Mittwoch, 24. Mai 2023

๑๘๗. การนอนบอกฐานะ

๑๘๗. การนอนบอกฐานะ


เอกยาโม นราธิปฺโป, ทฺวิยาโม ปณฺฑิโต นโร;

ตโย ยาโม ฆราวาโส , จตุยาโม ทุคฺคโต.


พระราชาบรรทมยามเดียว, 

นักปราชญ์นอนเพียงสองยาม,

ชาวบ้านนอนเพียงสามยาม, 

แต่คนเข็ญใจนอนตลอดสี่ยาม.


(ธรรมนีติ ฆราวาสกถา ๑๘๗, โลกนีติ ๑๑๒, กวิทัปปณนีติ ๒๕๔)


--


ศัพท์น่ารู้ :


เอกยาโม (ยามหนึ่ง, ช่วงกาลหนึ่ง, สามชั่วโมง) เอก+ยาม > เอกยาม+โม .

นราธิปฺโป, นราธิโป (ผู้รักษานระ, ผู้เป็นใหญ่แห่งนรชน, พระราชา, พระเจ้าแผ่นดิน) นร+อธิป > นราธิป+สิ 

ทฺวิยาโม (สองยาม, ประมาณ ชั่วโมง) ทฺวิ+ยาม > ทฺวิยาม+สิ

ปณฺฑิโต (บัณฑิต, นักปราชญ์, คนมีปัญญา) ปณฺฑิต+สิ 

นโร (คน,​ นรชน) นร+สิ

ตโย (สาม) ติ+โย = ตโย เป็นพหูพจน์ แต่ในที่วิเสสนะของ ยาโม ซึ่งเป็นเอกพจน์ ถือว่าผิดกติกา ขอยกให้เป็นวจนวิปปลาสก็แล้วกัน. ในโลกนีติ เป็น ติยามํ, ในกวิทัปปณนีติ เป็น ติยาโม ถือว่าถูกต้อง.

ยาโม (สามยาม, ราวเก้าชั่วโมง+นั่นเทียว) ยาโม+เอว

ฆราวาโส (ฆราวาส, คนครองเรือน, ชาวบ้าน) ฆร (เรือน, ​บ้าน)+อาวาส (อยู่ครอง) > ฆราวาส+สิ . 

(ด้วย, และ) นิบาต

จตุยาโม (สี่ยาม, สิบสองชั่วโมง) จตุ+ยาม > จตุยาม+สิ 

ทุคฺคโต (คนยากจน, คนขอทาน, ทุคตชน, คนขี้เกียจ) ทุ+คต > ทุคฺคต+สิ


--


ต่อไปนี้จะได้ยกคาถาเดียวกันนี้จากนีติอื่นมาเปรียบเทียบให้เห็นการใช้ศัพท์ เพื่อความเป็นฉลาดในอักษรต่อไป



โลกนีติ คาถา ๑๑๒ มีใจความเหมือนกัน เพียงแต่ท่านใช้ศัพท์ต่างกันบ้าง และประกอบต่างกันบ้าง พร้อมกันนี้ได้นำคำแปลจากโลกนีติไตรพากย์ (โลกนีติ) ราชกัณฑ์ มาประกอบไว้เพื่อด้วย ดังนี้ 


เอกยามํ สเย ราชา, ทฺวิยามญฺเญว ปณฺฑิโต;

ฆราวาโส ติยามํว, จตุยามํ ตุ ยาจโก.


ท้าวพญาพึงเข้าบรรทมชั่วยามหนึ่ง

บัณฑิตนอนสองยาม

ฆราวาสนอนสามยาม

ยาจกจึงนอนครบสี่ยาม.



กวิทัปปณนีติ คาถา ๒๕๔ มีข้อความว่าดังนี้


เอกยามํ สเย ราชา, ทฺวิยามญฺเญว ปณฺฑิโต;

ฆราวาโส ติยาโมว, จตุยาโม ตุ ยาจโก.


พระราชาบรรทมชั่วหนึ่งยาม, 

บัณฑิตนอนเพียงสองยามนั่นเทียว,

ชาวบ้านคนธรรมดา นอนเพียงสามยามเท่านั้น, 

ส่วนยาจกชน นอนตลอดทั้งสี่ยามเลยทีเดียว.



ยามในที่นี้หมายถึงการแบ่งภาคกลางคืนออกเป็น ส่วนโดยประมาณ ยามหนึ่งเท่ากับ ชั่วโมง อาจจะเป็นช่วงใดช่วงหนึ่งของกลางคืนก็ได้ คนธรรมดานอนประมาณ ชั่วโมง หรือมากกว่านั้น 



ยาม เป็นปุงลิงค์แจกเหมือนปุริสศัพท์ ศัพท์นี้ในปทรูปสิทธิ สูตรที่ ๖๕๒ (ขฺยาทีหิ มนฺ โต วา. แปลว่า ให้ลง มนฺ ปัจจัย หลัง ขี ธาตุเป็นต้น และให้แปลง เป็น ได้บ้าง) แสดงไว้ว่า

ยาโม มาจาก ยา-ปาปเณ+มนฺ+สิ  แต่มิได้แสดงรูปวิเคราะห์ไว้


ส่วนในอภิธาน. ฏีกา คาถา ๗๒ แสดงไว้ว่า ยา ปาปุเณ โม. (ยา-ปาปุเณ ในการถึง + ปัจจัย) โดยให้รูปวิเคราะห์ว่า

อุปยเมติ อโห รตฺติ จาเนน ยาโม, ยมิโต โณฯ ปหาโร เอว ยาโม อิติ สญฺญิโต ยามสญฺญิโตฯ

(ชื่อว่า ยาม เพราะเป็นเหตุให้กลางวันและกลางคืนล่วงไป, ลง ปัจจัยหลัง ยม ศัพท์, กาลที่ถูกรู้ว่า ยาม คือการเคาะ ชือว่า ยามสญฺญิต).


--


อีกสำนวนหนึ่งจาก โลกนีติไตรพากย์ (ธัมมนีติ) ของ เสฐียรโกเศศ-นาคประทีป ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้



ผธมยามเดียวสำหรับท้าวพญา 

นอนสองยามสำหรับนักปราชญ์ 

สามยามสำหรับชาวบ้าน

แต่สี่ยามสำหรับคนเข็ญใจ.


--


อีกสำนวนหนึ่ง จากราชนีติ ธรรมนีติ โดย นายทอง หงศ์ลดารมภ์ (มหากิม) ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้..


ท้าวพระยาบรรทมยามเดียว

นักปราชญ์นอนสองยาม

ชาวบ้านนอนสามยาม

แต่คนเข็ญใจนอนสี่ยามเลย.


--


 

Keine Kommentare: