๒๔๖. เหตุให้มีเพื่อนมาก-เพื่อนน้อย
สีตวาโจ พหุมิตฺโต, ผรุโส อปฺปมิตฺตโก;
อุปมา เอตฺถ ญาตพฺพา, สูริยจนฺทราชูนํฯ
“คนพูดจาอ่อนหวาน มักจะเป็นคนมีเพื่อนมากมาย,
คนพูดจาแข็งกระด้าง มักจะเป็นคนมีเพื่อนน้อย,
ในข้อนี้พึงทราบอุปมาด้วยพระทิตย์และจันทร์เถิด”
(กวิทปฺปณนีติ ๒๔๖, โลกนีติ ๙๓, ธมฺมนีติ ๖๙)
ศัพท์น่ารู้ :
สีตวาโจ: (ผู้มีวาจเย็น, -อ่อนหวาน, สุภาพ) สีตวาจ+สิ วิ. สีตา วาจา ยสฺสาติ สีตวาโจ (ผู้มีวาจาอ่อนหวาน ชื่อว่า สีตวาจ) ฉัฏฐีพหุพพีหิสมาส
พหุมิตฺโต: (ผู้มีมิตรมาก, มีเพื่อนเยอะ) พหุมิตฺต+สิ
ผรุโส: (คนหยาบคาย, แข็ง, กระด้าง) ผรุส+สิ
อปฺปมิตฺตโก: (คนมีเพื่อนน้อย, มีมิตรไม่มาก) อปฺปมิตฺตก+สิ
อุปมา: (การเปรียบเทียบ, อุปมา) อุปมา+สิ อิต.
เอตฺถ: (ในข้อนี้, ในเรื่องนี้) เอต+ถ ลงปัจจัยในอรรถสัตตมีวิภัตติ ด้วยสูตรว่า ตฺร-ถ สตฺตมิยา สพฺพนาเมหิ. (รู ๒๖๖), แปลง เอต เป็น เอ ด้วยสูตรว่า เอ โตเถสุ จ. (รู ๒๖๔) เอ+ถ, ซ้อน ตฺ (อสทิสเทฺวภาวะ) ด้วยสูตรว่า วคฺเค โฆสาโฆสานํ ตติยปฐมา. (รู ๔๒) = เอตฺถ
ญาตพฺพา: (ควรทราบ, ควรรู้) ญาตพฺพา+สิ (ญา+ตพฺพ) ลง ตพฺพ กิจจปัจจัยในกิตก์ หรือ กิพพิธานกัณฑ์ ด้วยสูตรว่า ภาวกมฺเมสุ ตพฺพานียา. (รู ๕๔๕) รวมเป็น ญาตพฺพ, ลง อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์ ด้วยสูตรว่า อิตฺถิยมโต อาปจฺจโย. (รู ๑๗๖) = ญาตพฺพ+อา รวมเป็น ญาตพฺพา, ตั้งเป็นนาม, ลง สิ, ลบ สิ, สำเร็จรูปเป็น ญาตพฺพา. เป็นกัมมวาจก, (บาทคาถานี้จึงแปลว่า อุปมา การเปรียบเทียบ เอตฺถ ในเรื่องนี ปุคฺคเลน อันบุคคล ญาตพฺพา พึงทราบ)
สูริยจนฺทราชูนํ: (แห่งราชาคือพระอาทิตย์และพระจันทน์ ท.) สูริยจนฺทราช+นํ, เพื่อรักษาฉันท์ควรรัสสะเป็น สูริยจนฺทนราชุนํ เหมือนในธัมมนีติ
ในโลกนีติ (โลกนีติ ๙๓) มีศัพท์ในบาทที่ ๓ และบาทที่ ๔ ต่างกันนิดหน่อยดังนี้
สีตวาโจ พหุมิตฺโต,
ผรุโส อปฺปมิตฺตโก;
อุปมํ เอตฺถ ญาตพฺพา,
จนฺทสูริยราชูนํฯ
ส่วนในธัมมนีติ (ธมฺมนีติ ๖๙) มีศัพท์ต่างกันอีกนิดหน่อยเหมือนกัน ดังนี้
สีตวาโจ พหุมิตฺโต,
ผรุโส ตุ อมิตฺตโก;
อุปมํ เอตฺถ ญาตพฺพา,
จนฺทสูริยราชุนํฯ
คนพูดจาแข็งกระด้าง จะเป็นคนมีเพื่อนน้อย หรือไม่มีเพื่อน
เปรียบเหมือนพระอาทิตย์ในตอนกลางวันมีรัสมีรัอนจ้า ไร้บริวารแวดล้อม.
ส่วนคนพูดจานุ่มนวลอ่อนหวานสุภาพ จะเป็นคนมีเพื่อนมาก
เปรียบเหมือนพระจันทร์ในยามราตรีมีรัสมีเย็นสบาย มีหมู่ดาวแวดล้อมนับไม่ถ้วน.
..
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen