๓๑๓. บุญเก่ารักษาไว้ บุญใหม่ให้ส่งเสริม
ทินฺนปุพฺพํ น หาเปยฺย, ทานํ สมณพฺราหฺมเณ;
น จ กิญฺจิ นิวาเรยฺย, ทานกาเล วณิพฺพเก.
ราชเสวกไม่พึงทำทานที่พระราชาเคยให้
ในสมณพราหมณ์ให้เสื่อมไป
อนึ่ง เห็นพวกวณิพกมาในเวลาพระราชทาน
ไม่ควรห้ามอะไร ๆ เลย.
(ธรรมนีติ ราชเสวกกถา ๓๑๓, ขุ. ชา ๒๘/๙๖๙ วิธุรชาดก)
--
ศัพท์น่ารู้ :
ทินฺนปุพฺพํ (ที่เคยให้, ที่ให้แล้วในกาลก่อน) ทินฺน+ปุพฺพ > ทินฺนปุพฺพ+อํ
น (ไม่, หามิได้) นิบาตบอกปฏิเสธ
หาเปยฺย (พึงให้เสื่อมไป, ให้เสียหายไป) √หา+ณาเป+เอยฺย ภูวาทิ. เหตุกัตตุ.
ทานํ (ซึ่งทาน) ทาน+อํ
สมณพฺราหฺมเณ (ในสมณะและพราหมณ์) สมณ+พฺราหฺมณ > สมณพฺราหฺมณ+สฺมึ
น จ (และไม่, อนึ่ง ไม่) สมูหนิบาต
กิญฺจิ (ไร ๆ, บางอย่าง) กึ+จิ (จินฺโต กา โก จ กึสทฺโท, อปฺปกตฺถสฺส วาจโก. แปลว่า กา กา และ กึ ศัพท์ ที่มี จิ เป็นที่สุด กล่าวอรระว่า น้อย, บางอย่าง)
นิวาเรยฺย (ห้าม, ปราม, ปฏิเสธ) นิ+√วร+เณ+เอยฺย จุราทิ. กัตตุ.
ทานกาเล (ในเวลาให้ทาน, ทานกาล) ทาน+กาล > ทานกาล+สฺมึ
วณิพฺพเก (พวกวณิพก, ขอทาน ท.) วณิพฺพก+โย
--
อีกสำนวนหนึ่งจาก โลกนีติไตรพากย์ (พากย์ธัมมนีติ) ของ เสฐียรโกเศศ-นาคประทีป ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้
ทานที่เคยถวายกะสมณะแลพราหณ์ทั้งหลาย
ไม่พึงให้เสื่อมหายไป แลไม่ควรกีดกันอะไร ๆ ใน
เวลาให้ (พึงวางตน) เสมือนคนขอทาน.
--
อีกสำนวนหนึ่ง จากราชนีติ ธรรมนีติ โดย นายทอง หงศ์ลดารมภ์ (มหากิม) ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้..
ทานบริจาคที่พระราชทานในสมณะพราหมณ์เป็นอาจิณวัตร
ราชเสวกก็ควรปฏิบัติให้คงที่ มิให้เสื่อมทราม
แม้พวกวรรณิพกที่มาในการพระราชทาน
ก็ไม่ควรห้ามอะไร ๆ ในเวลานั้น.
--
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen