๓๑๑. ควรรับใช้เจ้านายตน
อารกา ปริวชฺเชยฺย, สญฺญิตุํ ปหิตํ ชนํ;
ภตฺตารเมวุทิกฺเขยฺย, น จ อญฺญสฺส ราชิโน.
ราชเสวกพึงเว้นห่างไกลซึ่งทูต
ที่ถูกส่งมาเพื่อล้วงความลับ
พึงเฝ้าดูแลเพียงเจ้านายของตน
ไม่ควรปรากฏตัวในสำนักพระราชาอื่น.
(ธรรมนีติ ราชเสวกกถา ๓๑๑, ขุ. ชา ๒๘/๙๖๗ วิธุรชาดก)
--
ศัพท์น่ารู้ :
อารกา (ห่างไกล) นิบาต
ปริวชฺเชยฺย (เว้น, เว้นรอบ) ปริ+√วชฺช+เณ+เอยฺย จุราทิ. กัตตุ.
สญฺญิตุํ (เพื่อรู้, สืบความลับ) สํ+√ญา+อิ+ตุํ > สญฺญิตุํ+ส ลบ ส วิภัตติ ด้วยสูตรว่า สพฺพาสมาวุโสปสคฺคนิปาตาทีหิ จ. (รู ๒๘๒) ส่วนพระบาฬีเป็น สหิตุํ (เพื่อครอบงำ) สห+อิ+ตุํ.
ปหิตํ (ที่ถูกส่งไป-มา) √ปห+อิ+ต > ปหิต+อํ
ชนํ (ชน, คน) ชน+อํ
ภตฺตารเมวุทิกฺเขยฺย = ภตฺตารํ+เอว+อุทิกฺเขยฺย, พระบาฬีเป็น ภตฺตารญฺเญวุทิกฺเขยฺย ตัดบทเหมือนกัน. แปลว่า ให้มองดูเพียงเจ้านาย(ของตน). ภตฺตุ+อํ = ภตฺตารํ, เอว เป็นนิบาต, อุ+ท+อาคม+√อิกฺข+อ+เอยฺย = อุทิกฺเขยฺย, ภูวาทิ. กัตตุ. แปลว่า มองดู, ดูแล
น (ไม่, หามิได้) นิบาตบอกปฏิเสธ
จ (ด้วย, อนึ่ง) นิบาต
อญฺญสฺส ราชิโน (พระราชาอื่น, เจ้าคนอื่น) อญฺญสฺส (อื่น) อญฺญ+ส, ราชิโน (ของพระราชา) ราช+ส ในเพราะ ส วิภัตติ ให้อาเทศ ส กับ ราช เป็น ราชิโน ด้วยสูตรว่า ราชสฺส รญฺโญ ราชิโน เส. (รู ๑๑๘)
--
อีกสำนวนหนึ่งจาก โลกนีติไตรพากย์ (พากย์ธัมมนีติ) ของ เสฐียรโกเศศ-นาคประทีป ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้
ชนผู้ถูกลงโทษเพื่อให้รู้สำนึก สูพึงเว้นเสียให้ไกล
พึงคอยเฝ้าดูแลแต่จ้าว [ของตน] เท่านั้น ไม่นำ
พาพระราชาอื่น.
--
อีกสำนวนหนึ่ง จากราชนีติ ธรรมนีติ โดย นายทอง หงศ์ลดารมภ์ (มหากิม) ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้..
ทูตต่างประเทศที่เขาส่งมาด้วยเรื่องเนื่องด้วยความลับ
ราชเสวกควรเว้นให้ไกลอย่าให้ใกล้เคียง
พึงเอาใจใส่ดูแลแต่เจ้านายของตน
อย่าสาระวนด้วยคนของราชปรปักษ์.
--
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen