๓๒๑. พ่อครัวหัวป่าก์
ปุตฺตนตฺตคุโณเปโต, สตฺถญฺโญ รสปาจโก;
สูโร จ กถิโน เจว, สูปกาโร ส วุจฺจเตฯ
"ผู้ใดประกอบด้วยคุณคือการเลี้ยงดูบุตร,
มึความรู้ตำรา ต้มยำทำแกงอร่อย;
เป็นคนสร้างสรรค์ อดทนทำงานหนัก,
ผู้นั้น เขาเรียกว่า พ่อครัว (หัวป่าก์).“
(กวิทปฺปณนีติ ๓๒๑)
..
ศัพท์น่ารู้ :
ปุตฺตนตฺตคุโณเปโต: (ผู้ประกอบด้วยคุณเลี้ยงดูลูกหลาน) ปุตฺตนตฺตคุโณเปต+สิ, เข้าใจว่ามาจาก ปุตฺต (ลูก) + นตฺตุ (หลาน) + คุณ (คุณ) +อุเปต (เข้าถึง, ประกอบ) แต่ในที่นี้เป็น เป็น นตฺต แปลว่า การฟ้อนรำ ก็ได้, หรือว่า ปุตฺต กับ นตฺตุ เมื่อเข้าสมาสกันแล้ว กลายเป็น ปุตฺตนตฺต ? ขอฝากท่านผู้รู้และนักศึกษาช่วยกันพิจารณาเถิด
สตฺถญฺโญ: (ผู้รู้ตำรา, ทรงจำสูตรได้) สตฺถญฺญ+สิ, คำว่า สตฺถ แปลว่า หนังสือ, ตำรา หรือแปลว่า มีด, กองเกวียน ก็ได้ ส่วน อญฺโญ อย่างที่เคยได้บอกไว้ในครั้งที่แล้วๆ มา ยังหาที่มาไม่ได้ ขอฝากไว้ก่อนครับ หรือท่านผู้รู้และนักศึกษามีความเห็นประการใด ขอเชิญแนะนำแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้นะครับ
รสปาจโก: (ผู้หุง ต้ม ยำ ตำแกงเกี่ยวกับรส, คนปรุงอาหาร) รสปาจก+สิ
สูโร: (ผู้กล้า, คิดสร้างสรรค์) สูร+สิ
จ: (ด้วย, และ) นิบาต
กถิโน: (ยาก, ลำบาก, รุนแรง) กถิน+สิ ศัพท์นี้มีในพจนานุกรมด้วย (เพิ่งรู้ อิอิ)
เจว: (ด้วยนั้นเทียว) นิบาต
สูปกาโร: (ผู้ทำแกง, คนปรุงกับ, พ่อครัว) สูปการ+สิ
ส: = โส (..นั้น) ต+สิ สัพพนาม
วุจฺจเต: (ถูกเรียก, ถูกกล่าว) √วจ+ย+เต ภูวาทิคณะ กัมมวาจก แปลง อ ของ ว เป็น อุ § วจ-วส-วหาทีนมุกาโร วสฺส เย. (รู ๔๗๘) จฺย เป็น จ § ตสฺส จวคฺคยการวการตฺตํ สธาตฺวนฺตสฺส. (รู ๔๔๗) ซ้อน จฺ สำเร็จรูปเป็น วุจฺจเต
..
ในจาณักยนีติ (จาณกฺยนีติ ๑๐๗) มีข้อความเหมือนกันเกือบทุกศัพท์ คงต่างแต่ในบาทคาถาที่ ๒ คือ ศัพท์ว่า ปิฏฺฐปาจโก แปลว่า คนทอดแป้ง, คนทำขนม, ปิฏฺฐ แปลว่า แป้ง (ใช้ปรุงอาหาร) ยังมีอีกคำที่คล้ายกันคือ ปิฏฺฐิ แปลว่า หลัง ฉะนั้น ครูอาจารย์มักให้ท่องจำว่า "ปิฏฺฐิ หลัง, ปิฏฺฐํ แป้ง"
ปุตฺตนตฺตคุโณเปโต,
สตฺถญฺโญ ปิฏฺฐปาจโก;
สูโร จ กถิโน เจว,
สูปกาโร ส อุจฺจเตฯ
..
กวิทัปปณนีติ ปกิณณกกัณฑ์ คาถา ๓๒๑, พ่อครัวหัวป่าก์
คำว่า ป่าก์ ในคำว่า หัวป่าก์ เป็นการเขียนแบบโบราณ เข้าใจว่ามาจากภาษาบาลีว่า ปากะ หรือ ปาโก ที่แปลว่าการหุง อันนี้ขอให้ท่านผู้รู้และนักศึกษาช่วยกันพิจารณาดูนะครับ
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen