๒๑๒. พาลผู้น่าสงสาร
น สาธุ พลวา พาโล, สาหสา วินฺทเต ธนํ;
กายสฺส เภทา ทุปฺปญฺโญ, นิรยํ โสปปชฺชติฯ
„คนพาลมีอำนาจ ไม่เป็นประโยชน์
เขาจะแสวงทรัพย์ด้วยการคอรัปชั่น
คนพาลนั้นเป็นมนุษย์ขาดปัญญา,
หลังตายไป ย่อมเข้าถึงนรก.“
(กวิทัปปณนีติ หมวดคนพาล ๒๑๒ โลกนีติ ๗๒)
..
ศัพท์น่ารู้ :
น (ไม่, หามิได้) นิบาตบอกปฏิเสธ
สาธุ (ดี, งาม, เป็นประโยชน์, ยังประโยชน์ให้สำเร็จ) นิบาต
พลวา (มีกำลัง) พล+วนฺตุ ปัจจัยในตทัสสัตถิตัทธิต > พลวนฺตุ+สิ วิ. พลํ อสฺส อตฺถีติ พลวา. (กำลังย่อมมีแก่เขา เหตุนั้น เขา ชื่อว่า เป็นผู้มีกำลัง). แปลง นฺตุ กับ สิ เป็น อา ด้วยสูตรว่า อา สิมฺหิ. (รู ๙๘)
พาโล (คนพาล, คนโง่) พาล+สิ
สาหสา (ผลุนผลัน, ร้ายกาจ, ป่าเถื่อน) สาหส+สฺมา ในโลกนีติเป็น สหสา
วินฺทเต (ได้, ประสบ) √วิท-ลาเภ+อ+เต รุธาทิ. กัตตุ. (+นิคคหิตอาคม, ในเพราะ ท แปลง อํ เป็น นฺ อันษรที่สุดวรรค ด้วยสูตรว่า วคฺคนฺตํ วา วคฺเค. รู ๔๙)
ธนํ (ซึ่งทรัพย์) ธน+อํ
กายสฺส (แห่งกาย) กาย+ส
เภทา (เพราะการแตก, -ทำลาย) เภท+สฺมา
ทุปฺปญฺโญ (ไม่มีปัญญา, ไร้ปัญญา) ทุปฺปญฺญ+สิ
นิรยํ (นรก) นิรย+อํ
โสปปชฺชติ: ตัดบทเป็น โส+อุปปชฺชติ (คนพาลนั้น+ย่อมเข้าถึง, ไปเกิด), โส (..นั้น, เขา) ต+สิ, อุปปชฺชติ (เข้าถึง) อุป+√ปท-คติมฺหิ+ย+ติ ทิวาทิคณะ
คาถานี้เป็นการผสมผสานกัน กล่าวคือ ครึ่งคาถาแรก มาจากพระบาฬีในชาดกเล่มที่ ๒๗ ข้อ ๒๐๙๑ (ขุ. ชา. ๒๐๙๑) ส่วนครึ่งคาถาหลัง มาจากพระบาฬีอังคุตตรนิกาย เล่มที่ ๒๒ ข้อ ๑๗๔ (องฺ. ปญฺจก. ๒๒/๑๗๔)
..
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen