๑๕๕. คติ-ทางไป
คติ มิคานํ ปวนํ, อากาโส ปกฺขินํ คติ;
วิราโค คติ ธมฺมานํ, นิพฺพานารหตํ คติ.
ป่าใหญ่เป็นที่ไปของฝูงเนื้อ
อากาศเป็นที่ไปของฝูงนก
ความสิ้นราคะเป็นที่ไปแห่งพระสัทธรรม
พระนิพพานเป็นที่ไปแห่งเหล่าพระอรหันต์.
(ธรรมนีติ พลกถา ๑๕๕)
--
ศัพท์น่ารู้ :
คติ (การไป, ที่ไป, ที่อยู่, ความรู้) คมุ+ติ ปัจจัยในนามกิตก์ > คติ+สิ โปราณาจารย์ท่านแปลว่า ภูมิ ก็ใช้ได้
มิคานํ (ของเนื้อ ท.) มิค+นํ
ปวนํ (ป่า, ป่าใหญ่, ป่าดง, ลม) ปวน+สิ
อากาโส (อากาศ, ท้องฟ้า) อากาส+สิ
ปกฺขินํ, ปกฺขีนํ (ผู้มีปีก, นก ท.) ปกฺขี+นิ ในคาถาเป็น ปกฺขินํ ทำรัสสะเพื่อรักษาฉันท์.
วิราโค (หมดความยินดี, สิ้นราคะ, พระนิพพาน) วิราค+สิ
ธมฺมานํ (แห่งธรรม ท.) ธมฺม+นํ
นิพฺพานารหตํ ตัดบทเป็น นิพฺพานํ (พระนิพพาน) + อรหตํ (ของพระอรหันต์ ท.) อรหนฺต+นํ = อรหตํ
--
อีกสำนวนหนึ่งจาก โลกนีติไตรพากย์ ของ เสฐียรโกเศศ-นาคประทีป ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้
ป่าเปลี่ยวเป็นภูมิของฝูงเนื้อ
กลางหาวเป็นภูมิของฝูงนก
การคลายติดย้อมเป็นภูมิของธรรมทั้งหลาย
พระนิรพาณเป็นภูมิของพระอรหันต์.
--
อีกสำนวนหนึ่ง จากราชนีติ ธรรมนีติ โดย นายทอง หงศ์ลดารมภ์ (มหากิม) ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้...
ป่าเปลี่ยวเป็นภูมิของฝูงเนื้อ
กลางหาวเป็นภูมิของฝูงนก
ความปราศจากความหนัดเป็นภูมิของธรรมะ
นิพพานเป็นภูมิของพระอรหันต์ ดังนี้แล.
พลกถา นิฏฺฐิตา
จบแถลงกำลัง
--
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen