๒๒๖. คนไม่กล้าคิดริเริ่ม
โทสภีโต อนารมฺโภ, ตํ กาปุริสลกฺขณํ;
โก หฺยชิณฺณภยา นนุ, โภชนํ ปริหียเตฯ
„บุคคลผู้กลัวต่อโทษ แต่ไม่งดเว้น
ข้อนั้น เป็นลักษณะของคนเลว,
ถ้าใครกลัวว่าอาหารจะไม่ย่อย,
เขาต้องงดกินอาหาร มิใช่หรือ.“
(กวิทัปปณนีติ หมวดคนพาล ๒๒๖)
..
ศัพท์น่ารู้ :
โทสภีโต: (ผู้กลัวเสียหาย, -ผิดพลาด, -บกพร่อง, -ตำหนิ) โทสภีต+สิ
อนารมฺโภ: (ไม่ปั่นป่วน, ไม่ยุ่ง, ไม่ปรารภ, ไม่สร้างสรรค์) ป., น+อารมฺภ = อนารมฺภ
ตํ: (..นั้น, ข้อนั้น) ต+สิ
กาปุริสลกฺขณํ: (ลักษณะของคนเลว) กาปุริสลกฺขณ+สิ, กาปุริส (คนเลว, คนวายร้าย) ป., ลกฺขณ (ลักษณะ, เครื่องหมาย, รอย, คุณภาพ, ปกติ) นป.
โก: (ใคร, คนใด) กึ+สิ, (เดิมท่านเขียนติดกันเป็น โกหฺยชิณฺณภยา นนุ,)
หฺยชิณฺณภยา: ตัดบทเป็น หิ+อชิณฺณภยา (เพราะไม่กลัวต่อแก่, ไม่กลัวต่อความคร่ำคร่า) อชิณฺณภย+สฺมา, อชิณฺณ (ไม่แก่, ไม่คร่ำคร่า, ไม่เก่า, ไม่ชรา), ภย (กลัว, ภัย)
นนุ: (มิใช่หรือ, บ้างหรือ, ใช่ไหม, อย่างไร, แน่แท้) นิบาตใช้ในอรรถการถาม
โภชนํ: (อาหาร, โภชนะ) โภชน+สิ
ปริหียเต: (งด, ละ, เสื่อม) ปริ+√หา+ย+เต กัมมวาจก แปลงสระที่สุดธาตุเป็น อี ในเพราะ ย ปัจจัย ด้วยสูตรว่า ยมฺหิ ทา-ธา-มา-ฐา-หา-ปา-มห-มถาทีนมี. (รู ๔๙๓)
คาถานี้ไม่พบในคัมภีร์นีติอื่น ๆ จึงไม่สามารถเทียบเคียงศัพท์แสงได้ การแปลจึงเป็นลักษณะขอไปที ตามมีตามเกิดเท่าที่จะทำได้ ขอให้ท่านผู้รู้และนักศึกษาช่วยกันค้นคว้าศึกษาหาความจริงกันต่อไปเองเถิด.
..
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen