๓๐๕. สิ้นเดชหมดกำลัง
น พาฬฺหํ อิตฺถึ คจฺเฉยฺย, สมฺปสฺสํ เตชสงฺขยํ;
กาสํ สาสํ ถทฺธาพลํ, ขีณเมโธ นิคจฺฉติ.
ราชเสวกไม่ควรเที่ยวหญิงให้บ่อยนัก
เมื่อไปบ่อยทำให้ถึงความสิ้นเดช
คนขาดปัญญาย่อมประสบโรคไอ
โรคหืด เร้าร้อนกายและหมดกำลังได้.
(ธรรมนีติ ราชเสวกกถา ๓๐๕, ขุ. ชา ๒๘/๙๖๖ วิธุรชาดก)
--
ศัพท์น่ารู้ :
น (ไม่, หามิได้) นิบาต
พาฬฺหํ (มั่นคง, มากมาย, หนักแน่น, บ่อย)
อิตฺถึ (หญิง, สตรี) อิตฺถี+อํ
คจฺเฉยฺย (ถึง) √คมุ+อ+เอยฺย ภูวาทิ. กัตตุ.
สมฺปสฺสํ (เห็นอยู่) สํ+ทิส+อ+อนฺต > สมฺปสฺสนฺต+สิ ฉบับสยามรัฐ เป็น สมฺผสฺสํ (สัมผัส, ถูกต้อง)
เตชสงฺขยํ (สิ้นเดช, หมดแรง) เตช+สงฺขย > เตชสงฺขย+อํ
กาสํ (โรคไอ) กาส+อํ ป.
สาสํ (โรคหืด) สาส+อํ ป.
ถทฺธาพลํ (กระด้างทื่อและอ่อนเพลีย) ถทฺธ+อพล > ถทฺธาพล+อํ บาฬีฉบับฉัฏฐสังคายนา เป็น ทรํ พลฺยํ, แต่ในอัฏฐกถาและบาฬีฉบับสยามรัฐเป็น ทรํ พาลฺยํ. พาลฺยํ หมายเอา ทุพฺพลภาวํ (ความไม่มีกำลัง), ส่วน คำว่า ทรํ หมายถึง กายทรถํ (ความเร่าร้อนทางกาย, กระวนกระวายกาย).
ขีณเมโธ (สิ้นปัญญา, หมดปัญญา) ขีณ+เมธา > ขีณเมธ+สิ
นิคจฺฉติ (ถึง, ประสบ, เข้าถึง) นิ+√คมุ+อ+ติ ภูวาทิ. กัตตุ.
--
อีกสำนวนหนึ่งจาก โลกนีติไตรพากย์ (พากย์ธัมมนีติ) ของ เสฐียรโกเศศ-นาคประทีป ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้
สูอย่าเที่ยวกลางคืนให้ดึกนัก ณ เมื่อเห็นความ
สิ้นไปแห่งเดช สูซึ่งเป็นคนโฉดหมดความคิดนั้น
ย่อมเข้าถึงโรคหวัด โรคผอมเหลือง และโรค
เมื่อยอีก ทั้งหมดกำลัง.
--
อีกสำนวนหนึ่ง จากราชนีติ ธรรมนีติ โดย นายทอง หงศ์ลดารมภ์ (มหากิม) ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้..
เป็นราชเสวก ไม่ควรมัวเมาในอิสตรีนัก
เพราะสัมผัสเป็นเหตุสิ้นไปแห่งเดช
เมื่อสิ้นเดชอันเป็นเหตุต่อสู้กับความหลง
ก็จะได้ผลคือไอหอบกระวนกระวายและอ่อนกำลัง.
--
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen