๕๖. เห็นอย่างบัณฑิต
ปรทารํ ชเนตฺตึว, เลฑฺฑุํว ปรสนฺตกํ;
อตฺตาว สพฺพสตฺตานํ, โย ปสฺสติ ส ปณฺฑิโต.
ผู้ใดเห็นเมียคนอื่นเป็นเหมือนแม่ผู้ให้กำเนิด
เห็นทรัพย์สมบัติผู้อื่นเป็นเหมือนก้อนดิน
และเห็นสัตว์ทั้งปวงเป็นเหมือนตนเอง
ผู้นั้น ชื่อว่า เป็นบัณฑิต.
(ธรรมนีติ ปัญญากถา ๕๖, มหารหนีติ ๕๘)
--
ศัพท์น่ารู้ :
ปรทารํ (ทาระของผู้อื่น, ภริยาคนอื่น) ปร+ทาร > ปรทาร+อํ
ชเนตฺตึว ตัดบทเป็น ชเนตฺตึ+อิว (ดุจว่าเป็นมารดา, แม่, ผู้ให้กำเนิด) ชเนตฺตี (หญิงผู้ยังบุตรให้เกิด, แม่) ชเนตฺตี+อํ = ชเนตฺตึ, ส่วน อิว ศัพท์เป็นนิบาตบอกอุปมา แปลว่า ดุจ, เหมือน, เพียงดัง.
เลฑฺฑุํว ตัดบทเป็น เลฑฺฑุํ+อิว (ดุจก้อนดิน), เลฑฺฑุ+อํ = เลฑฺฑุํ
ปรสนฺตกํ (ทรัพย์ของผู้อื่น, สมบัติของคนอื่น) ปร+สนฺตก > ปรสนฺตก+อํ
อตฺตาว ตัดบทเป็น อตฺตา+อิว (ดุจว่าตน, เสมือนตัวเอง) อตฺตา ศัพท์นี้ในปทรูปสิทธิ เป็นปฐมา. และอาลปนะ. เอกพจน์, ในหมวดทุติยา. เอกพจน์ มีรูปเป็น อตฺตํ, อตฺตานํ เป็นไปได้ไหมว่า อตฺตาว อาจตัดบทเป็น อตฺตํ+อิว, หรือเขียนได้อีกว่า อตฺตํว จะได้ไหม? ฝากผู้ช่วยกันคิดและเทียบหลักการกันดูนะครับ.
สพฺพสตฺตานํ (สรรพสัตว์ ท.) สพฺพ+สตฺต > สพฺพสตฺต+นํ คิดเอาง่าย ๆ ว่า คงจะสัมพันธ์ฉัฏฐีวิภัตติเป็นกรรม. ส่วนในมหารหนีติ เป็น สพฺพภูตานิ ถือว่าเหมาะสมดีกว่า.
โย (ใด) ย+สิ สัพพนาม
ปสฺสติ (ย่อมเห็น, ย่อมมอง) √ทิส+อ+ติ ภูวาทิ. กัตตุ.
ส = โส (นั้น) ต+สิ > โส สัพพนาม เป็นพยัญชนะสนธิ ลบสระโอ และลง อ อาคม & โลปญฺจ ตตฺรากาโร. (๓๙)
ปณฺฑิโต (บัณฑิต, ผู้มีปัญญา) ปณฺฑิต+สิ
--
อีกสำนวนหนึ่งจาก โลกนีติไตรพากย์ ของ เสฐียรโกเศศ-นาคประทีป ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้
ผู้ใดเห็นภริยคนอื่นเสมือนแม่บังเกิดเกล้า
แลเห็นสมบัติผู้อื่นเสมือนก้อนดิน เห็นสรรพ-
สัตว์เสมือนหนึ่งตนเอง ผู้นั้นเป็นบัณฑิต.
อีกสำนวนหนึ่ง จากราชนีติ ธรรมนีติ โดย นายทอง หงศ์ลดารมภ์ (มหากิม) ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้...
ผู้ใดเห็นภริยาคนอื่น เหมือนแม่บังเกิดเกล้า
เห็นสมบัติผู้อื่นเหมือนก้อนดิน และเห็นสัตว์
อื่นเท่ากับตน ผู้นั้นแลเป็นบัณฑิต.
--
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen