๕๗. ผู้มิใช่บัณฑิต
สเฐน มิตฺตํ กลุเสน ธมฺมํ,
ปโรปตาเปน สมิทฺธิภาวํ;
สุเขน วิชฺชํ ผรุเสน นารึ,
อิจฺฉนฺติ เย เต น เจว ปณฺฑิตา.
ชนเหล่าใดอยากมีมิตรด้วยการโอ้อวด ๑
อยากมีธรรมด้วยการทำชั่ว ๑
อยากมีความสำเร็จด้วยเบียดเบียนคนอื่น ๑
อยากมีวิชาด้วยความมักง่าย ๑ และ
อยากมีภริยาด้วยความหยาบคาย ๑
ชนเหล่านั้นไม่ชื่อว่าเป็นบัณฑิตเลย.
(ธรรมนีติ ปัญญากถา ๕๗, มหารหนีติ ๑๑๒)
--
ศัพท์น่ารู้ :
สเฐน (ฉ้อฉล, ปลอม, โอ้อวด) สฐ+นา
มิตฺตํ (มิตร, เพื่อน) มิตฺต+อํ
กลุเสน (บาป, ความไม่บริสุทธิ์; ขุ่น, สกปรก, ไม่สะอาด) กลุส+นา
ธมฺมํ (ธรรมะ, ความดี) ธมฺม+อํ
ปโรปตาเปน (ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน) ปร+ปตาป > ปโรปตาป+นา ลง โอ อาคมได้บ้าง § กฺวจิ โอ พฺยญฺชเน. (รู ๔๗)
สมิทฺธิภาวํ (ความสำเร็จ, สมิทธิภาวะ, สมิทธิภาพ) สมิทฺธิ+ภาว > สมิทฺธิภาว+อํ
สุเขน (ความสุข, ความสบาย, มักง่าย, สะเพร่า) สุข+นา
วิชฺชํ (วิชา, ความรู้) วิชฺชา+อํ
ผรุเสน (หยาบคาย, กล้าแข็ง, ดุร้าย) ผรุส+นา
นารึ (นารี, สตรี, ผู้หญิง) นารี+อํ
อิจฺฉนฺติ (ปรารถนา, ต้องการ) √อิสุ+อ+อนฺติ ภูวาทิ. กัตตุ. แปลงที่สุดธาตุเป็น จฺฉ ได้บ้าง § อิสุยมูนมนฺโต จฺโฉ วา. (รู ๔๗๖)
เย (เหล่าใด) ย+โย สัพพนาม
เต (เหล่านั้น) ต+โย สัพพนาม
น (ไม่, หามิได้) นิบาตบอกปฏิเสธ
เจว (ก็นั่นเทียว) นิบาต
ปณฺฑิตา (เหล่าบัณฑิต, ผู้มีปัญญา) ปณฺฑิต+โย.
--
อีกสำนวนหนึ่งจาก โลกนีติไตรพากย์ ของ เสฐียรโกเศศ-นาคประทีป ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้
ชนเหล่าใด ต้องการเป็นมิตรโดยวิธีอวดตัว
ต้องการธรรมโดยวิธีลามก ต้องการความ
สำเร็จประโยชน์โดยวิธีให้ผู้อื่นเดือนร้อน
ต้องการวิชาโดยวิธีสะเพร่า ต้องการนางสาว
ด้วยวิธีหยาบคาย ชนเหล่านั้นไม่เป็นบัณฑิตเสียเลย.
--
อีกสำนวนหนึ่ง จากราชนีติ ธรรมนีติ โดย นายทอง หงศ์ลดารมภ์ (มหากิม) ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้...
คนเหล่าใด แสวงหามิตรด้วยวิธีอวดตัว
แสวงหาความเป็นธรรมด้วยวิธีอันลามก
แสวงหาความสำเร็จด้วยวิธีเบียดเบียนคนอื่น
แสวงหาวิชาความรู้ด้วยวิธีสะเพร่า
และแสวงหญิงสาวด้วยวิธีอันหยาบคาย
ผู้นั้นเป็นบัณฑิตไม่ได้เลย.
ปญฺญากถา นิฏฺฐิตา
จบปัญญากถา
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen