๒๓๕. ไร้ทรัพย์ ไร้เพื่อน
ธนหีเน จเช มิตฺโต, ปุตฺตทารา สโหทรา;
ธนวนฺเตว เสวนฺติ, ธนํ โลเก มหาสขาฯ
"เพื่อนมักทิ้งเพื่อนที่ไร้ทรัพย์,
แม้บุตรภรรยา พี่น้องร่วมท้องเดียวกัน;
ย่อมคบหาคนที่มีทรัพย์นั่นเทียว,
ทรัพย์จึงกลายเป็นเพื่อนที่สำคัญในโลก.“
(กวิทปฺปณนีติ ๒๓๕, โลกนีติ ๘๑, มหารหนีติ ๑๓๙, ธมฺมนีติ ๗๘)
ศัพท์น่ารู้ :
ธนหีเน: (เสื่อมทรัพย์, สิ้นทรัพย์) ธนหีน+สฺมึ ,หรือ ธนหีน+โย ก็ได้
จเช: (สละ, ละ, ทิ้ง) จช+อ+เอยฺย ภูวาทิคณะ กัตตุวาจก
มิตฺโต: (มิตร, เพื่อน, เกลอ) มิตฺต+สิ
ปุตฺตทารา: (ลูกและเมีย, บุตรและภรรยา) ปุตฺตทาร+โย
สโหทรา: (ผู้เกิดร่วมท้องเดียวกัน, พี่น้องกัน) สโหทร+โย
ธนวนฺเตว: ตัดบทเป็น ธนวนฺเต+เอว (ผู้มีทรัพย์เท่านั้น, เฉพาะคนมีทรัพย์) ธนวนฺเต ธนวนฺตุ+โย, แปลง ที่สุดของ นฺตุ ปัจจัยเป็น อ ด้วยสูตรว่า นฺตุสฺสนฺโต โยสุ จ. (รู ๑๐๐), เอว ศัพท์เป็นนิบาตใช้ในอรรถอวธารณะ (ห้าม, เจาะจง, บ่งให้ชัด) แปลว่า นั่นเทียว, เท่านั้น
เสวนฺติ: (เสพ, คบหา, เสวนา) เสว+อ+อนฺติ ภูวาทิคณะ กัตตุวาจก
ธนํ: (ทรัพย์) ธน+อํ
โลเก: (ในโลก) โลก+สฺมึ
มหาสขา: (เพื่อส่วนใหญ่, เพื่อนส่วนมาก, เพื่อนที่สำคัญ, เพื่อนที่ประเสริฐ) มหาสข+โย
ต่อไปนี้ ขอยกคาถาที่จากคัมภีร์อื่น ๆ มาเทียบเคียงกันดู เผื่อว่าจะได้ความคิดรวบยอดในการแปลที่ถูกต้องต่อไป
ในมหารหนีติ (มหารหนีติ ๑๓๙) มีข้อความตรงไปตรงมา ชัดเจนดี ดังนี้
ธนหีนํ จเช มิตฺโต,
ปุตฺตทารา สโหทรา;
อตฺถวนฺตํว เสวนฺติ,
อตฺโถ โลเก มหาสขาฯ
และในธัมมนีติ (ธมฺมนีติ ๗๘) มีข้อความแตกต่างกันอีกนิดหน่อย ดังนี้
ธนหีนํ จเช มิตฺตา,
ปุตฺตทารา สโหทรา;
ธนวนฺตํว เสวนฺติ,
ธนํ โลเก มหาสขาฯ
..
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen