปัจจัยในสังสัฏฐาทิตัทธิต > จินฺตามย+โย
โภคา: (ทรัพย์, สมบัติ, โภคะ ท.) โภค+โย
อิตฺถิยา: (แก่/ของหญิง, สตรี) อิตฺถี+ส
ปุริสสฺส: (แก่/ของชาย, บุรุษ) ปุริส+ส
วา: (หรือ, ก็ตาม) เป็นนิบาต
..
อายตนิบาต คืออะไร?
อายตนิบาต คือ คำแปลประจำหมวดวิภัตตินาม ทั้ง ๗ ดังนี้
เอกวจนะ (พหุวจนะ เติม ท.)
ป. (ปฐมา) ที่ ๑ อ. [อันว่า]
ทุ. (ทุติยา) ที่ ๒ ซึ่ง สู่ ยัง สิ้น ตลอด กะ เฉพาะ
ต. (ตติยา) ที่ ๓ ด้วย โดย อัน ตาม เพราะ มี ด้วยทั้ง
จ. (จตุตถี) ที่ ๔ แก่ เพื่อ ต่อ
ปญฺจ. (ปัญจมี) ที่ ๕ แต่ จาก กว่า เหตุ
ฉ. (ฉัฏฐี) ที่ ๖ แห่ง ของ เมื่อ
ส. (สัตตมี) ที่ ๗ ใน ใกล้ ที่ ครั้นเมื่อ ในเพราะ เหนือ บน ณ
อา. (อาลปนะ) ที่ ๘ แน่ะ ดูก่อน ข้าแต่
บางแห่งเรียงอาลปนะไว้เป็นอันดับที่สองก็มี.
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen