๒๙๙. อย่าลืมตัว
น ปูชิโต มญฺญมาโน, เมธาวี ปณฺฑิโต นโร;
ผรุสํ ปติมนฺเตยฺย, ราชานํ ปริสํคตํ.
ราชเสวกเมื่อได้รับการยกย่องแล้ว
อย่าถือตัวว่าตนเป็นนักปราชญ์ราชบัณฑิต
ไม่ควรกราบทูลถ้อยคำหยาบกะพระราชา
ขณะเสด็จประทับในเหล่าราชบริษัท.
(ธรรมนีติ ราชเสวกกถา ๒๙๙, ขุ. ชา ๒๘/๙๖๓ วิธุรชาดก)
--
ศัพท์น่ารู้ :
น (ไม่, หามิได้) นิบาต
ปูชิโต (ถูกบูชาแล้ว) √ปูช+อิ+ต > ปูชิต+สิ
มญฺญมาโน (สำคัญหมายอยู่, รู้อยู่) มน+ย+มาน > มญฺญมาน+สิ
เมธาวี (เมธาวี, นักปราชญ์, คนมีปัญญา) เมธา+วี ปัจจัยในตทัสสัตถิตัทธิต > เมธาวี+สิ, วิ. เมธา อสฺส อตฺถีติ เมธาวี (ปัญญาของเขามีอยู่ เหตุนั้น เขา ชื่อว่า เมธาวี - ผู้มีปัญญา)
ปณฺฑิโต (บัณฑิต, คนมีปัญญา) ปณฺฑิต+สิ
นโร (คน, นรชน) นร+สิ
ผรุสํ (หยาบ, แข็งกระด้าง) ผรุส+อํ
ปติมนฺเตยฺย (ปรึกษา, กราบทูล) ปติ+√มนฺต+เณ+เอยฺย จุราทิ. กัตตุ.
ราชานํ (กะพระราชา) ราช+อํ แปลง อํ เป็น อานํ ได้บ้าง ด้วยสูตรว่า พฺรหฺมตฺตสขราชาทิโต อมานํ. (รู ๑๑๕)
ปริสํคตํ (ผู้ไปในหมู่บริษัท, ผู้อยู่ในท่ามราชบริษัท) ปริสา+คต > ปริสํคตํ
--
อีกสำนวนหนึ่งจาก โลกนีติไตรพากย์ (พากย์ธัมมนีติ) ของ เสฐียรโกเศศ-นาคประทีป ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้
คนผู้เป็นบัณฑิตมีเมธา อันท้าวพญาทรงบูชา
นับถือแล้ว ไม่พึงเชื้อเชิญหยาบ ๆ กะท้าวเธอ
ผู้เสด็จถึงที่ประชุม.
--
อีกสำนวนหนึ่ง จากราชนีติ ธรรมนีติ โดย นายทอง หงศ์ลดารมภ์ (มหากิม) ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้..
เป็นราชเสวก ไม่ควรถือตัวว่าเป็นนักปราชญ์ราชบัณฑิต
พระเจ้าอยู่หัวทรงนับถือบูชาแล้วชะล่าใจ
จ้วงจาบเพ็ดทูลถ้อยคำที่หยาบคาย
ขณะที่เสด็จประทับ ณ ราชบบริษัทสมาคมเป็นการทะนงอวดดีจะมีภัย.
--
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen