Sonntag, 7. März 2021

๒. ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า



.

มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา, มโนเสฏฺฐา มโนมยา;

มนสา เจ ปสนฺเนน, ภาสติ วา กโรติ วา;

ตโต นํ สุขมนฺเวติ, ฉายาว อนปายินี [1]

ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจประเสริฐที่สุด สำเร็จแล้วแต่ใจ, 

ถ้าบุคคลมีใจผ่องใส กล่าวอยู่ก็ตามทำอยู่ก็ตาม, 

สุขย่อมไปตามบุคคลนั้นเพราะสุจริต อย่าง, 

เหมือนเงามีปรกติไปตาม ฉะนั้น.


—————

1) [อนุปายินี (.)]


. เรื่องมัฏฐกุณฑลีอรรถกถา []

[ข้อความเบื้องต้น]

 ฝ่ายพระคาถาที่ ๒ ว่า มโนปุพฺพงฺคมา เป็นต้น พระผู้มีพระภาคทรงปรารภมัฏฐกุณฑลีมาณพ ภาษิตแล้ว ในกรุงสาวัตถี นั่นแล. 


[พราหมณ์ทำตุ้มหูให้บุตร]

 #ดังได้สดับมา ในกรุงสาวัตถี ได้มีพราหมณ์คนหนึ่ง ชื่ออทินนปุพพกะ. เขาไม่เคยให้สิ่งของอะไร ๆ แก่ใคร ๆ เพราะฉะนั้นประชุมชนจึงได้ตั้งชื่อว่า อทินนปุพพกะ. เขาได้มีบุตรคนเดียวเป็นที่รักใคร่พอใจ. ภายหลัง เขาอยากจะทำเครื่องประดับให้บุตรคิดว่า ถ้าเราจักจ้างช่างทอง ก็จะต้องให้ค่าบำเหน็จ ดังนี้แล้วจึงแผ่ทองคำ ทำให้เป็นตุ้มหูเกลี้ยง ๆ เสร็จแล้ว ได้ให้ (แก่บุตรของตน), เพราะฉะนั้น บุตรของเขาจึงได้ปรากฏโดยชื่อว่ามัฏฐกุณฑลี. 


[รักษาบุตรเองเพราะกลัวเสียขวัญข้าว]

 ในเวลาเมื่อบุตรนั้นอายุได้ ๑๖ ปี เกิดเป็นโรคผอมเหลืองมารดาแลดูบุตรแล้ว จึงพูดกะพราหมณ์ (ผู้สามี)ว่า พราหมณ์โรคเกิดขึ้นแล้วแก่บุตรของท่าน, ขอท่านจงหามาหมอรักษาเขาเสียเถิด. พราหมณ์ตอบว่า นางผู้เจริญ ถ้าเราจะหาหมอมา, เราจะต้องใช้ขวัญข้าวเขา หล่อนช่างไม่มองดูความเปลืองทรัพย์ของเรา(บ้าง). นางพราหมณีถาม เมื่อเป็นอย่างนี้ ท่านจะทำอย่างไรเล่า ? พราหมณ์. พราหมณ์ตอบว่า ทรัพย์ของเราจะไม่ขาดไปได้อย่างใด เราจะทำอย่างนั้น. 


พราหมณ์นั้นไปยังสำนักพวกหมอแล้ว ถามว่า พวกท่านวางยาขนานไหน ? แก่คนที่เป็นโรคชนิดโน้น. ลำดับนั้น พวกหมอก็บอกยาเกล็ดที่เข้าเปลือกไม้เป็นต้น แก่เขา. เขา (ไป) เอารากไม้เป็นต้นที่พวกหมอบอกให้นั้นมาแล้ว ทำยาให้แก่บุตร. เมื่อพราหมณ์ทำอยู่เช่นนั้นแล. โรคได้ (กำเริบ)กล้าแล้ว, (จน) เข้าถึงความไม่มีใครที่จะเยียวยาได้. พราหมณ์รู้ว่าบุตรทุพพลภาพแล้ว จึงหาหมอมาคนหนึ่ง. หมอนั้น (มา)ตรวจดูแล้ว จึงพูด (เลี่ยง)ว่า ข้าพเจ้ามีกิจอยู่อย่างหนึ่ง ท่านจงหาหมออื่นมาให้รักษาเถิด ดังนี้แล้ว บอกเลิกกับพราหมณ์แล้วก็ลาไป. 

[ให้บุตรนอนที่ระเบียงเพราะกลัวคนเห็นสมบัติ]

 พราหมณ์รู้เวลาว่าบุตรจวนจะตายแล้วคิดว่า เหล่าชนที่มาแล้ว ๆ เพื่อประโยชน์จะเยี่ยมเยียนบุตรนี้ จักเห็นทรัพย์สมบัติภายใน เรือน เราจะเอาเขาไว้ข้างนอก ดังนี้แล้ว จึงนำเอาบุตรออกมาให้นอนที่ระเบียงเรือนข้างนอก. 


[พระพุทธเจ้าเล็งเห็นอุปนิสัยของมัฏฐกุณฑลี]

 ในเวลากำลังปัจจุสสมัย (คือเวลาจวนสว่าง) วันนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จออกจากพระมหากรุณาสมาบัติ ทรงเล็งดูโลกด้วยพุทธจักษุ เพื่อทอดพระเนตรเหล่าสัตว์ผู้เป็นเผ่าพันธุ์อันพระองค์พอแนะนำได้ ซึ่งมีกุศลมูลอันหนาแน่นแล้ว มีความปรารถนา ซึ่งได้ทำไว้แล้วในพระพุทธเจ้าแต่ปางก่อนทั้งหลาย. ได้ทรงแผ่ตาข่ายคือพระญาณไปในหมื่นจักรวาล. มัฏฐกุณฑลีมาณพ ปรากฏแล้ว ณ ภายในตาข่ายคือพระญาณนั้น โดยอาการอันนอนที่ระเบียงข้างนอกอย่างนั้น. พระศาสดาทอดพระเนตรเห็นเขาแล้ว ทรงทราบว่า พราหมณ์ผู้บิดานำเขาออกจากภายในเรือนแล้ว ให้นอนให้ที่นั้น ทรงดำริว่า จะมีประโยชน์บ้างหรือไม่หนอ ด้วยปัจจัยที่เราไปในที่นั้นกำลังทรงรำพึง (อยู่) ได้ทรงเห็นเหตุนี้ว่า มาณพนี้ จักทำจิตให้เสื่อมใสในเรา ทำกาละแล้ว จักเกิดในวิมานทองสูง ๓๐โยชน์ในดาวดึงสเทวโลก มีนางอัปสรเป็นบริวารพันหนึ่ง. ฝ่ายพราหมณ์จักทำฌาปนกิจสรีระนั้น ร้องไห้ไปในป่าช้า. เทพบุตรจักมองดูอัตภาพตนสูงประมาณ ๓ คาวุต (สามร้อยเส้น) ประดับด้วยเครื่องอลังการ หนัก ๖๐ เล่มเกวียน มีนางอัปสรเป็นบริวารพันหนึ่ง คิดว่า สิริสมบัตินี้ เราได้ด้วยกรรมอะไรหนอ ? ดังนี้แล้ว เล็งดูอยู่, ก็ทราบว่าได้ด้วยจิตเสื่อมใสในเรา คิดว่า บิดาไม่หาหมอมาให้ประกอบยาให้แก่เรา เพราะเกรงว่าทรัพย์จะหมดไปเดี๋ยวนี้ไปป่าช้าร้องไห้อยู่, เราจักทำเขาให้ถึงประกอบอันแปลก ดังนี้ด้วยความขัดเคืองในบิดา จักจำแลงตัวเหมือนมัฏฐกุณฑลีมาณพมาทำนองร้องไห้อยู่ในที่ใกล้ป่าช้า. ทีนั้น พราหมณ์ จักถามเขาว่าเจ้าเป็นใคร ? เขาจักตอบ ฉันเป็นมัฏฐกุณฑลีมาณพ บุตรของท่าน.


พราหมณ์. ท่านไปเกิดในภพไหน ? เทพบุตร. ในภพดาวดึงส์. เมื่อพราหมณ์ถามว่า เพราะทำกรรมอะไร ? เขาจักบอกว่าเขาเกิดเพราะจิตที่เสื่อมใสในเรา. พราหมณ์จักถามว่า ขึ้นชื่อว่า ความทำจิตให้เสื่อมใสในพระองค์ (เท่านั้น)แล้วไปเกิดสวรรค์ มีหรือ ? ทีนั้น เราจักตอบเขาว่า ไม่มีใครอาจจะกำหนดด้วยการนับได้ว่า มีประมาณเท่านั้นร้อย หรือเท่านั้นพัน หรือเท่านั้นแสน ดังนี้แล้ว จักภาษิตคาถาในธรรมบท.


ในกาลจบคาถาความตรัสรู้ธรรม จักมีแก่สัตว์ประมาณแปดหมื่นสี่พัน. มัฏฐกุณฑลีเทพบุตร จักเป็นพระโสดาบัน, ถึงอทินนปุพพกพราหมณ์ก็เหมือนกัน. อาศัยกุลบุตรนี้ ความบูชาธรรมเป็นอันมากจักมี ด้วยประการฉะนี้, ในวันรุ่งขึ้น ทรงทำความปฏิบัติ (ชำระ) พระสรีระเสร็จแล้วอันภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่แวดล้อมแล้ว เสด็จเข้าไปสู่กรุงสาวัตถี เพื่อบิณฑบาต เสด็จถึงประตูเรือนของพราหมณ์ โดยลำดับ. 


[มัฏฐกุณฑลีทำใจให้เสื่อมในในพระพุทธเจ้า]

 ในขณะนั้น มัฏฐกุณฑลีมาณพ กำลังนอนผินหน้าไปข้างในเรือน. พระศาสดาทรงทราบว่าไม่เห็นพระองค์, จึงได้เปล่งพระรัศมีไปวาบหนึ่ง. มาณพคิดว่า นี่แสงสว่างอะไร ? จึงนอนพลิกกลับมา เห็นพระศาสดาแล้ว คิดว่า เราอาศัยบิดาเป็นอันธพาลจึงไม่ได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าเห็นปานนี้แล้ว ทำความขวนขวายด้วยกาย หรือถวายทาน หรือฟังธรรม, เดี๋ยวนี้แม้แต่มือสองข้างของเราก็ยกไม่ไหว. กิจที่ควรทำอย่างอื่นไม่มี ดังนี้แล้ว ได้ทำใจเท่านั้นให้เสื่อมใส. 

[เพราะใจเสื่อมใสทำกาละไปเกิดในเทวโลก]

 พระศาสดาทรงพระดำริว่า พอละ ด้วยการที่มาณพนี้ทำใจให้เลื่อมใส ประมาณเท่านั้น ก็เสด็จหลีกไปแล้ว. เมื่อพระตถาคตพอกำลังเสด็จลับตาไป, มาณพนั้นมีใจเสื่อมใส ทำกาละแล้ว เป็นประดุจดังว่า หลับแล้วกลับตื่นขึ้น ไปเกิดในวิมานทองสูงประมาณ๓๐ โยชน์ในเทวโลก. 

[พราหมณ์คร่ำครวญถึงบุตร]

 ฝ่ายพราหมณ์ทำฌาปนกิจสรีระมาณพนั้นแล้ว ได้มีแต่การร้องไห้เป็นเบื้องหน้า, ไปที่ป่าช้า (เสมอ) ทุกวัน ๆ ร้องไห้พลางบ่นพลางว่า เจ้าลูกคนเดียวของพ่ออยู่ที่ไหน ? เจ้าลูกคนเดียวของพ่ออยู่ที่ไหน ?

[เทพบุตรจำแลงกายไปหาพราหมณ์]

 (แม้) เทพบุตรแลดูสมบัติของตนแล้ว คิดว่า สมบัตินี้เราได้ด้วยกรรมอะไร ? เมื่อพิจารณาไปก็รู้ว่า ได้ด้วยในที่เสื่อมใสในพระศาสดา ดังนี้แล้ว จึงคิดต่อไปว่า พราหมณ์ผู้นี้ ในกาลเมื่อเราไม่สบาย หาได้ให้หมอประกอบยาไม่ เดี๋ยวนี้สิ ไปป่าช้าร้องไห้อยู่, ควรที่เราจะทำแกให้ถึงประการอันแปลก ดังนี้แล้ว จึงจำแลงตัวเหมือนมัฏฐกุณฑลีมาณพมาแล้ว ได้กอดแขนยืนร้องไห้อยู่ ในที่ไม่ไกลป่าช้า. 


[เทพบุตรกับพราหมณ์โต้วาทะกัน]

 พราหมณ์เห็นเขาแล้ว จึงคิดว่า เราร้องไห้เพราะโศกถึงบุตรก่อน, ก็มาณพนั่น ร้องไห้ต้องการอะไรเล่า ? เราจะถามเขาดูดังนี้แล้ว เมื่อจะถาม ได้กล่าวคาถานี้ว่า 


(ก) ท่านตกแต่งแล้ว เหมือนมัฏฐกุณฑลี มีภาระ คือระเบียบดอกไม้ มีตัวฟุ้งด้วยจันทน์เหลือง, กอดแขนทั้ง ๒ คร่ำครวญอยู่ ในกลางป่าช้า, ท่านเป็นทุกข์อะไรหรือ ? 


มาณพนั้นกล่าวว่า 


(ข) เรือนรถ ทำด้วยทองคำ ผุดผ่อง เกิดขึ้นแล้ว แก่ข้าพเจ้า, ข้าพเจ้าหาคู่ล้อของมันยังไม่ได้ ข้าพเจ้าจักยอมเสียชีวิต เพราะความทุกข์นั้น. 


ทีนั้น พราหมณ์ได้พูดกะเขาว่า 


(ค) พ่อมาณพผู้เจริญ คู่ล้อของมันนั้น จะทำด้วยทองคำก็ตาม ทำด้วยแก้วก็ตาม ทำด้วยโลหะก็ตาม ทำด้วยเงินก็ตาม ท่านจง บอกแก่ข้าพเจ้าเถิด, ข้าพเจ้ารับประกันให้ ท่านได้คู่ล้อ (ของมัน). 


มาณพได้ฟังคำนั้น คิดว่า พราหมณ์ผู้นี้ ไม่ทำยาให้แก่บุตรแล้ว ครั้นมาเห็นเรารูปร่างคล้ายบุตร ร้องไห้อยู่ ยังพูดว่า เราจะทำล้อรถซึ่งทำด้วยทองคำเป็นต้นให้, ช่างเถิด เราจักแกล้งแกเล่น ดังนี้แล้ว จึงกล่าวว่า ท่านจะทำคู่ล้อให้แก่ข้าพเจ้าโตเท่าไร ? เมื่อพราหมณ์นั้นกล่าวว่า ท่านจะต้องการโตเท่าไรเล่า ? จึงบอกว่า :-


(ฆ) ข้าพเจ้าต้องการด้วยพระจันทร์ และพระอาทิตย์ ทั้ง ๒ ดวง ท่านอันข้าพเจ้าขอแล้ว โปรดให้ พระจันทร์และพระอาทิตย์ทั้ง ๒นั้นแก่ข้าพเจ้าเถิด. 


มาณพนั้นกล่าวซ้ำแก่เขาว่า :-


(ง) พระจันทร์และพระอาทิพย์ ส่องแสงเป็นคู่กัน ในวิถีทั้ง ๒ รถของข้าพเจ้าทำด้วยทองคำ ย่อมงามสมกับคู่ล้ออันนั้น. 


ลำดับนั้น พราหมณ์พูดเขาว่า :-


(จ) „พ่อมาณพ ท่านผู้ปรารถนาของที่ไม่ควร ปรารถนา เป็นคนเขลาแท้ ๆ ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ท่านจักตายเสียเปล่า จักไม่ได้พระจันทร์ และพระอาทิตย์ทั้ง ๒ เลย“. 


ลำดับนั้น มาณพจึงพูดกะพราหมณ์นั้นว่า ก็บุคคลผู้ร้องไห้เพื่อต้องการสิ่งซึ่งปรากฏอยู่ เป็นคนเขลา หรือว่าบุคคลผู้ร้องไห้เพื่อต้องการสิ่งซึ่งไม่ปรากฏอยู่ เป็นคนเขลาเล่า ? ดังนี้แล้ว จึงกล่าวเป็นคาถาว่า .- 


(ฉ) „แม้ความไปและความมา ของพระจันทร์ และ พระอาทิตย์ก็ปรากฏอยู่ ธาตุคือวรรณะแห่ง พระจันทร์และพระอาทิตย์ ก็ปรากฏอยู่ในวิถี ทั้ง ๒ (ส่วน) ชนที่ทำกาละ ละไปแล้ว ใครก็ไม่แลเห็น, บรรดาเราทั้งสอง ผู้คร่ำคราญ อยู่ในที่นี้ ใครจะเป็นคนเขลากว่ากัน“. 


[พราหมณ์ยอมจำนนแล้วชมเชยเทพบุตร]

 พราหมณ์สดับคำนั้นแล้ว กำหนดได้ว่า มาณพนี่พูดถูกจึงกล่าวว่า :- 


(ช) „พ่อมาณพ ท่านพูดจริงทีเดียว, บรรดาเราทั้ง ๒ ผู้คร่ำครวญอยู่ (ในที่นี้) ข้าพเจ้าเองเป็นคนเขลากว่า, ข้าพเจ้าอยากได้บุตรที่ทำ กาละแล้วคืนมา เป็นเหมือนทารกร้องไห้อยาก ได้พระจันทร์“ 


ดังนี้แล้ว เป็นผู้หายโศก เพราะถ้อยคำของมาณพนั้น, เมื่อจะทำความชมมาณพ ได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า :-


(ฌ) „ท่านมารดาข้าพเจ้าซึ่งเป็นผู้ร้อนหนักหนา เหมือนบุคคลดับไฟที่ติดน้ำมันด้วยน้ำ, ข้าพเจ้าย่อมยังความกระวนกระวายทั้งปวง ให้ดับได้ ท่านผู้บรรเทาความโศกถึงบุตรของข้าพเจ้าอันความโศกครอบงำแล้ว ได้ถอนลูกศรคือความ โศกอันเสียดหฤทัยข้าพเจ้าออกได้หนอ ข้าพเจ้านั้นเป็นผู้มีลูกศรอันท่านถอนเสียแล้ว เป็นผู้เย็บสงบแล้ว, พ่อมาณพ ข้าพเจ้าหายเศร้าโศก หายร้องไห้ เพราะได้ฟังถ้อยคำของท่าน“. 


[พราหมณ์ซักถามเทพบุตร]

 ขณะนั้น พราหมณ์ เมื่อจะถามเขาว่า ท่านชื่ออะไร ? จึงกล่าวว่า :- 


(ญ) „ท่านเป็นเทวดาหรือคนธรรพ์ หรือว่าเป็นท้าว บุรินททสักกเทวราช, ท่านชื่อไร ? หรือเป็นบุตรของใคร ? อย่างไร ข้าพเจ้าจะรู้จักท่านได้ ?“ 


ลำดับนั้น มาณพบอกแก่เขาว่า :-


(ฏ) ท่านเผาบุตรคนใด ในป่าช้าเองแล้ว ย่อม คร่ำครวญและร้องไห้ถึงบุตรคนใด บุตรคนนั้นคือข้าพเจ้าทำกุศลกรรมแล้วถึงความเป็น เพื่อนของเหล่าไตรทศ (เทพดา)". 


พราหมณ์ได้กล่าวว่า :- 


(ฐ) „เมื่อท่านให้ทานน้อยหรือมาก ในเรือนของ ตน หรือรักษาอุโบสถกรรมเช่นนั้นอยู่ ข้าพเจ้าไม่เห็น, ท่านไปเทวโลกได้เพราะกรรมอะไร ?“ 


มาณพได้กล่าวว่า :- 


(ฑ) „ข้าพเจ้ามีโรคเจ็บลำบาก มีกายระส่ำระสาย อยู่ในเรือนของตน, ได้เห็นพระพุทธเจ้า ผู้ปราศจากกิเลสธุลี ข้ามความสงสัยเสียได้ เสด็จไปดี มีพระปัญญาไม่ทราม, ข้าพเจ้านั้น มีใจเบิกบานแล้ว มีจิตเสื่อมใสแล้ว ได้ถวาย อัญชลีแด่พระตถาคตเจ้า. ข้าพเจ้าได้ทำกุศล กรรมนั้นแล้ว จึงได้ถึงความเป็นเพื่อนของ เหล่าไตรทศ (เทพดา)“. 


[พราหมณ์ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ]

 เมื่อมาณพนั้น กำลังพูดพร่ำอยู่นั่นเทียว, สรีระทั้งสิ้นของ พราหมณ์ก็เต็มแล้วด้วยปีติ. เขาเมื่อจะประกาศปีตินั้น จึงกล่าวว่า :- 


(ฒ) „น่าอัศจรรย์หนอ น่าประหลาดหนอ วิบาก ของความทำอัญชลีนี้เป็นไปได้เช่นนี้ แม้ ข้าพเจ้ามีใจเบิกบานแล้ว มีจิตเสื่อมใสแล้ว ถึงพระพุทธเจ้าว่า เป็นสรณะในวันนี้แล“. 


[เทพบุตรโอวามพราหมณ์แล้วก็หายตัวไป]

 ลำดับนั้น มาณพได้กล่าวตอบเขาว่า :- 


(ณ) „ท่านจงเป็นผู้มีจิตเสื่อมใสแล้ว ถึงพระพุทธเจ้า ทั้งพระธรรม ทั้งพระสงฆ์ ว่าเป็น สรณะในวันนี้แล ท่านจงเป็นผู้มีจิตเสื่อมใส อย่างนั้นนั่นแล สมาทานสิกขาบท ๕ อย่าให้ ขาดทำลาย, จงรีบเว้นจากปาณาติบาต (การ ฆ่าสัตว์) จงเว้นจากที่เจ้าของยังไม่ให้ในโลก, จงอย่าดื่มน้ำเมา, จงอย่าพูดปด, และจงเป็น ผู้เต็มใจด้วยภรรยาของตน“. 


เขารับว่า ดีแล้ว ได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ว่า :- 


ดูก่อนยักษ์ ท่านเป็นผู้ใคร่ประโยชน์แก่ข้าพเจ้า, ดูก่อนเทพดา ท่านเป็นผู้ใคร่สิ่งที่เกื้อ กูลแก่ข้าพเจ้า, ข้าพเจ้าจะทำ (ตาม) ถ้อยคำ ของท่าน, ท่านเป็นอาจารย์ของข้าพเจ้า, ข้าพเจ้าเข้าถึงพระพุทธเจ้า ว่าเป็นสรณะด้วย, ข้าพเจ้าเข้าถึงแม้พระธรรม ซึ่งไม่มีสิ่งอื่นยิ่งกว่า ว่าเป็นสรณะด้วย, ข้าพเจ้าเข้าถึงพระสงฆ์ของพระพุทธเจ้าผู้เป็นมนุษย์ (พิเศษ) ดุจเทพดา ว่าเป็นสรณะด้วย, ข้าพเจ้ารีบเว้นจากปาณาติบาต, เว้นของที่เจ้าของยังไม่ให้ในโลก, ไม่ดื่มน้ำเมา, ไม่พูดปด, และเป็นผู้เต็มใจด้วย ภรรยาของตน“. 


ลำดับนั้น เทพบุตรกล่าวกะเขาว่า พราหมณ์ ทรัพย์ในเรือนของท่านมีมาก, ท่านจงเข้าไปเฝ้าพระศาสดาแล้วถวายทาน, จงฟังธรรม, จงถามปัญหา ดังนี้แล้ว ก็อันตรธานไป ณ ที่นั้นนั่นแล. 


[พราหมณ์ถวายทานแด่พระพุทธเจ้า]

 ฝ่ายพราหมณ์ ไปเรือนแล้วเรียกนางพราหมณีมา พูดว่านางผู้เจริญ ฉันจักนิมนต์พระสมณโคดมแล้วทูลถามปัญหา, หล่อนจงทำสักการะ ดังนี้แล้ว ไปสู่วิหาร ไม่ถวายบังคมพระศาสดาเลยไม่ทำปฏิสันถาร ยืน ณ ที่ควรข้างหนึ่งแล้ว กราบทูลว่า พระโคดมผู้เจริญ ขอพระองค์กับทั้งพระภิกษุสงฆ์ จงทรงรับภัตตาหารแห่งข้าพระองค์ เพื่อเสวยในวันนี้. พระศาสดาทรงรับแล้ว. เขาได้ทราบว่า พระศาสดาทรงรับแล้ว จึงมาเร็ว ใช้คนให้ตกแต่งขาทนียะโภชนียาหารไว้ ในเรือนของตน. พระศาสดาอันหมู่ภิกษุสงฆ์แวดล้อมแล้ว เสด็จไปสู่ เรือนแห่งพราหมณ์นั้น ประทับนั่นบนอาสนะที่เขาแต่งไว้. พราหมณ์ อังคาสแล้ว (เลี้ยงแล้ว) โดยเคารพ. 


มหาชนประชุมกัน ได้ยินว่า เมื่อพระตถาคตอันพราหมณ์ผู้มิจฉาทิฏฐินิมนต์แล้ว, หมู่ชน ๒ พวกมาประชุมกัน คือพวกชนผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิประชุมกัน ด้วยตั้งใจว่า วันนี้ พวกเราจักคอยดูพระสมณโคดมที่ถูกพราหมณ์เบียดเบียนอยู่ ด้วยถามปัญหา, พวกชนผู้เป็นสัมมาทิฏฐิก็ประชุมกัน ด้วยตั้งใจว่า วันนี้ พวกเราจักคอยดูพุทธวิสัย พุทธลีลา. 


ลำดับนั้น พราหมณ์เข้าไปเฝ้าพระตถาคตผู้ทรงทำภัตกิจเสร็จแล้วนั่งบนอาสนะต่ำ ได้ทูลถามปัญหาว่า พระโคดมผู้เจริญ มีหรือขึ้นชื่อว่า เหล่าชนที่ไม่ได้ถวายทานแก่พระองค์ ไม่ได้บูชาพระองค์ไม่ได้ฟังธรรม ไม่ได้รักษาอุโบสถเลย ได้ไปเกิดในสวรรค์ ด้วยมาตรว่าใจเสื่อมใสอย่างเดียวเท่านั้น ?


ศ. พราหมณ์ เหตุใดท่านมาถามเรา, ความที่ตนทำใจให้เสื่อมใสในเราแล้วเกิดในสวรรค์ อันมัฏฐกุณฑลีผู้บุตรของท่านบอกแก่ท่านแล้วมิใช่หรือ ?


พ. เมื่อไร ? พรโคดมผู้เจริญ. 


ศ. วันนี้ท่านไปป่าช้าคร่ำครวญอยู่. เห็นมาณพคนหนึ่ง กอดแขนคร่ำครวญอยู่ในที่ไม่ไกลแล้ว ถามว่า ท่านตกแต่งแล้วเหมือนมัฏฐกุณฑลี มีภาระ คือระเบียงดอกไม้ มีตัวฟุ้งด้วยจันทร์เหลือง ดังนี้เป็นต้นมิใช่หรือ ? เมื่อจะทรงประกาศด้วยคำที่ชนทั้งสองกล่าวกันแล้วได้ตรัสเรื่องมัฏฐกุณฑลีจนหมด. เพราะฉะนั้นและเรื่องมัฏฐกุณฑลีนั้นจึงได้ชื่อว่าเป็นพุทธภาษิต. 


ก็แล ครั้นพระศาสดาตรัสเล่าเรื่องมัฏฐกุณฑลีนั้น จึงตรัสว่า พราหมณ์ ใช่ว่าจะมีแต่ร้อยเดียวและสองร้อย, โดยที่แท้ การที่จะนับเหล่าสัตว์ซึ่งทำใจให้เสื่อมใสในเราแล้วเกิดในสวรรค์ ย่อมไม่มี. มหาชนได้เป็นผู้เกิดความสงสัยแล้ว. 


ลำดับนั้น พระศาสดาทรงทราบความที่มหาชนนั้นไม่สิ้นความสงสัย ได้ทรงอธิษฐานว่า ขอมัฏฐกุณฑลีเทวบุตร จงมาพร้อม่ด้วยวิมานทีเดียว. เธอมีอัตภาพอันประดับแล้วด้วยเครื่องอาภรณ์ทิพย์ สูงประมาณ ๓ คาวุตมาแล้ว ลงมาจากวิมาน ถวายบังคมพระศาสดาแล้ว ได้ยืน ณ ที่ควรข้างหนึ่ง. 


ลำดับนั้น พระศาสดาเมื่อจะตรัสถามเธอว่า ท่านทำกรรมสิ่งไร จึงได้สมบัตินี้ ได้ตรัสพระคาถาว่า :- 


เทพดา ท่านมีสีกายงามยิ่งนัก ยืนทำทิศ ทั้งสิ้นให้สว่าง เหมือนดาวประจำรุ่ง, เทพดา ผู้มีอานุภาพมาก เราขอถามท่าน (เมื่อ) ท่านเป็นมนุษย์ได้ทำบุญอะไรไว้“. 


เทพบุตรกราบทูลว่า พระองค์ผู้เจริญ สมบัตินี้ข้าพระองค์ได้แล้ว เพราะทำใจให้เสื่อมใสในพระองค์. 

ศ. สมบัตินี้ ท่านได้แล้ว เพราะทำใจให้เสื่อมใสในเราหรือ ?

ท. พระเจ้าข้า. มหาชนแลดูเทพบุตรแล้ว ได้ประกาศความยินดีว่า แน่พ่อเฮ้ย ? พุทธคุณน่าอัศจรรย์จริงหนอ บุตรของพราหมณ์ ชื่ออทินนปุพพกะ ไม่ได้ทำบุญอะไร ๆ อย่างอื่น ยังใจให้เสื่อมใสในพระศาสดาแล้ว ได้สมบัติเห็นปานนี้. 


[ใจเป็นใหญ่ในกรรมทุกอย่าง]

 ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสแก่พวกชนเหล่านั้นว่า ในการทำกรรมที่เป็นกุศลและอกุศล ใจเป็นหัวหน้า ใจเป็นใหญ่, เพราะว่ากรรมที่ทำด้วยใจอันผ่องใสแล้ว ย่อมไม่ละบุคคลผู้ไปสู่เทวโลกมนุษย์โลก ดุจเงาฉะนั้น ครั้นตรัสเรื่องนี้แล้ว พระองค์ผู้เป็นธรรมราชา ได้ตรัสพระคาถานี้สืบอนุสนธิ ดุจประทับพระราชาสาสน์ซึ่งมีดินประจำไว้แล้ว ด้วยพระราชลัญจกรว่า :- 


(๒) „ธรรมทั้งหลาย มีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จแล้วด้วยใด, ถ้าบุคคลมีใจผ่องใสแล้ว พูดอย่างก็ดี ทำอยู่ก็ดี, ความสุขย่อมไปตามเขา เพราะสุจริต ๓ อย่างนั้น เหมือนเงาไปตามตัวเป็นปกติ“. 


[แก้อรรถ]

 จิตที่เป็นไปใน ๔ ภูมิแม้ทั้งหมด เรียกว่าใจ ในพระคาถานั้น ก็จริง โดยไม่แปลกกัน, ถึงอย่างนั้น เมื่อนิยมกะกำหนดลงในบทนี้ ย่อมได้แก่ จิตเป็นกามาพจรกุศล ๘ ดวง, ก็เมื่อกล่าวด้วยสามารถวัตถุย่อมได้แก่ จิตประกอบด้วยญาณ เป็นไปกับด้วยโสมนัสแม้จากกามาพจรกุศลจิต ๘ ดวงเท่านั้น. 


บทว่า ปุพฺพงฺคมา ความว่า ประกอบกับใจซึ่งเป็นผู้ไปก่อนนั้น. ขันธ์ ๓ มีเวทนาเป็นต้น ชื่อว่าธรรม. แท้จริง ใจเป็นหัวหน้าของอรูปขันธ์ทั้ง ๓ มีเวทนาขันธ์เป็นต้นนั่น โดยอรรถคือเป็นปัจจัยเครื่องให้เกิดขึ้น เหตุนั้นขันธ์ทั้ง ๓ ประการนั่น จึงชื่อว่ามีใจเป็นหัวหน้า. 


เหมือนอย่างว่า เมื่อทายกเป็นอันมาก กำลังทำบุญมีถวายบาตรและจีวรเป็นต้น แก่ภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ก็ดี มีบูชาอันยิ่งและฟังธรรม และตามประทีป และทำสักการะด้วยระเบียบดอกไม้เป็นต้นก็ดี ด้วยกัน เมื่อมีผู้กล่าวว่า ใครเป็นหัวหน้าของทายกเหล่านั้น, ทายกผู้ใดเป็นปัจจัยของพวกเขา, คือพวกเขาอาศัยทายกผู้ใดจึงทำบุญเหล่านั้นได้, ทายกผู้นั้น ชื่อติสสะก็ตาม ชื่อปุสสะก็ตามประชุมชนย่อมเรียกว่า เป็นหัวหน้าของพวกเขา ฉันใด, คำอุปไมยซึ่งเป็นเครื่องให้เกิดเนื้อความถึงพร้อมนี้ บัณฑิตพึงทราบฉันนั้น. 


ใจชื่อว่าเป็นหัวหน้าของธรรมเหล่านี้ ด้วยอรรถว่าเป็นปัจจัยเครื่องให้เกิดขึ้นด้วยประการฉะนี้ เหตุนั้น ธรรมเหล่านี้ จึงชื่อว่ามีใจเป็นหัวหน้า. แท้จริง ธรรมเหล่านั้น เมื่อใจไม่เกิดขึ้น ย่อมไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้, ส่วนใจ เมื่อเจตสิกบางเหล่าถึงยังไม่เกิดขึ้น ก็เกิดขึ้นได้แท้ และใจชื่อว่าเป็นใหญ่กว่าธรรมเหล่านี้ ด้วยอำนาจเป็น อธิบดี เพราะฉะนั้น ธรรมเหล่านี้ จึงชื่อว่ามีใจเป็นใหญ่ เหมือน อย่างว่า บุรุษเป็นอธิบดีของประชุมชนมีคณะเป็นต้น เขาก็เรียกว่าเป็นเจ้าคณะใหญ่ เป็นแม่ทัพใหญ่ ฉันใด, ถึงใจก็เป็นใหญ่แม้แห่งธรรมเหล่านั้น ฉันนั้น เพราะฉะนั้น ธรรมเหล่านั้น จึงชื่อว่ามีใจเป็นใหญ่. 


อนึ่ง สิ่งของทั้งหลายนั้น ๆ เสร็จแล้วด้วยวัตถุมีทองคำเป็นต้น ก็ชื่อว่าสำเร็จแล้วด้วยทองคำเป็นต้น ฉันใด, ถึงธรรมทั้งหลายนั่นก็ได้ชื่อว่า สำเร็จแล้วด้วยใจ เพราะเป็นของเสร็จมาแต่ใจฉันนั้น. 


บทว่า ปสนฺเนน ความว่า ผ่องใสแล้ว ด้วยคุณทั้งหลายมีความไม่เพ่งเล็งเป็นต้น. 

สองบทว่า ภาสติ วา กโรติ วา ความว่า บุคคลมีใจเห็นปานนี้ เมื่อจะพูด ย่อมพูดแต่วจีสุจริต ๔ อย่าง เมื่อจะทำ ย่อมทำแต่กายสุจริต ๓ อย่าง เมื่อไม่พูด เมื่อไม่ทำ ย่อมทำมโนสุจริต ๓อย่างให้เต็มที่ เพราะความที่ตัวเป็นผู้มีใจผ่องใสแล้ว ด้วยคุณทั้งหลายมีความไม่เพ่งเล็งเป็นต้นนั้น. กุศลกรรมบถ ๑๐ ของเขาย่อมถึงความเต็มที่ ด้วยประการอย่างนี้.


บาทพระคาถาว่า ตโต น สุขมเนฺวติ ความว่า ความสุขย่อมตามบุคคลนั้นไป เพราะสุจริต ๓ อย่างนั้น. กุศลทั้ง ๓ ภูมิพระผู้มีพระภาคทรงประสงค์แล้วในที่นี้. เพราะฉะนั้น บัณฑิตพึงทราบอธิบายว่า ความสุขที่เป็นผล ซึ่งเป็นไปในกายและเป็นไปในจิต (โดยบรรยายนี้)ว่า ความสุขมีกายเป็นที่ตั้งบ้าง ความสุขมีจิตนอกนี้เป็นที่ตั้งบ้าง ย่อมตามไป คือว่า ย่อมไม่ละบุคคลนั้นผู้เกิดแล้วในสุคติภพก็ดี ตั้งอยู่แล้วในที่เสวยสุขในสุคติก็ดี เพราะอานุภาพแห่งสุจริตที่เป็นไปในภูมิ ๓. มีคำถามสอดเข้ามาว่า เหมือนอะไร แก้ว่า เหมือนเงามีปกติไปตามตัว อธิบายว่า เหมือนอย่างว่า ธรรมดาเงาเป็นของเนื่องกับสรีระ เมื่อสรีระเดินไป ก็เดินไป, เมื่อสรีระหยุดอยู่ มันก็หยุด, เมื่อสรีระนั่ง มันก็นั่ง, ไม่มีใครสามารถที่จะว่ากล่าวกะมัน ด้วยถ้อยคำอันละเอียดก็ดี ด้วยถ้อยคำอันหยาบก็ดีว่า เองจงกลับไปเสีย หรือเฆี่ยนตีแล้วจึงให้กลับได้. 


ถามว่า เพราะเหตุไร ? ตอบว่า เพราะมันเป็นของเนื่องกับสรีระ ฉันใด. ความสุขที่เป็นไปในกายและเป็นไปในจิต ต่างโดยสุขมีกามาพจรสุขเป็นต้น มีกุศลแห่งกุศลกรรมบถ ๑๐ เหล่านี้ ที่บุคคลประพฤติมากแล้ว และประพฤติดีแล้ว เป็นรากเง่า ย่อมไม่ละ(บุคคลนั้น) ในที่แห่งเขาไปแล้วและไปแล้ว เหมือนเงาไปตามตัวฉันนั้นแล.


#ในกาลจบคาถา ความตรัสรู้ธรรม ได้มีแล้วแก่เหล่าสัตว์แปดหมื่นสี่พัน, มัฏฐกุณฑลีเทพบุตร ตั้งอยู่แล้วในพระโสดาปัตติผล, อทินนปุพพกพราหมณ์ ก็เหมือนกัน. เขาได้หว่านสมบัติใหญ่ถึงเท่านั้น ลงไว้ในพระพุทธศาสนาแล้ว ดังนี้แล. 

เรื่องมัฏฐกุณฑลี จบ. 

 

Keine Kommentare: