๙๒. คนไร้มารยาท
อนวฺหายํ คมยนฺโต, อปุจฺฉา พหุภาสโก;
อตฺตคุณํ ปกาสนฺโต, ติวิโธ หีนปุคฺคโลฯ
“เขาไม่เรียก ก็ยังเข้าไปหา ๑,
เขาไม่ถาม ชอบพูดพล่าม ๑;
มักอวดอ้างสรรพคุณตนเอง ๑,
ทั้งสามประเภท จัดว่าเป็นคนเลว.“
(กวิทัปปณนีติ หมวดบัณฑิต ๙๒ โลกนีติ ๓๑, ธัมมนีติ ๑๑๖)
..
ศัพท์น่ารู้ :
อนวฺหายํ (การไม่ร้องเรียก) น+อวฺหาย, อวฺหาย (การเรียก, ชื่อ) = อา+√วฺเห+ณ แปลง เอ เป็น อาย ด้วยการแบ่งสูตร (โยควิภาค) ว่า “เต อาวายา” จากสูตรเต็มว่า “เต อาวายา การิเต” (รู. ๕๔๑) = อา+วฺหาย+ณ, ลบ ณ ปัจจัยด้วยสูตรว่า การิตานํ โณ โลปํ. (รู. ๕๒๖) = อา+วฺหาย,
รัสสะ อา เป็น อ เพราะเป็นสังโยค ด้วยสูตรว่า “รสฺสํ” (รู. ๓๘) = อวฺหาย, ลง สิ แปลง สิ เป็น อํ ด้วยสูตรว่า สึ. (รู. ๑๙๕) = อวฺหายํ (หมายเหตุ : ทำตัวพอเป็นแนวทางครับ อาจไม่เป็นไปตามนี้ก็ได้)
กิริยาอาขยาต = วฺเหติ, วฺหายติ, อวฺเหติ, อวฺหายติ, อวฺหาสิ เป็นต้น
กิริยากิตก์, นามกิตก์ = อวฺหิโต, อวฺหา, อวฺหายนา
ตัวอย่างที่ใช้ เช่น วารณาวฺหยนา รุกฺขา (ต้นไม้ชื่อว่า วารณะ), กุมาโร จนฺทสวฺหโย (พระกุมาร นามว่า จันทะ) เป็นต้น (ที่มา: สัททนีติ ธาตุมาลา ปริจเฉทที่ ๑๖)
คมยนฺโต (ไปอยู่, ไปหา) คมยนฺต+สิ, (มาจาก √คมุ+ณย+อนฺต จุราทิ กัตตุวาจก. มี อา อุปสัคเป็นบทหน้า แปลว่า รอคอยอยู่, ยังกาลให้ผ่านไปหน่อยหนึ่ง มีรูปเป็น อาคมยนฺโต เป็นต้น, อนึ่ง ศัพท์ว่า คมยนฺโต เป็นภูวาทิคณะ เหตุกัตตุวาจก ก็ได้ ให้ตรวจดูความพิศดารในสัททนีติ ธาตุมาลาเถิด)
อปุจฺฉา (ไม่ถูกถาม) น+ปุจฺฉา > อปุจฺฉา+? (ไม่แน่ใจว่าประกอบวิภัตติอะไรดีถึงจะเหมาะสม ขอฝากไว้ก่อน)
พหุภาสโก (คนพูดมาก) พหุ (มาก, หลาย) +ภาสก (คนพูด, ผู้กล่าว) > พหุภาสก+สิ
อตฺตคฺคุณํ (คุณของตน) อตฺต (ตน, ตัวเอง) +คุณ (คุณ, ความดี) > อตฺตคฺคุณ+อํ
ปกาสนฺโต (ประกาศ, อวดอ้าง) ป+กาส+อ+อนฺต > ปกาสนฺต+สิ ในโลกนีติเป็น ปกาเสนฺโต (ประกาศ, โฆษณา), ส่วนในธัมมนีติเป็น ปสํสนฺติ (สรรเสริญ, ยกย่อง).
ติวิธํ (๓ อย่าง, ๓ ประการ) ติ+วิธ > ติวิธ+สิ
หีนลกฺขณํ (ลักษณะคนเลว, -คนต่ำช้า, หีนบุคคล) มาจาก หีน (เลว, ต่ำช้า, ถ่อย) +ลกฺขณ (ลักษณะ, เครื่องหมาย, ที่ให้จดจำ) หีนลกฺขณ+สิ
..
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen