๑๐-๑๑. ศิลปศาสตร์ ๑๘ แขนง
สุติ สมฺมุติ สงฺขฺยา จ, โยคา นีติ วิเสสกา;
คนฺธพฺพา คณิกา เจว, ธนุ เพทา จ ปูรณาฯ
ติกิจฺฉา อิติหาสา จ, โชติ มายา จ ฉนฺทติ;
เกตุ มนฺตา จ สทฺทา จ, สิปฺปาฎฺฐารสกา อิเมฯ
„ศิลปศาสตร์ ๑๘ แขนง เหล่านี้ คือ
สุติศาสตร์ ๑ สมมุติ- ๑ สังขยา- ๑ โยคา- ๑ นีติ- ๑
วิเสสิกา- ๑ คันธัพพา- ๑ คณิกา- ๑ ธนุพเพธา- ๑
ปูรณา- ๑ ติกิจฉา- ๑ อิติหาสา- ๑ โชติ- ๑ มายา- ๑
ฉันทสา- ๑ เกตุ- ๑ มันตา และ สัททศาสตร์ ๑.“
(โลกนีติ หมวดบัณฑิต คาถาที่ ๑๐-๑๑, ธัมมนีติ ๑๔-๑๕)
..
แปลอธิบายพอสังเขป ได้ดังนี้.
ศิลปศาสตร์ ๑๘ แขนง คือ :
๑. สุติ - คัมภีร์เวททั้งสาม หรือ ไตรเพทที่เป็นความรู้หลัก
๒. สัมมุติ - เวทางคศาสตร์ที่เป็นความรู้รอบตัว มีฉันทศาสตร์ ไวยากรณ์ นิรุตติ โชยติ กัปปะ และคู่มืออีก ๓ อย่าง คือ พิธีบวงสรวง พิธีบอกฤกษ์ผูกเรือน และธรรมเนียมประเพณี
๓. สังขยา - ความรู้เกี่ยวกับการเกิดขึ้น การตั้งอยู่ และการดับไปของโลก คือ โมกขะหรือนิพพาน
๔. โยคา – หลักปฏิบัติเกี่ยวกับวิญญาณ เพื่อให้เข้าถึงความดับสนิท คือ นิพพาน
๕. นีติ - ความรู้หลักศีลธรรมจรรยา และกฏหมาย
๖. วิเสสิกา – ความรู้กี่ยวกับเหตุผล โดยการอ้างบุญบาปมาเป็นปทัฏฐาน
๗. คันธัพพา - วิชานาฏศิลป์
๘. คณิกา - วิชาคำนวณ
๙. ธนุพเพธา- วิชายิงธนู
๑๐. ปูรณา – วิชาโบราณคดี เกี่ยวกับพงศาวดารดั่่งเดิม
๑๒. ติกิจฉา – วิชาแพทย์ศาสตร์ เกี่ยวกับการรักษาพยาบาลคนไข้
๑๓. อิติหาสา – วิชาประวัติศาสตร์ หรือตำนาน
๑๔. โชติ - วิชาดาราศาสตร์ การพยากรณ์ตามทางโคจรของดวงดาว แรงดึงดูดของดวงดาว ฤดู วัน เดือน และ ปี
๑๔. มายา – วิชาแสดงอุบายเอาชนะข้าศึก เช่น ตำราพิชัยสงคราม
๑๕. ฉันทสา – วิชาฉันทศาสตร์ รู้หลักครุ ลหุ โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน เป็นต้น
๑๖. เกตุ - วิชารู้นิมิต รู้ลางร้าย ลางดีของเมฆ หมอก ควัน อันเป็นพิธีกรรมเกี่ยวกับตำราพิชัยสงคราม
๑๗. มันตา – วิชารู้เวทมนต์ คาถา เลขยันต์
๑๘. สัททา – วิชารู้เสียงสัตว์ที่บอกลางร้าย ลางดี หรือ รู้คัมภีร์สัททาวิเสส
สิปฺปาฎฺฐารสกา เป็นบทสนธิ ตัดบทเป็น สิปฺปา+อฏฺฐารสกา แปลว่า ศิลปศาสตร์ ๑๘ แขนง
..
คำแปลด้านบนนี้ คัดตามคำบรรยายของพระอาจารย์มหาสมปอง มุทิโต ชมรมนิรุตติศึกษา วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ คณะ ๒๕ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
อนึ่ง ท่านที่สนใจสามารถหารายละเอียดเพิ่มเติม ได้จากพจนานุกรมพุทธศาสน์ หน้า ๓๙๐ ของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต) เพื่อความจริญแห่งปัญญาและพัฒนาความเป็นพหูสูตรให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปเถิด
..
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen