๘๗. ธรรมดาชีวิตที่ควรเป็น
ปฐเม สิปฺปํ คณฺเหยฺย, เอเสยฺย ทุติเย ธนํ;
จเรยฺย ตติเย ธมฺมํ, เอสา ชนาน ธมฺมตาฯ
“ปฐมวัยควรศึกษาหาความรู้,
มัชฌิมวัยควรแสวงหาทรัพย์;
ปัจฉิมวัยควรประพฤติปฏิบัติธรรม,
นี้เป็นธรรมดาชีวิตของชนทั้งหลาย.“
(กวิทัปปณนีติ หมวดบัณฑิต ๘๗ โลกนีติ ๑๖, นรทักขทีปนี ๑๕)
..
ศัพท์น่ารู้ :
ปฐเม (ที่หนึ่ง) ปฐม+สฺมึ เป็นคำขยาย (วิเสสนะ) ของคำว่า วเย (ในวัย), ปฐเม วเย (ในวัยที่หนึ่ง, ปฐมวัย), ทุติเย วเย (ในวัยที่สอง, มัชฌิมวัย), ตติเย วเย (ในวัยที่สาม, ปัจฉิมวัย) ดังนี้เป็นต้น
สิปฺปํ (ศิลปะ, วิชา, ความรู้) สิปฺป+อํ
คณฺเหยฺย (ถือเอา, เรียน, ศึกษา) √คห+ณฺหา+เอยฺย คหาทิ. กัตตุ.
เอเสยฺย (แสวงหา, ค้นหา, เสาะหา) √เอส+อ+เอยฺย ภูวาทิ. กัตตุ.
ทุติเย (ที่สอง) ทุติย+สฺมึ
ธนํ (ทรัพย์, สิน, ของมีค่า) ธน+อํ
จเรยฺย (ประพฤติ, ปฏิบัติ, ดำเนินไป) √จร+อ+เอยฺย ภูวาทิ. กัตตุ.
ตติเย (ที่สาม) ตติย+สฺมึ
ธมฺมํ (ธรรม) ธมฺม+อํ
เอสา (นั่น) เอต+สิ สัพพนาม
ชนาน (แห่ง-, ของชน ท.) ชน+นํ เพราะ นํ วิภัตติให้ทำทีฆะสระที่อันเป็นที่สุดแห่งศัพท์ด้วยสูตรว่า สุนํหิสุ จ. (รู ๘๗) สำเร็จรูปเป็น ชนานํ, ที่เป็น ชนาน เพราะลบนิคคหิตเพื่อรักษาฉันท์ ได้บ้าง เช่นบาทคาถาว่า อริยสจฺจานํ ทสฺสนํ เป็น อริยสจฺจาน ทสฺสนํ, เอตํ พุทฺธานํ สาสนํ เป็น เอตํ พุทฺธาน สาสนํ เป็นต้น ในเพราะการักษาฉันท์เป็นต้นให้ เพราะพยัญชนะเบื้องหลังเป็นนิมิต ให้ลบนิคคหิตได้บ้าง ด้วยสูตรว่า พฺยญฺชเน จ. (รู ๕๔)
ธมฺมตา (ความเป็นธรรมดา, ความเป็นแห่งธรรม, ชีวิตที่ปกติ) ธมฺมตา+สิ วิ. ธมฺมสฺส ภาโว ธมฺมตา (ความเป็นแห่งธรรม ชื่อว่า ธัมมตา) ธมฺม+ตา ปัจจัยในภาวตัทธิต ลง ตา ปัจจัยด้วยสูตรว่า ณฺยตฺตตา ภาเว ตุ. (รู ๓๘๗) เป็น อิตถีลิงค์ แจกปทมาลาเหมือน กญฺญา (นางสาวน้อย).
..
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen