๓๐๒. อย่าขัดลาภเขา
หตฺถาโรเห อนิกฏฺเฐ, รถิเก ปตฺติการเก;
เตสํ กมฺมาวธาเนน, ราชา วฑฺเฒติ เวตฺตนํ;
น เตสํ อนฺตรา คจฺเฉ, ส ราชวสตึ วเส.
ในกรมช้างกรมม้า กรมรถ กรมเดินเท้า
พระราชาจะทรงปูนบำเหน็จรางวัลให้แก่
ตามความชอบในราชการของพวกเขา
ราชเสวกไม่ควรทูลทัดทานขัดลาภเขา
ราชเสวกนั้น พึงอยู่ในราชสำนักได้.
(ธรรมนีติ ราชเสวกกถา ๓๐๒, ขุ. ชา ๒๘/๙๖๕ วิธุรชาดก)
--
ศัพท์น่ารู้ :
หตฺถาโรเห (กองช้าง, กรมช้าง)หตฺถี+อาโรห > หตฺถาโรห+สฺมึ
อนิกฏฺเฐ, อนีกฏฺเฐ (พลม้า, กรมม้า) อนีกฏฺฐ+สฺมึ
รถิเก (พลรถ, กรมรถ) รถิก+สฺมึ
ปตฺติการเก (พลเดินเท้า, กรมเดินเท้า, ทหารราบ) ปตฺติ+การก > ปตฺติการก+สฺมึ, ในพระบาฬีฉบับสยามรัฐ ทั้ง ๔ ศัพท์ เป็น หตฺถาโรหา อนีกฏฺฐา รถิกา ปตฺติการกา.
เตสํ (เหล่านั้น) ต+นํ สัพพนาม
กมฺมาวธาเนน (การเอาใจใส่-, การเอื้อเฟื้อในการงาน) กมฺม+อวธาน > กมฺมาวธาน+นา, พระบาฬีฉบับฉัฏฐสังคายนา เป็น กมฺมาวทาเนน, ส่วนในฉบับสยามรัฐ เป็น กมฺมาปทาเนน.
ราชา (พระราชา, ท้าวพญา) ราช+สิ
วฑฺเฒติ (เจริญ, ให้เจริญ, พัฒนา, ให้เพิ่มขึ้น) √วฑฺฒ+เณ+ติ จุราทิ. กัตตุ./เหตุกัตตุ.
เวตฺตนํ (ค้างจ้าง, รางวัล) เวตฺตน+อํ
น เตสํ (เหล่านั้น หามิได้)
อนฺตรา (ในระหว่าง, ขัดขวาง) นิบาต
คจฺเฉ (พึงไป, พึงทำ) √คมุ+อ+เอยฺย ภูวาทิ. กัตตุ.
ส ราชวสตึ วเส (เขาพึงอยู่ในราชสำนักได้)
--
อีกสำนวนหนึ่งจาก โลกนีติไตรพากย์ (พากย์ธัมมนีติ) ของ เสฐียรโกเศศ-นาคประทีป ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้
พลรบช้าง พลม้า พลรถ พลเดินเท้าทำการ
สำเร็จลุล่วง ท้าวพญาย่อมเพิ่มบำเน็จ ข้าเฝ้าใด
ไม่ถึงความริษยาต่อเสนาเหล่านั้น ผู้นั้นจึ่งอยู่ใน
ราชสำนักได้.
--
อีกสำนวนหนึ่ง จากราชนีติ ธรรมนีติ โดย นายทอง หงศ์ลดารมภ์ (มหากิม) ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้..
ในกรมช้าง กรมม้า กรมรถ กรมราบ ทุกหมู่เหล่า
พระเจ้าอยู่หัวจะทรงบำเหน็จรางวัล
โดยความชอบใจในราชการของเขา
ราชเสวกไม่ควรทูลขัดตัดลาภผลของคนเหล่านั้น.
--
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen