๒. สิปปกถา - แถลงศิลปะ
๑๔.-๑๕. ศิลปศาสตร์ ๑๘ แขนง
สุติ สมฺมุติ สงฺขฺยา จ, โยคา นิติ วิเสสกา;
คนฺธพฺพา คณิกา เจว, ธนุเพทา จ ปูรณา.
ติกิจฺฉา อิติหาสา จ, โชติ มายา จ ฉนฺทติ;
เกตุ มนฺตา จ สทฺทา จ, สิปฺปาฎฺฐารสกา อิเม.
ศิลปศาสตร์ ๑๘ แขนง คือ
๑. สุติ - คัมภีร์เวททั้งสาม หรือ ไตรเพทที่เป็นความรู้หลัก
๒. สัมมุติ - เวทางคศาสตร์ที่เป็นความรู้รอบตัว มีฉันทศาสตร์ ไวยากรณ์ นิรุตติ โชยติ กัปปะ และคู่มืออีก ๓ อย่าง คือ พิธีบวงสรวง พิธีบอกฤกษ์ผูกเรือน และธรรมเนียมประเพณี
๓. สังขยา - ความรู้เกี่ยวกับการเกิดขึ้น การตั้งอยู่ และการดับไปของโลก คือ โมกขะหรือนิพพาน
๔. โยคา – หลักปฏิบัติเกี่ยวกับวิญญาณ เพื่อให้เข้าถึงความดับสนิท คือ นิพพาน
๕. นีติ - ความรู้หลักศีลธรรมจรรยา และกฏหมาย
๖. วิเสสิกา – ความรู้กี่ยวกับเหตุผล โดยการอ้างบุญบาปมาเป็นปทัฏฐาน
๗. คันธัพพา - วิชานาฏศิลป์ การฟ้อนรำเป็นต้น
๘. คณิกา - วิชาคำนวณ
๙. ธนุพเพธา- วิชายิงธนู
๑๐. ปูรณา – วิชาโบราณคดี เกี่ยวกับพงศาวดารดั่งเดิม
๑๑. ติกิจฉา – วิชาแพทย์ศาสตร์ เกี่ยวกับการรักษาพยาบาลคนไข้
๑๒. อิติหาสา – วิชาประวัติศาสตร์ หรือตำนาน
๑๓. โชติ - วิชาดาราศาสตร์ การพยากรณ์ตามทางโคจรของดวงดาว แรงดึงดูดของดวงดาว ฤดู วัน เดือน และ ปี
๑๔. มายา – วิชาแสดงอุบายเอาชนะข้าศึก เช่น ตำราพิชัยสงคราม
๑๕. ฉันทติ – วิชาฉันทศาสตร์ รู้หลักครุ ลหุ โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน เป็นต้น
๑๖. เกตุ - วิชารู้นิมิต รู้ลางร้าย ลางดีของเมฆ หมอก ควัน อันเป็นพิธีกรรมเกี่ยวกับตำราพิชัยสงคราม
๑๗. มันตา – วิชารู้เวทมนต์ คาถา เลขยันต์
๑๘. สัททา – วิชารู้เสียงสัตว์ที่บอกลางร้าย ลางดี หรือ รู้คัมภีร์สัททาวิเสส
คำแปลด้านนี้ คัดตามคำบรรยายของพระอาจารย์มหาสมปอง มุทิโต ชมรมนิรุตติศึกษา วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ คณะ ๒๕ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
อนึ่ง ท่านที่สนใจสามารถหารายละเอียดเพิ่มเติม ได้จากพจนานุกรมพุทธศาสน์ หน้า ๓๙๐ ของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต) เพื่อความจริญแห่งปัญญาและพัฒนาความเป็นพหูสูตรต่อไป
(ธรรมนีติ สิปปกถา ๑๔-๑๕, โลกนีติ ๑๐-๑๑, กวิทัปปณนีติ-มาติกา)
______________
ศัพท์น่ารู้ :
สิปฺปาฎฺฐารสกา ตัดบทเป็น สิปฺปา+อฏฺฐารสกา (ศิลปะ ท. + ๑๘ ประการ)
อิเม (เหล่านี้) อิม+โย สัพพนาม
ส่วนศัพท์ที่เหลือชัดเจนดีแล้ว หากต้องแยกธาตุ ปัจจัย วิภัตติ พร้อมตั้งรูปวิภัตติอีกคงต้องใช้เวลาครับ. :-)
_______________
อีกสำนวนหนึ่งจาก โลกนีติไตรพากย์ ของ เสฐียรโกเศศ-นาคประทีป ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้
ก) ความรู้รอบตัว การเข้าใจระเบียบ
การคำนวณ ยันตรศึกษา การรู้นีติ
วิชาพ่อค้า วิชาระบำ วิธีออกกำลัง-
กาย การยิงธนู แลโบราณคดี ฯ
ข) วิชาแพทย์ กาพย์ตำนาน ดาราศาสตร์
พิชัยสงคราม วิชาประพันธ์ วิชาพูด
วิชามนตร์ ไวยากรณ์ เหล่านี้
เป็นศิลป ๑๘ ประเภท ฯ
--
อีกสำนวนหนึ่ง จากราชนีติ ธรรมนีติ โดย นายทอง หงศ์ลดารมภ์ (มหากิม) ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้...
ก) ๑. ความรู้รอบตัว ๒. วิชาสังคมศาสตร์ธรรมชาติ ๓. วิชาคำนวณ ๔. วิชายนตรกรรม ๕. วิชานีติศาสตร์
๖. วิชาพยากรณ์ ๗. วิชานาฏศิลป์ ๘. วิชาพลานามัย ๙. วิชาแม่นธนู ๑๐. วิชาโบราณคดี
ข) ๑๑. วิชาแพทย์ ๑๒. วิชาพงศาวดาร ๑๓. วิชาดาราศาสตร์ ๑๔. วิชาพิชัยสงคราม ๑๕. วิชาการประพันธ์ ๑๖. วิชาการสุนทรพจน์ ๑๗. วิชามนต์ ๑๘. วิชาไวยากรณ์ ศิลปศาสตร์ทั้ง ๑๘ ประการนี้ เป็นศิลปะ.
--
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen