๒๖๐. คนไม่ดี ๔ จำพวก
อลโส คิหี กามโภคี น สาธุ,
อสญฺญโต ปพฺพชิโต น สาธุ;
ราชา น สาธุ อนิสมฺมการี,
โย ปณฺฑิโต โกธโน ตํ น สาธุฯ
"คฤหัสถ์ผู้บริโภคกามคุณ เกียจคร้าน ไม่ดี,
บรรพชิตผู้ไม่สำรวม ไม่งาม;
พระเจ้าแผ่นดินไม่ทรงใคร่ครวญก่อนแล้วทำไป ไม่งาม,
บัณฑิตมีความโกรธเป็นเจ้าเรือน ก็ไม่งาม.“
(กวิทปฺปณนีติ ๒๖๐, โลกนีติ ๑๒๑, ขุ. ชา. ๒๗/๖๒๘, ๗๐๕, ๑๔๗๑, ๒๑๗๕)
..
ศัพท์น่ารู้ :
อลโส: (ขี้เกียจ, เฉื่อยชา) อลส+สิ , อนลโส (ไม่เกียจคร้าน, ไม่เฉื่อยชา)
คิหี: (คฤหัสถ์, คนอยู่ครองเรือน) คีหิ+สิ (หมายเหตุ ศัพท์นี้เดิม ในต้นฉบับเป็น คีหิ เห็นว่า ไม่ถูกต้องจึงแก้เป็น คิหี ตามอย่างในโลกนีติ และในพระบาฬี)
กามโภคี: (ผู้มีปกติบริโภคกาม, ยังยุ่งกับเรื่องกาม) กามโภคี+สิ
น: (ไม่, หามิได้) นิบาต, สาธุ: (ดี, งาม, สมควร, ยังประโยชน์ให้สำเร็จ) นิบาต
อสญฺญโต: (ผู้ไม่สำรวม) อสญฺญต+สิ
ปพฺพชิโต: (บรรพชิต, นักบวช) ปพฺพชิต+สิ
น สาธุ: (ไม่ดี, ไม่สมควร, ไม่เหมาะสม)
ราชา: (ราชา, กษัตริย์) ราช+สิ แปลง สิ เป็น อา ด้วยสูตรว่า สฺยา จ. (รู ๑๑๓)
น สาธุ: (ไม่ดี, ไม่สมควร, ไม่เหมาะสม)
อนิสมฺมการี: (ไม่ระมัดระวังกระทำ, ไม่ใคร่ครวญกระทำ) อนิสฺสมฺมการี+สิ, ห้ามทำรัสสะ ด้วยสูตรว่า น สิสฺมิมนปุํสกานิ. (รู ๑๕๐), ลบ สิ ด้วยสูตรว่า เสสโต โลปํ คสิปิ. (รู ๗๔), กิริยาอาขยาตเป็น นิสาเมติ (ใคร่ครวญ, พิจารณา, ตั้งใจ) นิ+สม+เณ+ติ จุราทิคณะ กัตตุวาจก
โย: (ใด) ย+สิ สัพพนาม, วิเสสนะของ ปัณฑิโต
ปณฺฑิโต: (บัณฑิต, นักปราชญ์, ผู้มีปัญญา) ปณฺฑิต+สิ แปลง สิ เป็น โอ ด้วยสูตรว่า โส. (รู ๖๖)
โกธโน: (โกรธ, เกี้ยวกราด, ขัดเคือง) โกธน+สิ
ตํ น สาธุ: (ข้อนั้นไม่ดี, ไม่สมควร, ไม่เหมาะสม)
..
ในโลกนีติ (โลกนีติ ๑๒๑) มีข้อความต่างกันนิดหน่อย ดังนี้
อลโส คิหี กามโภคี น สาธุ,
อสญฺญโต ปพฺพชิโต น สาธุ;
ราชา อนิสมฺมการี น สาธุ,
ปณฺฑิโต โกธโน ตํปิ น สาธุฯ
..
กวิทัปปณนีติ ราชกัณฑ์ คาถา ๒๖๐, ไม่ดี ไม่งาม ๔
เป็นชาวบ้าน เกียจคร้าน ไม่ดี,
เป็นพระคุณเจ้า ไม่สำรวม ไม่ดี,
เป็นพระราชา ทำการโดยไม่ใคร่ครวญ ไม่ดี,
เป็นบัณฑิต โกรธเคือง ก็ไม่ดี.
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen