๓๒๐. ลักษณะของทูต
สุธี วากฺยปฏุ ปญฺโญ, ปรจิตฺโตปลกฺขโณ;
ธีโร ยถาตฺถวาที จ, เอส ทูโต วิธียเตฯ
"ผู้ใดเป็นคนสะอาด มีปัญญาเจรจาเฉียบแหลม,
กำหนดรู้วาระจิตของคู่เจรจาได้;
เป็นนักปราชญ์และพูดตามหลักการ,
ผู้นั้น เขาเรียกว่า ทูต.“
(กวิทปฺปณนีติ ๓๒๐)
..
ศัพท์น่ารู้ :
สุธี: (มีปัญญาดี, ฉลาด) สุธี+สิ
วากฺยปฏุ: (ฉลาด-, ชำนาญ-, คล่องแคล่ว-, เฉียบแหลมในคำพูด) วากฺย-ปฏุ+สิ
ปญฺโญ: (ผู้มีปัญญา) ปญฺญ+สิ, วิ. ปญฺญา อสฺส อตฺถีติ ปญฺโญ (ชื่อว่า ผู้มีปัญญา เพราะปัญญามีแก่เขา,หรือ ปัญญาของเขามีอยู่) ปญฺญา+ณ ปัจจัยในตทัสสัตถิตัทธิต
ปรจิตฺโตปลกฺขโณ: (ผู้กำหนดรู้จิตของผู้อื่น) ปรจิตฺต-อุปลกฺขณ > ปรจิตฺโตปลกฺขณ+สิ วิ. ปรจิตฺตสฺส อุปลกฺขณํ ยสฺส โส ปรจิตฺโตปลกฺขโณ (การกำหนดรู้จิตของผู้อื่นมีอยู่แก่ผู้ใด ผู้นั้น ชื่อว่า ปรจิตฺโตปลกฺขณ) ฉ. พหุพฺ. สมาส
ธีโร: (นักปราชญ์, ธีรชน) ธีร+สิ
ยถาตฺถวาที: (ผู้มีปกติกล่าวตามเนื้อความ, -ตามอรรถะ) ยถาตฺถวาที+สิ
จ: (ด้วย, และ) นิบาต
เอส: = เอโส (นั้น) เอต+สิ
ทูโต: (ทูต, ผู้นำสาร) ทูต+สิ วิ. โย เปสียเต โส ทูโต (ผู้ถูกส่งไป ชื่อว่า ทูต) √ทุ-คมเน+ต, (อภิธาน. สูจิ)
วิธียเต: (ถูกเรียกว่า) วิ+ธา+ย+เต ภูวาทิคณะ กัมมวาจก
..
ในจาณักยนีติ (จาณกฺยนีติ ๑๐๖) มีข้อความคล้ายคลึงกัน ดังนี้
สุจี วากฺยปฏุปฺปญฺโญ,
ปรจิตฺโตปลกฺขโก;
ธีโร ยถาตฺถวาที จ,
เอส ทูโต วิธียเตฯ
..
กวิทัปปณนีติ ปกิณณกกัณฑ์ คาถา ๓๒๐, ลักษณะของทูต
คำแปลด้านบนนั้น แปลตามจาณักยนีติ เพราะเห็นว่า กระทัดรัด ชัดเจนดี ไม่ซ้ำซ้อน เช่น สุธี (ผู้มีปัญญา) น่าจะเป็น สุจี (ผู้มีความสะอาด, หมดจด) ในกวิทัปปณนีติ มีคำที่หมายถึง ผู้มีปัญญา ถึง ๓ ศัพท์ คือ สุธี, ปญฺโญ, ธีโร เพราะฉะนั้น ศัพท์แรกถ้าเป็น สุจี ก็จะเหมาะสมดี
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen