๔๑๐. จงตามรักษาจิตของตน
อปฺปมาทรตา โหถ, สจิตฺตมนุรกฺขถ;
ทุกฺขา* อุทฺธรถตฺตานํ, ปงฺเก สนฺนํว กุญฺชรํ.
ท่านทั้งหลายจงเป็นผู้ยินดีในความไม่ประมาท
จงตามรักษาจิตของตน
จงถอนตนขึ้นจากความทุกข์*
ดุจกุญชรผู้จมแล้วในเปือกตมถอนตนขึ้นได้ ฉะนั้น
(ธรรมนีติ ปกิณณกกถา ๔๑๐, ขุ. ธ. ๒๕/๓๓)
--
ศัพท์น่ารู้ :
อปฺปมาทรตา (ผู้ยินดีในความไม่ประมาท) น+ปมาท > อปฺปมาท+รติ > อปฺปมาทรต+โย
โหถ (จงเป็น) √หู+อ+ถ) ภูวาทิ. กัตตุ.
สจิตฺตมนุรกฺขถ = สจิตฺตํ+อนุรกฺขถ (ซึ่งจิตของตน+จงตามรักษา), สก+จิตฺต > สจิตฺต+อํ = สจิตฺตํ (ซี่งจิตของตน), อนุ+√รกฺข+อ+ถ = อนุรกฺขถ (จงตามรักษา, เฝ้ารักษา) ภูวาทิ. กัตตุ.
ทุกฺขา (จากความทุกข์) ทุกฺข+สฺมา, * ในพระบาฬีเป็น ทุคฺคา หมายถึง สถานที่ไปถึงยาก, ป้อม, หล่ม.
อุทฺธรถตฺตานํ = อุทฺธรถ+อตฺตานํ (จงถอน, ถอนขึ้น+ซึ่งตน), อุ+√ธร+อ+ถ = อุทฺธรถ (จงถอนขึ้น, ยกขึ้น, พยุงขึ้น) ภูวาทิ. กัตตุ., อตฺต+นํ = อตฺตานํ (ซึ่งตน)
ปงฺเก (ในตม,ในหล่ม) ปงฺก+สฺมึ
สนฺนํว = สนฺนํ+อิว (ติดแล้ว+ราวกะ, เพียงดัง, เหมือน, ดุจ) √สท+ต > สนฺน+อํ, อิว นิบาตบอกอุปมา
กุญฺชรํ (ช้างพลาย) กุญฺชร+อํ, ป.
____________________
ส่วนในพระบาฬีธรรมบท นาควรรค (คาถา ๓๒๗) มีข้อความบาทคาถาที่ ๓ และบาทคาถาบาทสุดท้ายประกอบวิภัตติต่างกัน ดังนี้.
อปฺปมาทรตา โหถ, สจิตฺตมนุรกฺขถ;
ทุคฺคา อุทฺธรถตฺตานํ, ปงฺเก สนฺโนว กุญฺชโร.
ท่านทั้งหลายจงเป็นผู้ยินดีในความไม่ประมาท
จงตามรักษาจิตของตน
จงถอนตนขึ้นจากหล่มคือกิเลสที่ถอนได้ยาก
ดุจกุญชรผู้จมแล้วในเปือกตมถอนตนขึ้นได้ ฉะนั้น
--
อีกสำนวนหนึ่งจาก โลกนีติไตรพากย์ (พากย์ธัมมนีติ) ของ เสฐียรโกเศศ-นาคประทีป ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้
สูจงยินดีในความไม่ประมาท สูจงตามรักษาจิต
ของตน จงรื้อตนซึ่งเป็นดั่งช้างติดหล่มให้พ้น
จากทุกข์.
--
อีกสำนวนหนึ่ง จากราชนีติ ธรรมนีติ โดย นายทอง หงศ์ลดารมภ์ (มหากิม) ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้..
ท่านทั้งหลายจงยินดีในความไม่ประมาทเถิด
จงตามรักษาจิตของตนเถิด
จงถอนตนเหมือนช้างติดหล่มให้พ้นจากทุกข์.
--
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen