Sonntag, 24. September 2023

๓๐๔. ปลาไม่มีลิ้น

๓๐๔. ปลาไม่มีลิ้น


จาโปวูนูทโร จสฺส, มจฺโฉวสฺส อชิวฺหโก;

อภาสํ นิปโก สูโร, ราชวสตึ วเส.


ราชเสวกควรมีท้องเรียบแบนดุจแล่งธนู

พึงพูดแต่น้อยเหมือนปลาไม่มีลิ้น

รู้ประมาณในการกิน มีปัญญาและกล้าหาญ 

ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้.


(ธรรมนีติ ราชเสวกกถา ๓๐๔, ขุ. ชา ๒๘/๙๖๕ วิธุรชาดก)


--


ศัพท์น่ารู้ :


จาโปวูนูทโร = จาโป+อิว+อนูทโร, จสฺส = +อสฺส (ไม่มีพุงดุจแล่งธนู)

มจฺโฉวสฺส = มจฺโฉ+อิว+อสฺส (พึงเป็นดุจปลา)

อชิวฺหโก (ที่ไม่มีลิ้น) +ชิวฺหก > อชิวฺหก+สิ, ฉบับฉัฏฐสังคายนา เป็น อชิวฺหวา (ผู้ไม่มีลิ้น), ฉบับสยามรัฐ เป็น อชิวฺหตา (ความเป็นผู้ไม่มีลิ้น).

อภาสํ (ไม่กล่าว, ไม่เจรจาอยู่, ไม่พูดพร่ำ) +ภาสนฺต > อภาสนฺต+สิ = อภาสํ, ฉัฏฐสังคายนา เป็น อปฺปาสี อัฏฐกถาแก้เป็น โภชนมตฺตญฺญู (ผู้รู้จักประมาณในโภชนะ), สยามรัฐเป็น อปฺปาสิ. มาจาก อปฺป+อาสี (กินแต่น้อย).

นิปโก (ผู้มีปัญญารักษาตน, เอาตัวรอดได้) นิปก+สิ 

สูโร (กล้าหาญ, องอาจ) สูร+สิ

ราชวสตึ วเส (เขาพึงอยู่ในราชสำนักได้)


--


พระไตรปิฏกฉบับสยามรัฐ ท่านแปลไว้ ดังนี้ 


ราชเสวกพึงเป็นผู้มีท้องน้อยเหมือนคันธนู

พึงเป็นผู้ไม่มีลิ้นเหมือนปลา พึงเป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะ

มีปัญญาเครื่องรักษาตน แกล้วกล้า ราชเสวกนั้น พึงอยู่ในราชสำนักได้.



--


อีกสำนวนหนึ่งจาก โลกนีติไตรพากย์ (พากย์ธัมมนีติ) ของ เสฐียรโกเศศ-นาคประทีป ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้



ก็แล่งปืน จะหย่อน แลท้องจะร้อน เพราะหิวปานใด

ก็ดี (จงอดทน) นิ่งไว้ ให้เป็นดุจปลาไม่มีลิ้น

เป็นผู้หนักแน่นองอาจ จึ่งอยู่ในราชสำนักได้.



--


อีกสำนวนหนึ่ง จากราชนีติ ธรรมนีติ โดย นายทอง หงศ์ลดารมภ์ (มหากิม) ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้..


ราชเสวก ต้องเป็นคนมีหวังน้อยดุจคันธนู

คืออย่ามักใหญ่เห็นแต่ได้ฝ่ายเดียว

พึงเป็นผู้ไม่มีลิ้นดุจปลา คือไม่เจรจาหาเรื่องให้เคืองพระทัย

พึงเป็นผู้มีอาหารน้อย คือไม่มักมากในลาภผลและใช้จ่ายฟูมฟาย

พึงสอดส่องราชกิจไม่ให้ผิดพระราชประเพณี 

พึงเป็นผู้กล้าพอที่จะสู้อุปสรรคข้อขัดข้องได้.


--


 

Keine Kommentare: