๓. พาลทุชฺชนกณฺฑ
๒๐๖. คนพาล-คนบาป
กายทุจฺจริตาทีหิ, สมฺปนฺโน ปาปมานุโช;
พาโลติ โลกนาเถน, กิตฺติโต ธมฺมสามินาฯ
„คนถึงพร้อมด้วยการประพฤติชั่ว
มีการประพฤติชั่วทางกายเป็นต้น,
พระพุทธเจ้าผู้เป็นที่พี่งแก่ชาวโลก
ผู้ทรงเป็นเจ้าของแห่งพระธรรม,
ตรัสว่า เป็นคนบาป คนพาล.“
(กวิทัปปณนีติ หมวดคนพาล ๒๐๖)
..
ศัพท์น่ารู้:
กายทุจฺจริตาทีหิ: (ด้วยการประพฤติชั่วทางกายเป็นต้น, ด้วยกายทุจริตเป็นอาทิ) กาย+ทุจฺจริต+อาทิ > กายทุจฺจริตาทิ+หิ, อาทิศัพท์หมายเอาทุจริตที่เหลือมี วจีทุจริตและมโนทุจริต รวมเป็นทุจริต ๓
สมฺปนฺโน: (ถึงพร้อม, สัมปันนะ) สมฺปนฺน+สิ เป็นกิตก์ มาจาก สํ+√ปท+ต แปลง ต เป็น อนฺน ได้บ้าง ด้วยสูตรว่า ภิทาทิโต อินฺน-อนฺน-อีณา วา. (รู ๖๓๑)
ปาปมานุโช: (คนบาป, คนชั่ว, คนเลว) ปาป+มานุช > ปาปมานุช+สิ, มานุช เป็นคำไวพจน์ของ มนุสฺส (มนุษย์, คน) ในอภิธานัปปทีปิกา (๒๒๗) เป็น มนุช, หรือไม่ก็ มานุส
พาโลติ: (ว่า คนพาล, คนชั่ว) พาโล+อิติ
โลกนาเถน: (พระผู้เป็นที่พึ่งของชาวโลก, พระโลกนาถ, พระพุทธเจ้า) โลก+นาถ > โลกนาถ+นา
กิตฺติโต: (ประกาศ, แสดง, ตรัสแล้ว) กิตฺติต+สิ, เป็นกิตก์ มาจาก กิตฺต+อิ+ต
ธมฺมสามินา: (เจ้าของแห่งธรรม, ผู้นายแห่งธรรม, ธรรมสามี) ธมฺม+สามิ > ธมฺมสามี+นา, หรือ ธมฺมสฺสามี ก็ได้
..
กัณฑ์นี้ ชื่อ พาลทุชชนกัณฑ์ แปลว่า หมวดว่าด้วยคนพาลคนชั่ว
จัดเป็นกัณฑ์ที่ ๓ ในกวิทัปปณนีติ ต่อจากปัณฑิตกัณฑ์ สุชนกัณฑ์
การเรียงลำดับกัณฑ์ทั้งสามเหมือนกันกับในโลกนีติทุกประการ
ต่างกันตรงที่จำนวนคาถาต่างกันเท่านั้น ในโลกนีติกัณฑ์นี้มีเพียง
๑๑ คาถาเท่านั้น ส่วนในกวิทัปปณนีตินี้ มีถึง ๔๔ คาถา.
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen