๒๒๔. อย่าไว้ใจคนพาล
ทุชฺชโน ปริหาตพฺโพ, วิชฺชายาลงฺกโตปิจ;
มณินา ภูสิโต สปฺโป, กิเมโส น ภยงฺกโรฯ
"คนพาลแม้เป็นผู้มีวิชาความรู้,
ก็ควรหลีกเว้นให้ห่างไกลไว้,
งูพิษแม้จะประดับด้วยแก้วมณี,
มันจะไม่ทำอันตราย เป็นไปได้หรือ!.“
(กวิทัปปณนีติ หมวดคนพาล ๒๒๔ มหารหนีติ ๑๓๓ ธัมมนีติ ๑๒๗ จาณักยนีติ)
..
ศัพท์น่ารู้ :
ทุชฺชโน: (ทุรชน, คนชั่ว, คนพาล) ทุชฺชน+สิ
ปริหาตพฺโพ: (ควรเว้น, ควรละเว้น) ปริหาตพฺพ+สิ, ปริ+√หา+ตพฺพ+สิ กัมมรูป กิริยากิตก์
วิชฺชายาลงฺกโตปิจ: (แม้เป็นผู้ประดับด้วยวิชาความรู้) ตัดบทเป็น วิชฺชาย+อลงฺกโต+อปิจ, วิชฺชาย อลงฺกโต แปลว่า ผู้ประดับ-,หรือ ประกอบแล้วด้วยวิชา),
อปิจ: (แม้อนึ่ง, และ, ด้วย) เป็นสมูหนิบาตก็ว่า หรือจะแยกกัน เป็น อปิ+จ ก็ได้, ส่วนในสองคัมภีร์อื่นเป็น เจ (หากว่า, ผิว่า, ถ้าว่า) น่าจะเหมาะสมกว่า
มณินา: (แก้วมณี, เครื่องประดับ) มณิ+นา
ภูสิโต: (ประดับแล้ว, ตบแต่งแล้่ว, ภูสิต) ภูสิต+สิ ในมหารหนีติและธัมมนีติ เป็น มณินาลงฺกโต สนฺโต,
สปฺโป: (งู, สัตว์ที่เสือกไป) สปฺป+สิ
กิเมโส: ตัดบทเป็น กึ+เอโส (อะไร, อย่างไร, ละหรือ?+..นั่น)
น: (ไม่, หามิได้) นิบาตบอกปฏิเสธ
ภยงฺกโร: (ผู้กระทำซึ่งภัย, ผู้ก่อภัย, ผู้ทำภัยอันตราย, ผู้ก่อการร้าย) ภย+กร > ภยงฺกร+สิ หรือ ภยํ+กโร ก็ได้
………..
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen