๒๓๘. ข้อควรระวังในการคบมิตร
น วิสฺสเส อมิตฺตสฺส, มิตฺตญฺจาปิ น วิสฺสเส;
กทาจิ กุปิเต มิตฺเต, สพฺพโทสํ ปกาสติฯ
"ไม่ควรสนิทสนมกับคนมิใช่มิตร,
ถึงแม้มิตรก็ไม่ควรสนิทจนเกินไป;
บางครั้งบางเวลาเกิดมิตรผิดใจขึ้นมา,
มิตรนั้นย่อมเปิดโปงความไม่ดีจนหมดสิ้น.“
(กวิทปฺปณนีติ ๒๓๘, โลกนีติ ๘๔, จาณกฺยนีติ ๒๐, ธมฺมนีติ ๒๓๒)
ศัพท์น่ารู้ :
น: (ไม่, หามิได้) นิบาตบอกปฏิเสธ
วิสฺสเส: (พึงวิสาสะ, ใกล้ชิด, สนิทสนม, คุ้นเคย) วิ+สส+อ+เอยฺย ภูวาทิคณะ กัตตุวาจก
อมิตฺตสฺส: (คนไม่ใช้มิตร, อมิตร) อมิตฺต+ส ลง ฉัฏฐีวิภัตติในอรรถทุติยาวิภัตติ ได้บ้าง ด้วยสูตรว่า ทุติยาปญฺจมีนญฺจ. (รู ๓๑๘)
มิตฺตญฺจาปิ: ตัดบทเป็น มิตฺตํ+จ+อปิ (และแม้มิตร) มิตฺต+อํ = มิตฺตํ (มิตร, เพื่อน), จ และ อปิ เป็นนิบาต
น: (ไม่, หามิได้) นิบาตบท
วิสฺสเส: (พึงวิสาสะ, ใกล้ชิด, สนิทสนม, คุ้นเคย) วิ+สส+อ+เอยฺย ภูวาทิคณะ กัตตุวาจก
กทาจิ: (ในกาลบางคราว) กึ+ทา+จิ
กุปิเต: (โกรธ, ขุ่นเคือง) กุปิต+สฺมึ
มิตฺเต: (เมื่อมิตร, เพื่อน) มิตฺต+สฺมึ
สพฺพโทสํ: (ซึ่งโทษทั้งปวง, ความไม่ดีทั้งหมด) สพฺพโทส+อํ
ปกาสติ: (ย่อมประกาศ, เปิดเผย, แฉ, เปิดโปง) ป+กาส+อ+ติ ภูวาทิคณะ กัตตุวาจก
..
ขอยกคาถานี้ จากนีติอื่นอีก เพื่อจะได้เปรียบเทียบ เนื้อความให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ดังต่อไปนี้
ก) ในโลกนีติ (โลกนีติ ๘๔) มีข้อความแตกต่างกัน ดังนี้
น วิสฺสเส อวิสฺสตฺตํ,
มิตฺตญฺจาปิ น วิสฺสเส;
กทาจิ กุปิโต มิโต,
สพฺพํ โทสํ ปกาสเยฯ
ข) ในจาณักยนีติ (จาณกฺยนีติ ๒๐) มีข้อความคล้ายกันอีก ดังนี้
น วิสฺสเส อวิสฺสตฺถํ,
มิตฺตญฺจาปิ น วิสฺสเส;
กทาจิ กุปิตํ มิตฺตํ,
สพฺพโทสํ ปกาสเยฯ
..
ในโลกนีติ ในบาทคาถาที่ ๓ คำว่า มิโต ควรเป็น มิตฺโต
ปกาสเย มาจาก ป+กาส+ณย+เอยฺย จุราทิคณะ กัตตวาจก หรือ อาจจะเป็น ป+กส+ณย+เอยฺย ก็ได้,
ส่วน ปกาสติ มาจาก ป+กาส+อ+ติ ภูวาทิคณะ กัตตวาจก
ในธาตฺวัตถสังคหะ ๕๑ กล่าวอรรถของ กส ธาตุไว้ว่า
….. กโส ตุ, วิเลขสทฺทหึสน-; คตีสุ วิปุพฺโพ ผุลฺเล,
(ส่วน กส ธาตุ เป็นไปในอรรถว่า วิเลข (ขีดเขียน), สทฺท (ออกเสียง), หึสน (เบียดเบียน), คติ (ไป, ถึง), หากมี วิ อุปสัคเป็นบทหน้า ย่อมเป็นไปในอรรถว่า บาน, ผิดอกออกผล.)
และในคาถาที่ ๕๓ กล่าวถึงอรรถของ กาส ธาตุไว้ว่า
กาโส กุสทฺทปกาส-, สชฺชเน ภู ชุเต ทิภู.
(กาส ธาตุที่เป็นภูวาทิคณะ ย่อมเป็นไปในอรรถว่า กุสทฺท (ออกเสียงไม่ชัด), ปกาส (ประกาศ), สชฺชน (จัดแจง). ที่เป็นทิวาทิคณะและภูวาทิคณะ ย่อมเป็นไปในอรรถว่า ชุต (รุ่งเรือง)
..
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen