๑๘๔. ร่มเงาแห่งความสุข
สุขา รุกฺขสฺส ฉายาว, ตโต ญาติมาตาปิตุ;
ตโต อาเจรสฺส รญฺโญ, ตโต พุทฺธสฺสเนกธาฯ
"ร่มเงาต้นไม้แลเป็นเหตุนำสุขมาให้,
ร่มเงาของญาติและพ่อแม่ เป็นสุขกว่านั้น;
ร่มเงาแห่งครูอาจารย์ เป็นสุขกว่านั้น,
ร่มเงาแห่งพระราชา เป็นสุขกว่านั้น,
ร่มเงาแห่งพระพุทธศาสนา นำสุขมาให้
มากมายกว่าร่มเงาเหล่านั้น.“
(กวิทัปปณนีติ หมวดคนดี ๑๘๔, โลกนีติ ๕๐, ธัมมนีติ ๑๑)
..
ศัพท์น่ารู้ :
สุขา: (ความสุข, เป็นเหตุให้เกิดสุข, ให้เกิดสุข) สุขา+สิ
รุกฺขสฺส: (แห่งต้นไม้) รุกฺข+ส
ฉายาว: ตัดบทเป็น ฉายา+เอว (ร่ม, เงา, ฉายา+น้่นเทียว) ฉายา+สิ อิต., เอว (นั่นเทียว, เท่านั้น) นิบาต
ตโต: ทั้ง ๓ ศัพท์แปลว่า กว่านั้น, แต่นั้น ต+โต ปัจจัยในอรรถปัญจมี. เป็นนิบาต
ญาติมาตาปิตุ: (ญาติ, มารดา, บิดา) ญาติ+มาตุ+ปิตุ > ญาติมาตาปิตุ+ส แปลงที่สุดเป็น อุ และลบ ส วิภัตติ ได้บ้าง ด้วยสูตรว่า อุ สสฺมึ สโลโป จ. (รู ๑๖๒)
อาเจรสฺส: (แห่งอาจารย์) อาเจร+ส อาเจรสฺส, ศัพท์ว่า อาเจร เป็นศัพท์ย่อมาจาก อาจริย ในปทรูปสิทธิไม่ได้แสดงไว้ แต่มีไปเห็นในนิรุตติทีปนี ท่านบอกว่า ให้ย่ออักษร ด้วยมหาสูตร.
รญฺโญ: (แห่งพระราชา) ราช+ส
พุทฺธสฺสเนกธา: ตัดบทเป็น พุทฺธสฺส+อเนกธา (แห่งพระพุทธเจ้า, พระพุทธศาสนา+โดยอเนก, มากมาย) พุทฺธสฺส = พุทฺธ+ส, อเนกธา มาจาก น+เอกธา = อเนกธา (อย่างเดียวหามิได้, ไม่ใช่หนึ่ง, หมายอย่าง) เอกธา เป็นนิบาตบท แปลว่า อย่างเดียว, ส่วนหนึ่ง เป็นต้น
ส่วนในธัมมนีติ (ธมฺมนีติ ๑๑) มีข้อความต่างกันนิดหน่อย ดังนี้
สุขํ รุกฺขสฺส ฉายาว, ตโต ญาติมาตาปิตุ;
ตโต อาจริโย รญฺโญ, ตโต ชินสฺสสาสนํฯ
(ขอแปลเอาความว่า)
“รมเงาไม้ให้ความเย็นเป็นสุขแน่,
ร่มแห่งญาติเย็นแน่กว่าไหน ๆ
ร่มพ่อแม่เย็นแท้กว่าสิ่งใด
ร่มอาจารย์ก็ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน
ร่มราชาแผ่ความเย็นไปทั่วหล้า
ร่มพุทธศาสนาสุขเย็นยิ่งกว่าทุกสิ่งในโลกแล”
..
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen