๔. ราชกณฺฑ
๒๕๑. ราชาผู้ยังมหาชนให้ยินดี
มหาชนํ โย รญฺเชติ, จตูหิปิ วตฺถูหิ วา;
ราชาติ วุจฺจเต โลเก, อิติ สลฺลกฺขเย วิทฺวาฯ
"ผู้ใดย่อมยังมหาชนให้ยินดีพอใจ,
แม้ด้วยวัตถุสี่อย่าง (ด้วยสังคหวัตถุ ๔);
ผู้นั้นเหล่ามหาชนเรียกว่า พระราชา ในโลก,
บัณฑิตผู้มีปัญญาย่อมกำหนดกัน ดังนี้แล.“
(กวิทปฺปณนีติ ๒๕๑)
ศัพท์น่ารู้ :
มหาชนํ: (มหาชน, เหล่าประสกนิกร, มวลชน) มหาชน+อํ
โย: (..ใด) ย+สิ
รญฺเชติ: (ให้ยินดี, พอใจ, กำหนัด, ย้อม) รนฺช+เณ+ติ ภูวาทิคณะ หรือ ทิวาทิคณะ ก็ได้ เหตุกัตตุวาจก
จตูหิปิ: (แม้ ๔ อย่าง) ตัดบทเป็น จตูหิ+อปิ
วตฺถูหิ: (ด้วยวัตถุ, -ปัจจัย ท.) วตฺถุ+หิ, ในที่นี้คงหมายถึง สังคหวัตถุ ๔ อย่าง ทาน (การให้), ปิยวาจา (พูดสุภาพไพเราะอ่อนหวาน), อัตถจริยา (ประพฤติประโยชน์) และ สมานัตตตา (ทำตนเสมอต้นเสมอปลาย)
วา: (หรือ) นิบาต ในที่นี้เป็นเพียงปทปูรณะ คือทำบทให้เต็ม ก็น่าจะพอ
ราชาติ: (ว่า ราชา ดังนี้) ราชา+อิติ, ราชา (พระราชา) ราช+สิ, อิติ เป็นนิบาตใช้ในอรรถว่า อาการะ แปลว่า ว่า..ดังนี่
วุจฺจเต: (ย่อมถูกเรียก, ถูกขนานนาม) วจ+ย+เต ภูวาทิคณะ กัมมวาจก
โลเก: (ในโลก) โลก+สฺมึ
อิติ: (ดังนี้แล, ด้วยประการฉะนี้) เป็นนิบาตในอรรถ ปริสมาปนฺน แปลว่า ดังนี้แล, ใช้ในอรรถ ปการตฺถ แปลว่า ด้วยประการฉะนี้
สลฺลกฺขเย: (พึงำหนด, จดจำไว้) สํ+ลกฺข+ณย+เอยฺย จุราทิคณะ กัตตุวาจก
วิทฺวา: (ผู้รู้, นักปราชญ์) วิทฺว+สิ
——
วันนี้เรามาขึ้นกัณฑ์ใหม่ คือ ราชกัณฑ์ (หมวดว่าด้วยพระราชา) ซึ่งเป็นกัณฑ์ที่ ๔ ในจำนวน ๑๐ กัณฑ์ คือ ๑) ปัณฑิตกัณฑ์ ๒) สุชนกัณฑ์ ๓) พาลทุชชนกัณฑ์ ๔) ราชกัณฑ์ ๕) นายกกัณฑ์ ๖) ปุตตกัณฑ์ ๗) เวชชาจรยกัณฑ์ ๘) ทาสกกัณฑ์ ๙) อิตถีกัณฑ์ และ ๑๐) ปกิณณกกัณฑ์
ส่วนในคัมภีร์โลกนีติ ราชกัณฑ์นี้ ท่านจัดไว้เป็นลำดับ ๖ ในจำนวน ๗ กัณฑ์ คือ ๑) ปัณฑิตกัณฑ์ ๒) สุชนกัณฑ์ ๓) พาลทุชชนกัณฑ์ ๔) มิตตกัณฑ์ ๕) อิตถีกัณฑ์ ๖) ราชกัณฑ์ และ ๗) ปกิณณกกัณฑ์
ในกวิทัปปณนีติ ราชกัณฑ์ ประกอบด้วย ๒๕ คาถา ซึ่งเราจะได้ศึกษากันต่อไปลำดับ เท่าที่กำลังความสามารถทีจะกระทำได้
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen