Samstag, 20. März 2021

๕. โกสัมพิกวัตถุ เรื่องภิกษุเมืองโกสัมพี


. โกสมฺพกวตฺถุ ()

.

ปเร  วิชานนฺติ, มยเมตฺถ ยมามเส;

เย ตตฺถ วิชานนฺติ, ตโต สมฺมนฺติ เมธคาฯ

ก็ชนเหล่าอื่นไม่รู้สึกว่า พวกเราย่อมยุบยับในท่ามกลางสงฆ์นี้ 

ส่วนชนเหล่าใดในท่ามกลางสงฆ์นั้น 

ย่อมรู้สึก ความหมายมั่นย่อมระงับจากชนเหล่านั้น. (๑:๖)


. เรื่องภิกษุชาวเมืองโกสัมพี []

 [ข้อความเบื้องต้น]

 พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพวกภิกษุชางเมืองโกสัมพี ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า ปเร จ น วิขานนฺติเป็นต้น. 


[พระวินัยธรกับพระธรรมกถึกถกเถียงกันเรื่องวินัย]

 ความพิสดารว่า ภิกษุ ๒ รูป คือ พระวินัยธรรูป ๑ พระธรรมกถึกรูป ๑ มีบริวารรูปละ ๕๐๐ ได้อยู่ที่โฆสิตาราม ใกล้เมืองโกสัมพี. วันหนึ่ง ในภิกษุ ๒ รูปนั้น พระธรรมกถึก ไปฐานแล้ว เว้นน้ำชำระที่เหลือไว้ในภาชนะ ที่ซุ่มน้ำแล้ว ก็ออกมา. ภายหลัง พระวินัยธรเข้าไปที่ซุ้มน้ำนั้น เห็นน้ำนั้น ออกมาถามพระธรรมกถึกนอกนี้ว่า „ผู้มีอายุ ท่านเหลือน้ำไว้หรือ ? „

ธ. ขอรับ ผู้มีอายุ. 

ว. ก็ท่านไม่รู้ว่าอาบัติ ในเพราะการเหลือน้ำไว้นี้หรือ ? 

ธ. ขอรับ ผมไม่ทราบ. 

ว. ไม่รู้ก็ช่างเถิด ผู้มีอายุ เป็นอาบัติในข้อนี้. 

ธ. ถ้าอย่างนั้น ผมจักทำคืนอาบัตินั้นเสีย. 

ว. ผู้มีอายุ ก็ถ้าว่าข้อนั้นท่านไม่แกล้งทำ เพราะความไม่มีสติ, อาบัติไม่มี. 

พระธรรมกถึกนั้น ได้เป็นผู้มีความเห็นอาบัตินั้นว่ามิใช่อาบัติ. ฝ่ายพระวินัยธร ได้บอกแก่พวกนิสิตของตนว่า พระธรรมกถึกรูปนี้ แม้ต้องอาบัติก็ไม่รู้ พวกนิสิตพระวินัยธรนั้น เห็นพวกนิสิตของพระธรรมกถึกนั้นแล้ว ได้กล่าวว่า พระอุปัชฌาย์ของพวกท่านแม้ต้องอาบัติแล้ว ก็ไม่รู้ว่าเป็นอาบัติ. พวกนิสิตของพระธรรมกถึกนั้น ไปแจ้งแก่พระอุปัชฌาย์ของตนแล้ว. พระธรรมกถึกนั้น พูดอย่างนี้ว่า พระวินัยธรรูปนี้ เมื่อก่อน พูดว่า ไม่เป็นอาบัติ, เดี๋ยวนี้พูดว่า เป็นอาบัติ, พระวินัยธรนั่น พุดมุสา. 


พวกนิสิตของพระธรรมกถึกนั้นไปกล่าวว่า พระอุปัชฌาย์ของพวกท่าน พูดมุสา. พวกนิสิตของพระวินัยธรและพระธรรมกถึกนั้น ทำความทะเลาะกันและกันให้เจริญแล้ว ด้วยประการอย่างนี้. ภายหลัง พระวินัยธรได้โอกาส จึงได้ทำอุกเขปนียกรรมแก่พระธรรมกถึก เพราะโทษที่ไม่เห็นอาบัติ. 


จำเดิมแต่กาลนั้น แม้พวกอุปัฏฐากผู้ถวายปัจจัยของภิกษุ ๒ รูปนั้น ก็ได้เป็น ๒ ฝ่าย. พวกภิกษุณีผู้รับโอวาทก็ดี พวกอารักขเทวดาก็ดี ของภิกษุ ๒ รูปนั้น พวกอากาสัฏฐเทวดา ผู้เพื่อนเห็น เพื่อนคบ ของพวกอารักขเทวดาเหล่านั้นก็ดี พวกปุถุชนทั้งปวงก็ดี ได้เป็น ๒ ฝ่าย ตลอดจนพรหมโลก. ก็โกลาหลกึกก้องเป็นเสียงเดียว ได้ขึ้นไปจนอกนิฏฐภพ. 


[พระศาสดาตรัสสอนให้สามัคคีกัน]

 ครั้งนั้น  ภิกษุรูปหนึ่ง เข้าไปเฝ้าพระตถาคตเจ้า กราบทูลการที่พวกภิกษุผู้ยกวัตรถือว่า พระธรรมกถึกรูปนี้ สงฆ์ยกเสียแล้วด้วยกรรมที่ประกอบด้วยธรรมแท้, และการที่พวกภิกษุผู้ประพฤติตามพระธรรมกถึกผู้ที่สงฆ์ยกเสียแล้วถือว่า พระอุปัชฌาย์ของพวกเรา สงฆ์ยกเสียแล้ว ด้วยกรรมซึ่งมิได้ประกอบด้วยธรรม, และการที่พวกภิกษุผู้ประพฤติตามพระธรรมกถึก ผู้ที่สงฆ์ยกวัตรเหล่านั้น แม้อันพวกภิกษุผู้ยกวัตรห้ามอยู่ ก็ยังขืนเที่ยวตามห้อมล้อมพระธรรมกถึกนั้น. 


พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงส่งโอวาทไปว่า นัยว่า ภิกษุทั้งหลายจงพร้อมเพรียงกัน ถึง ๒ ครั้ง ทรงสดับว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุทั้งหลายไม่ปรารถนาจะเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน, ครั้นหนที่ ๓ ทรงสดับว่า ภิกษุสงฆ์แตกกันแล้ว ภิกษุสงฆ์แตกกันแล้ว ดังนี้จึงเสด็จไปสู่สำนักของเธอทั้งหลายแล้วตรัสโทษในการยกวัตรของพวกภิกษุยกวัตร และโทษในการไม่เห็นอาบัติของภิกษุนอกนี้แล้ว ทรงอนุญาตสังฆกรรมทั้งหลายมีอุโบสถเป็นต้น ในสีมาเดียวกันที่โฆสิตารามนั่นเอง แก่เธอทั้งหลายอีกแล้ว, 


ทรงบัญญัติวัตรในโรงฉันว่า „ภิกษุทั้งหลาย พึงนั่งในแถวมีอาสนะหนึ่ง ๆ ในระหว่าง ๆ „ ดังนี้เป็นต้น แก่เธอทั้งหลาย ผู้เกิดการแตกร้าวในสถานทั้งหลาย มีโรงฉันเป็นต้นแล้วทรงสดับว่า ถึงเดี๋ยวนี้ ภิกษุทั้งหลาย ก็ยังเกิดการแตกร้าวกันอยู่ จึงเสด็จไปที่โฆสิตารามนั้นแล้วตรัสห้ามว่าอย่าเลย ภิกษุทั้งหลาย พวกท่านอย่าได้ทำการแตกร้าวกัน“ ดังนี้ เป็นต้นแล้วตรัสว่า „ภิกษุทั้งหลาย ขึ้นชื่อว่าการแตกร้าว การทะเลาะ การแก่งแย่งและการวิวาทนั่น ทำความฉิบหายให้, แท้จริงแม้นางนกลฏุกิกา อาศัยการทะเลาะกัน ยังอาจทำพระยาช้างให้ถึงความสิ้นชีวิต“ ดังนี้, แล้วตรัสลฏุกิกชาดกแล้วตรัสว่า „ภิกษุทั้งหลายขอพวกท่านพร้อมเพรียงกันเถิด อย่าวิวาทกันเลย, เพราะว่า แม้นกกระจาบตั้งหลายพันอาศัยความวิวาทกัน ได้ถึงความสิ้นชีวิต“, ดังนี้แล้วตรัสวัฏฏกชาดก.


 [ตรัสสอนเท่าไรก็ไม่เชื่อ]

 แม้อย่างนี้ พวกภิกษุนั้นก็ไม่เชื่อถือถ้อยคำ, เมื่อภิกษุผู้เป็นธรรมวาทีรูปใดรูปหนึ่ง ไม่พอใจให้พระตถาคตเจ้าทรงลำบาก กราบทูลว่า „ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาค ผู้เจ้าของแห่งธรรมทรงรอก่อน, ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีความขวนขวายน้อย หมั่นประกอบธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรมอยู่เถิด, พวกข้าพระองค์จักปรากฏ เพราะการแตกร้าวการทะเลาะการแก่งแย่ง และการวิวาทนั่นเอง“, 


พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเล่าถึงความที่พระเจ้าทีฆีติโกศลราช ถูกพระเจ้าพรหมทัต ชิงเอาราชสมบัติปลอมเพศไม่ให้ใครรู้จักเสด็จอยู่ (ในเมืองพาราณสี) ถูกจับปลงพระชนม์เสีย และความที่พระเจ้าพรหมทัต และทีฆาวุกุมารเหล่านั้นพร้อมเพรียงกัน จำเดิมแต่เมื่อทีฆาวุกุมารยกพระชนม์ของพระองค์ถวายว่า „ภิกษุทั้งหลาย เรื่องนี้ได้เคยมีแล้ว ในเมืองพาราณสี ได้มีพระเจ้ากรุงกาสี (พระองค์หนึ่ง) ทรงพระนามว่าพรเจ้าพรหมทัต“ ดังนี้เป็นต้น, 


แม้ตรัสสอนว่า "ภิกษุทั้งหลาย ความอดกลั้นและความสงบเสงี่ยม เห็นปานนั้น ยังได้มีแล้วแก่พระราชาเหล่านั้น ผู้มีไม้อันถือไว้แล้ว ผู้มีศัสตราอันถือไว้แล้ว, ข้อที่ท่านทั้งหลายผู้บวชแล้วในธรรมวินัยที่กล่าวชอบแล้วอย่างนี้ ควรเป็นผู้อดกลั้นเป็นผู้สงบเสงี่ยม, จะพึงงามในธรรมวินัยนี้แล ภิกษุทั้งหลาย“ ดังนี้แล้ว ก็ไม่สามารถจะทำเธอทั้งหลาย ให้พร้อมเพรียงกันได้เลย. 


[พระศาสดาทรงระอาจึงเสด็จหนีไปจำพรรษาอยู่ป่ารักขิตวัน]

 พระองค์ทรงระอาพระทัย เพราะมีความอยู่อาเกียรนั้น ทรงพระดำริว่า „เดี๋ยวนี้เราอยู่อาเกียรเป็นทุกข์, และภิกษุเหล่านี้ไม่ทำ (ตาม)คำของเรา ถ้าอย่างไร เราพึงหลีกออกจากหมู่อยู่ผู้เดียว“ ดังนี้, เสด็จเที่ยวบิณฑบาตในเรื่องโกสัมพี ไม่ตรัสบอกพระภิกษุสงฆ์ ทรงถือบาตรจีวรของพระองค์ เสด็จไปพาลโลณการาม แต่พระองค์เดียวตรัสเอาจริกวัตร แก่พระภคุเถระที่พาลกโลณการามนั้นแล้วตรัสอานิสงส์แห่งสามัคคีรสแก่กุลบุตร ๓ คน ในมิคทายวัน ชื่อปาจีนวังสะแล้ว เสด็จไปทางบ้านปาริเลยยกะ. 


ดังได้สดับมา ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงอาศัยบ้านปาริเลยยกะ เสด็จจำพรรษาอยู่ที่ควงไม้สาละใหญ่ ในราวป่ารักขิตวัน อันช้างปาริเลยกะอุปัฏฐากอยู่เป็นผาสุก. 


[พวกอุบาสกทรมานภิกษุ]

 ฝ่ายพวกอุบาสก ผู้อยู่ในเมืองโกสัมพีแล ไปสู่วิหาร ไม่เห็นพระศาสดา จึงถามว่า „พระศาสดาเสด็จอยู่ที่ไหน ? ขอรับ“. ภิกษุเหล่านั้นกล่าวว่า „พระองค์ทรงเสด็จไปสู่ราวป่าปาริเลยยกะเสียแล้ว“. 

อุ. „เพราะเหตุอะไร ? ขอรับ“. 

ภ. „พระองค์ทรงพยายามจะทำพวกเราให้พร้อมเพรียงกัน, แต่พวกเราหาได้เป็นผู้พร้อมเพรียงกันไม่“. 

อุ. „ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ท่านทั้งหลายบวชใจสำนักของพระศาสดาแล้ว, ถึงเมื่อพระองค์ทรงทำสามัคคี, ไม่ได้เป็นผู้สามัคคีกันแล้วหรือ ?“

ภ. „อย่างนั้นแล ผู้มีอายุ". 

พวกมนุษย์คิดกันว่า „ภิกษุพวกนี้ บวชในสำนักของพระศาสดาแล้ว, ถึงเมื่อพระองค์ทรงทำสามัคคีอยู่, ก็ไม่สามัคคีกันแล้ว, พวกเราไม่ได้เห็นพระศาสดา เพราะอาศัยภิกษุพวกนี้, พวกเราจักไม่ถวายอาสนะ จักไม่ทำสามีจิกรรมมีการไหว้เป็นต้นแก่ภิกษุพวกนั้น. 


จำเดิมแต่นั้นมา ก็ไม่ทำแม้สักว่าสามีจิกรรมแก่ภิกษุพวกนั้น. เธอทั้งหลายซูบซีดเพราะมีอาหารน้อย, โดยสองสามวันเท่านั้นก็เป็นคนตรง แสดงโทษที่ล่วงเกินแก่กันและกัน ต่างรูปต่างขอขมากันแล้วกล่าวว่า „อุบาสกทั้งหลาย พวกเราพร้อมเพรียงกันแล้ว, ฝ่ายพวกท่าน ขอให้เป็นพวกเราเหมือนกันอย่างก่อน“. 

อุ. „พวกท่านทูลขมาพระศาสดาแล้วหรือ ? ขอรับ“. 

ภ. „ยังไม่ได้ทูลขอขมา ผู้มีอายุ“. 

อุ. „ถ้าอย่างนั้น ขอพวกท่านทูลขอขมาพระศาสดาเสีย, ฝ่ายพวกข้าพเจ้าจักเป็นพวกท่านเหมือนอย่างก่อน ในกาลเมื่อพวกท่านทูลขอขมาพระศาสดาแล้ว“. เ


ธอทั้งหลายไม่สามารถจะไปสู่สำนักของพระศาสดา เพราะเป็นภายในพรรษา ยังภายในพรรษานั้น ให้ล่วงไปได้ด้วยยาก. 


[ช้างปาริเลยยกะอุปัฏฐากพระศาสดา]

 ฝ่ายพระศาสดา อันช้างนั้นอุปัฏฐากอยู่ ประทับอยู่สำราญแล้ว. ฝ่ายช้างนั้น ละฝูงเข้าไปสู่ราวป่านั้น เพื่อต้องการความอยู่ผาสุก. พระธรรมสังคาหกาจารย์กล่าวไว้อย่างไร ? พระธรรมสังคาหกาจารย์กล่าวไว้ว่า (ครั้งนั้น  ความตริได้มีแก่พระยาช้างนั้นว่า) „เราอยู่อาเกียรด้วยพวกช้างพลาย ช้างพัง ช้างสะเทินและลูกช้าง เคี้ยวกินหญ้าที่เขาเด็ดปลายเสียแล้ว, และเขาคอยเคี้ยวกินกิ่งไม้ที่เราหักลง ๆ และเราดื่มน้ำที่ขุ่น, เมื่อเราลงและขึ้นสู่ท่าแล้ว พวกช้างพังก็เดินเสียดสีกายไป, ถ้าอย่างไร เราจะหลีกออกจากหมู่อยู่ตัวเดียว“. 


ครั้งนั้นแลพระยาช้างนั้น หลีกออกจากโขลง เข้าไป ณ บ้านปาริเลยยกะ ราวป่ารักขิตวัน ควงไม้สาละใหญ่ (และ) ที่พระผู้มีพระภาคเจ้า แลดูอยู่แล้ว, ก็และครั้นเข้าไปแล้ว ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จอยู่ไม่เห็นวัตถุอะไร ๆ อื่น จึงกระทืบควงไม้สาละใหญ่ด้วยเท้า ถาก (ให้เรียบ) ถือกิ่งไม้ด้วยงวงกวาด. 


ตั้งแต่นั้นมา พระยาช้างนั้นจับหม้อ ด้วยงวง ตักน้ำฉันน้ำใช้มาตั้งไว้, เมื่อทรงพระประสงค์ด้วยน้ำร้อน, ก็จัดน้ำร้อนถวาย. พระยาช้างนั้นจัดน้ำร้อนได้อย่างไร ? พระยาช้างนั้นสีไม้แห้งด้วยงวงให้ไฟเกิด, ใส่ฟืนให้ไฟลุกขึ้น เผาศิลาในกองไฟนั้นแล้ว กลิ้งก้อนศิลาเหล่านั้นไปด้วยท่อนไม้ ทิ้งลงในสะพังน้อยที่ตัวกำหนดหมายไว้, ลำดับนั้น หย่อนงวงลงไป รู้ว่าน้ำร้อนแล้ว, จึงไปถวายบังคมพระศาสดา. 


พระศาสดาตรัสว่า „ปาริเลยยกะ น้ำเจ้าต้มแล้วหรือ ?“ ดังนี้แล้ว เสด็จไปสรงในที่นั้น. ในกาลนั้น พระยาช้างนั้นนำผลไม้ต่างอย่างถวายแด่พระศาสดา. ก็เมื่อพระศาสดาจะเสด็จเข้าบ้านเพื่อบิณฑบาต พระยาช้างนั้นถือบาตรจีวรวางไว้บนตระพอง ตามเสด็จพระศาสดาไป. 


พระศาสดาเสร็จถึงแดนบ้านแล้วรับสั่งว่า „ปาริเลยยกะ ตั้งแต่ที่นี้ เจ้าไม่อาจไปได้, เจ้าจงเอาบาตรจีวรของเรามา“ ดังนี้แล้ว ให้พระยาช้างนั้นเอาบาตรจีวรมาถวายแล้วเสด็จเข้าบ้านเพื่อบิณฑบาต. ส่วนพระยาช้างนั้นยืนอยู่ที่นั้นเอง จนกว่าพระศาสดาจะเสด็จออกมา ในเวลาพระศาสดาเสด็จมา ทำการต้อนรับแล้ว ถือบาตรจีวรโดยนัยก่อน (นำไป) ปลง ณ ที่ประทับอยู่แล้ว ถวายงานพัดด้วยกิ่งไม้ แสดงวัตรอยู่. 


ในราตรี พระยาช้างนั้นถือท่อนไม้ใหญ่ด้วยงวง เที่ยวไปในระหว่าง ๆ แห่งราวป่ากว่าอรุณจะขึ้น เพื่อกันอันตรายอันจะมีแต่เนื้อร้าย ด้วยตั้งใจว่า จักรักษาพระศาสดา. ได้ยินว่า ราวป่านั้นชื่อว่ารักขิตวันสัณฑะ จำเดิมแต่กาลนั้นมา. ครั้นอรุณขึ้นแล้ว, พระยาช้างนั้นทำวัตรปวง โดยอุบายนั้นนั่นแล ตั้งต้นแต่ถวายน้ำสรงพระพักตร์. 


[วานรถวายรวงน้ำผึ้ง]

 ในกาลนั้น วานรตัวหนึ่ง เห็นช้างนั้นลุกขึ้นแล้ว ๆ ทำอภิสมาจาริกวัตร (คือการปฏิบัติ) แด่พระตถาคตเจ้าแล้ว คิดว่า เราก็จักทำอะไร ๆ ถวายบ้าง เที่ยงไปอยู่, วันหนึ่ง เห็นรวงผึ้งที่กิ่งไม้หาตัวมิได้ หักกิ่งไม้แล้ว นำรวงผึ้งพร้อมทั้งกิ่งไม้ไปสู่สำนักพระศาสดาได้เด็ดใบตองรองถวาย. พระศาสดาทรงรับแล้ว. 


วานรแลดูอยู่ ด้วยคิดว่า „พระศาสดาจักทรงทำบริโภคหรือไม่ ?" เห็นพระศาสดาทรงรับแล้วนั่งเฉยอยู่ คิดว่า „อะไรหนอแล?“ จึงจับปลายกิ่งไม้พลิกพิจารณาดู เห็นตัวอ่อนแล้ว จึงค่อย ๆ นำตัวอ่อนเหล่านั้นออกเสียแล้ว จึงได้ถวายใหม่. 


พระศาสดาทรงบริโภคแล้ว. วานรนั้นมีใจยินดี ได้จับกิ่งไม้นั้น ๆ ยืนฟ้อนอยู่. ในกาลนั้น กิ่งไม้ที่วานรนั้นจับแล้วก็ดี กิ่งไม้ที่วานรนั้นเหยียบแล้วก็ดี หักแล้ว. วานรนั้นตกลงที่ปลายตออันหนึ่ง มีตัวอันปลายตอแทงแล้ว มีจิตเสื่อมใส ทำกาลกิริยาแล้ว เกิดในวิมานทองสูง ๓๐ โยชน์ ในภพดาวดึงส์ มีนางอัปสรพันหนึ่งเป็นบริวาร. 


[พระยาช้างสังเกตดูวัตรพระอานนท์]

 การที่พระตถาคตเจ้า อันพระยาช้างอุปัฏฐาก ประทับอยู่ในราวป่ารักขิตวันนั้น ได้ปรากฏในชมพูทวีปทั้งสิ้น. ตระกูลใหญ่ ๆ คือท่านเศรษฐีอนาถบิณฑิกะ และนางวิสาขามหาอุบาสิกา อย่างนี้เป็นต้น ได้ส่งสาส์นจากนครสาวัตถี ไปถึงพระอานนทเถระว่า „ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอท่านจงแสดงพระศาสนาแก่พวกข้าพเจ้า“. 


ฝ่ายภิกษุ ๕๐๐ รูปผู้อยู่ในทิศ จำพรรษาแล้ว เข้าไปหาพระอานนทเถระ วอนขอว่า „อานนท์ผู้มีอายุ ธรรมีกถาในที่เฉพาะพระพักตร์แห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพเจ้าทั้งหลายได้ฟังนานมาแล้ว, อานนท์ผู้มีอายุ ดีละ ข้าพเจ้าทั้งหลาย พึงได้ฟังธรรมีกถาในที่เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้าเถิด“. 


พระเถระพาภิกษุเหล่านั้นไป ณ ที่นั้นแล้ว คิดว่า „การเข้าไปสู่สำนักพระตถาคตเจ้า ผู้เสด็จอยู่พระองค์เดียว ตลอดไตรมาส พร้อมกับภิกษุมีประมาณถึงเท่านี้ หาควรไม่“ ดังนี้แล้วจึงพักภิกษุเหล่านั้นไว้ข้างนอกแล้ว เข้าไปเฝ้าพระศาสดาแต่รูปเดียวเท่านั้น. 

พระยาช้างปาริเลยยกะ เห็นพระอานนทเถระนั้นแล้ว ถือท่อนไม้วิ่งไป. พระศาสดาทอดพระเนตรเห็นแล้วตรัสว่า „หลีกไปเสีย ปาริเลยยกะ อย่าห้ามเลย, ภิกษุนั่น เป็นพุทธอุปัฏฐาก“. 


พระยาช้างปาริเลยยกะนั้น ทิ้งท่อนไม้เสียในที่นั้นเองแล้ว ได้เอื้อเฟื้อถึงการรับบาตรจีวร. พระเถระมิได้ให้แล้ว. พระยาช้างได้คิดว่า „ถ้าภิกษุรูปนี้จักมีวัตรอันได้เรียนแล้ว. ท่านคงจักไม่วางบริขารของตนไว้บนแผ่นศิลาที่ประทับของพระศาสดา“. พระเถระได้วางบาตรจีวรไว้ที่พื้นแล้ว. 


[ไม่ได้สหายที่มีปัญญาเที่ยวไปผู้เดียวประเสริฐกว่า]

 จริงอยู่ ชนผู้ถึงพร้อมแล้วด้วยวัตร ย่อมไม่วางบริขารของตนไว้บนที่นั่งหรือบนที่นอนของครู. พระยาช้างนั้น เห็นอาการนั้น ได้เป็นผู้มีจิตเสื่อมใสแล้ว. พระเถระอภิวาทพระศาสดาแล้ว นั่ง ณ ที่ส่วนข้างหนึ่ง. 

พระศาสดาตรัสถามว่า „อานนท์ เธอมาผู้เดียวเท่านั้น หรือ ?“ ทรงสดับความที่พระเถระเป็นผู้มาพร้อมกับภิกษุ ๕๐๐แล้วตรัสว่า „ก็ภิกษุเหล่านั้น อยู่ที่ไหน ?“ เมื่อพระเถระทูลว่า „ข้าพระองค์ไม่ทราบน้ำพระทัยของพระองค์ จึงพักเธอทั้งหลายไว้ข้างนอกมาแล้ว (แต่รูปเดียว)“, ตรัสว่า „เรียกเธอทั้งหลายมาเถิด“ พระเถระได้ทำตามรับสั่งแล้ว. 


ภิกษุเหล่านั้นมาถวายบังคมพระศาสดาแล้วนั่ง ณ ที่ส่วนข้างหนึ่ง. พระศาสดาทรงทำปฏิสันถารกับเธอทั้งหลายแล้ว, เมื่อภิกษุเหล่านั้นทูลว่า „ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นพระพุทธเจ้าอันสุขุม และเป็นกษัตริย์อันสุขุม พระองค์เสด็จยืนและประทับนั่งพระองค์เดียวตลอดไตรมาส ทำกิจที่ทำได้ด้วยยาก, ผู้ทำวัตรและปฏิวัตรก็ดี ผู้ถวายน้ำสรงพระพักตร์ก็ดี ชะรอยจะมิได้แล้ว“, 


ตรัสว่า „ภิกษุทั้งหลาย กิจทั้งปวงของเรา อันพระยาช้างปาริเลยยกะทำแล้ว ก็อันบุคคลผู้ได้สหายเห็นปานนี้ อยู่ด้วยกันควรแล้ว, เมื่อไม้ได้สหาย (เห็นปานนี้) ความเป็นผู้เที่ยวไปผู้เดียวเท่านั้นประเสริฐกว่า“ ดังนี้แล้ว ได้ภาษิต ๓ คาถาในนาควรรคเหล่านี้ว่า :- 


(๑) „ถ้าบุคคลได้สหายผู้มีปัญญารักษาตน มีปัญญา ทรงจำ มีคุณธรรมเป็นเครื่องอยู่ยังประโยชน์ให้ สำเร็จ ไว้เป็นผู้เที่ยวไปด้วยกันไซร้, (บุคคลผู้ได้ สหายเห็นปานนั้น) ควรมีใจยินดี มีสติ ครอบงำ อันตราย ซึ่งคอยเบียดเบียนรอบข้าง ทั้งปวงเสียแล้ว เที่ยวไปกับสหายนั้น, 


(๒) „ถ้าบุคคลไม่ได้สหาย ผู้มีปัญญารักษาตน มีปัญญาทรงจำ มีคุณธรรม เป็นเครื่องอยู่ยังประโยชน์ให้สำเร็จ ไว้เป็นผู้เที่ยว ไปด้วยกันไซร้, บุคคลนั้นควรเที่ยวไปคนเดียว เหมือนพระราชาผู้ละแว่นแคว้นที่พระองค์ทรงชำนะ และ เสด็จอยู่แต่องค์เดียว, (และ) เหมือนพระยาช้างอันชื่อว่ามาตังคะเที่ยวอยู่ในป่าแต่เชือกเดียว, 


(๓) „การเที่ยวไปผู้เดียวประเสริฐกว่า ความเป็นสหาย ไม่มีในเพราะชนพาล, บุคคลผู้ไม่ได้สหายเห็น ปานนั้น ควรมีความขวนขวายน้อย เที่ยวไปผู้เดียว และไม่ควรทำบาปทั้งหลาย, เหมือนพระยา ช้างชื่อมาตังคะผู้มีความขวนขวายน้อย เที่ยวไปใน ป่าแต่เชือกเดียว และหาได้ทำบาปไม่.


ในกาลจบคาถา ภิกษุเหล่านั้นทั้ง ๕๐๐ รูป ตั้งอยู่ในพระอรหัตแล้ว. พระอานนทเถระกราบทูลสาส์นที่ตระกูลใหญ่ ๆ มีท่านเศรษฐีอนาถบิณฑิกะเป็นต้นส่งมาแล้ว กราบทูลว่า „ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญอริยสาวก ๕ โกฏิ มีท่านเศรษฐีอนาถบิณฑิกะเป็นหัวหน้า หวังความเสด็จมาของพระองค์อยู่“. 


พระศาสดาตรัสว่า „ถ้าอย่างนั้นเธอจงรับบาตรจีวร“ ดังนี้แล้ว ให้พระเถระรับบาตรจีวรแล้ว เสด็จออไป. พระยาช้างได้ไปยืนขวางทางไว้. 


ภิกษุทั้งหลายเห็นดังนั้น ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระยาช้างทำอะไร ?“. 

พระศาสดาตรัสว่า „ภิกษุทั้งหลาย ช้างหวังจะถวายภิกขาแก่เธอทั้งหลาย, ก็แลช้างนี้ได้ทำอุปการะแก่เราตลอดราตรีนาน, การยังจิต ของช้างนี้ให้ขัดเคืองไม่ควร, ภิกษุทั้งหลาย ขอเธอทั้งหลายกลับเถิด“. 


พระศาสดาทรงพาภิกษุทั้งหลายเสด็จกลับแล้ว. ฝ่ายช้างเข้าไปสู่ราวป่าแล้ว รวบรวมผลไม้ต่าง ๆ มีผลขนุนและกล้วยเป็นต้นมาทำให้เป็นกองไว้. 


ในวันรุ่งขึ้น ได้ถวายแก่ภิกษุทั้งหลาย. ภิกษุ ๕๐๐ รูปไม่อาจฉันผลไม้ทั้งหลายให้หมดสิ้น. ในกาลเสร็จภัตกิจ พระศาสดาทรงถือบาตรจีวรเสด็จออกไปแล้ว. พระยาช้างไปตามระหว่าง ๆ แห่งภิกษุทั้งหลาย ยืนขวางพระพักตร์พระศาสดาไว้. 


ภิกษุทั้งหลายเห็นดังนั้น ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า „ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ช้างนี้ทำอะไร ?“

ศ. „ภิกษุทั้งหลาย ช้างนี้จะส่งพวกเธอไปแล้ว ชวนให้เรากลับ“. 

ภ. „อย่างนั้นหรือ ? พระองค์ผู้เจริญ“. 

ศ. „อย่างนั้น ภิกษุทั้งหลาย“. 


[ช้างทำกาละไปเกิดเป็นเทพบุตร]


 ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสกะช้างนั้นว่า „ปาริเลยยกะ นี้ความไปไม่กลับของเรา, ฌานก็ดี วิปัสสนาก็ดี มรรคและผลก็ดี ย่อมไม่มีแก่เจ้าด้วยอัตภาพนี้, เจ้าหยุดอยู่เถิด“. 


พระยาช้างได้ฟังรับสั่งดังนั้นแล้ว ได้สอดงวงเข้าปากร้องไห้ เดินตามไปข้างหลัง ๆ. ก็พระยาช้างนั้น เมื่อเชิญพระศาสดาให้กลับได้ พึงปฏิบัติโดยอาการนั้นแลจนตลอดชีวิต. 


ฝ่ายพระศาสดาเสด็จถึงแดนบ้านนั้นแล้วตรัสว่า „ปาริเลยยกะ จำเดิมแต่นี้ไป มิใช่ที่ของเจ้า, เป็นที่อยู่ของหมู่มนุษย์ มีอันตรายเบียดเบียนอยู่รอบข้าง, เจ้าจงหยุดอยู่เถิด“. 


ช้างนั้นยืนร้องไห้ อยู่ในที่นั้น, ครั้นเมื่อพระศาสดาทรงละคลองจักษุไป, มีหัวใจแตกทำกาละแล้ว เกิดในท่ามกลางนางเทพอัปสรพันหนึ่ง ในวิมานทองสูง ๓๐ โยชน์ ในภพดาวดึงส์ เพราะความเสื่อมใสในพระศาสดา. ชื่อของเทพบุตรนั้นว่า ปาริเลยยกเทพบุตร. ฝ่ายพระศาสดาได้เสด็จถึงพระเชตวันแล้วโดยลำดับ. 


[ภิกษุชาวเมืองโกสัมพีทูลขอขมาพระศาสดา]


 ภิกษุชาวเมืองโกสัมพี สดับว่า „ได้ยินว่า พระศาสดาเสด็จถึงกรุงสาวัตถีแล้ว“, ได้ไป ณ ที่นั้นเพื่อจะกราบทูลขอขมาพระศาสดา. 

พระเจ้าโกศล ทรงสดับว่า „ได้ยินว่า พวกภิกษุชาวเมืองโกสัมพีผู้ก่อการแตกร้าวเหล่านั้นมาอยู่ จึงเข้าไปเฝ้าพระศาสดา ทูลว่า „ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อนฉันจักไม่ยอมให้ภิกษุเหล่านั้นเข้ามาสู่แว่นแคว้นของหม่อนฉัน". 


พระศาสดาตรัสตอบว่า „ดูก่อนมหาราช ภิกษุเหล่านั้นเป็นผู้ศีล, แต่ไม่ถือเอาคำของอาตมภาพ เพราะวิวาทกันและกันเท่านั้น, บัดนี้ เธอทั้งหลายมาเพื่อขอขมาอาตมภาพ, ดูก่อนมหาราช ขอภิกษุเหล่านั้นจงมาเถิด“. 


ฝ่ายท่านเศรษฐีอนาถบิณฑิกะ ทูลว่า „ข้าแต่พระองค์ผู้เจริฐข้าพระองค์จักไม่ยอมให้ภิกษุเหล่านั้นเข้ามาสู่วิหาร“ ดังนี้แล้ว ถูกพระศาสดาทรงห้ามเสียเหมือนอย่างนั้น ได้นิ่งแล้ว. ก็เมื่อภิกษุเหล่านั้น ถึงกรุงสาวัตถีโดยลำดับแล้ว. 


พระผู้มีพระภาคเจ้า รับสั่งให้ประทานเสนาสนะ ณ ส่วนข้างหนึ่ง ทำให้เป็นที่สงัดแก่เธอทั้งหลาย. ภิกษุเหล่าอื่นไม่นั่ง ไม่ยืน ร่วมกับภิกษุพวกนั้น. 


พวกชนผู้มาแล้ว ๆ ทูลถามพระศาสดาว่า „ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกไหน ภิกษุชาวเมืองโกสัมพี ผู้ก่อการแตกร้าวเหล่านั้น?“ พระศาสดาทรงแสดงว่า „พวกนั้น“. 


ภิกษุชาวเมืองโกสัมพีเหล่านั้น ถูกพวกชนผู้มาแล้ว ๆ ชี้นิ้วว่า ได้ยินว่า นั่นพวกภิกษุชาวเมืองโกสัมพี ผู้ก่อการแตกร้าวเหล่านั้น ได้ยินว่า นั่นพวกภิกษุชาวเมืองโกสัมพี ผู้ก่อนการแตกร้าวเหล่านั้น ดังนี้ ไม่อาจยกศีรษะขึ้น เพราะความอาย ฟุบลงแทบบาทมูลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า ทูลขอขมาพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว. 


พระศาสดาตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายทำกรรมหนักแล้ว, ชื่อว่าเธอทั้งหลายแม้บวชแล้วในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้เช่นเรา, เมื่อเราทำความสามัคคีอยู่, ไม่ทำ (ตาม) คำของเรา, ฝ่ายบัณฑิตอันมีในปางก่อน สดับโอวาทของมารดาและบิดาผู้ต้องประหารชีวิต, เมื่อบิดามารดานั้นแม้ถูกปลงชีวิตอยู่, ก็ไม่ล่วงโอวาทนั้น ภายหลังได้ครองราชสมบัติใน ๒ แว่นแคว้น ดังนี้แล้วตรัสทีฆาวุกุมารชาดก อีกเหมือนกันแล้วตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ทีฆาวุกุมาร ถึงเมื่อพระชนนีและพระชนกถูกปลงชีวิตอยู่, ก็ไม่ล่วงโอวาทนั้น ภายพระชนนีและพระชนกเหล่านั้นแล้ว ภายหลังได้ธิดาของพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติในแว่นแคว้นกาสีและแว่นแคว้นโกศลทั้ง ๒ แล้ว, ส่วนพวกเธอทั้งหลายไม่ทำ (ตาม) คำของเรา ทำกรรมหนัก ดังนี้แล้วตรัสพระคาถานี้ว่า :- 


ก็ชนเหล่าอื่นไม่รู้ตัวว่า พวกเราพากันย่อยยับ อยู่ในท่ามกลางสงฆ์นี้ ฝ่ายชนเหล่าใดในหมู่นั้น ย่อมรู้ชัด, ความหมายมั่นกันและกัน ย่อมสงบ เพราะการปฏิบัติของชนพวกนั้น. 

[แก้อรรถ]

 บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปเร เป็นต้น ความว่า เหล่าชนผู้ทำความแตกร้าว ยกบัณฑิตทั้งหลายเสีย คือ พวกอื่นจากบัณฑิตนั้นชื่อว่าชนพวกอื่น, ชนพวกอื่นนั้น ทำความวุ่นวายอยู่ในท่ามกลางสงฆ์นั้น ย่อมไม่รู้สึกตัวว่า เราทั้งหลาย ย่อมย่อยยับ คือป่นปี้ ฉิบหายได้แก่ ไปสู่ที่ใกล้ คือสำนักมฤตยูเป็นนิตย์.

บาทพระคาถาว่า เย จ ตตฺถ วิชานนฺติ ความว่า ชนเหล่าใดผู้เป็นบัณฑิตในหมู่นั้น ย่อมรู้สึกตัวว่า เราทั้งหลายไปสู่ที่ใกล้มฤตยู.

บาทพระคาถาว่า ตโต สมฺมนฺติ เมธคา ความว่า ชนเหล่านั้นรู้อยู่อย่างนี้แล ยังการทำความในใจโดยอุบายที่ชอบให้เกิดขึ้นแล้วย่อมปฏิบัติเพื่อความสงบความหมายมั่น คือความทะเลาะกัน, เมื่อเป็นเช่นนั้น ความหมายมั่นเหล่านั้นย่อมสงบ เพราะความปฏิบัตินั้นของบัณฑิตเหล่านั้น. 


อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบอธิบายในพระคาถานี้ อย่างนี้ว่า คำว่าปเร จ เป็นต้น ความว่า ชนทั้งหลาย แม้อันเรา (ตถาคต) กล่าวสอนอยู่ว่า ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย อย่าได้ทำความแตกร้าวกัน ดังนี้เป็นต้น ในกาลก่อน ก็ไม่นับถือ เพราะไม่รับโอวาทของเรา ชื่อว่า ชนพวกอื่น. 


ชนพวกอื่นนั้น ย่อมไม่รู้สึกตัวว่า เราทั้งหลายถือผิด ด้วยอำนาจอคติมีฉันทะเป็นต้น ย่อมย่อยยับ ได้แก่ พยายามเพื่อความเจริญแห่งเหตุอันทำความพินาศ มีแตกร้าวกันเป็นต้น ในท่ามกลางสงฆ์นั้น พิจารณาอยู่โดยอุบายที่ชอบ ย่อมรู้ชัดว่า เมื่อก่อนเธอทั้งหลายนั้น พิจารณาอยู่โดยอุบายที่ชอบ ย่อมรู้ชัดว่า เมื่อก่อนเราทั้งหลายพยายามอยู่ ด้วยอำนาจอคติมีฉันทะเป็นต้น ปฏิบัติโดยไม่ชอบแล้ว ความหมายมั่น ที่นับว่าความทะเลาะกันในบัดนี้เหล่านี้ย่อมสงบจากสำนักบัณฑิตทั้งหลายเหล่านั้น ๆ คือเพราะอาศัยบุรุษผู้เป็นบัณฑิตทั้งหลายเหล่านั้น ด้วยประการฉะนี้.

ในกาลจบคาถา ภิกษุผู้ประชุมกัน ได้ดำรงอยู่ในอริยผลทั้งหลายมีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.

เรื่องภิกษุชาวเมืองโกสัมพี จบ.


 

Keine Kommentare: