๔. กาฬยกฺขินีวตฺถุ(๔)
๕.
น หิ เวเรน เวรานิ, สมฺมนฺตีธ กุทาจนํ;
อเวเรน จ สมฺมนฺติ, เอส ธมฺโม สนนฺตโนฯ
„ในกาลไหนๆ เวรในโลกนี้ย่อมไม่ระงับเพราะเวรเลย,
แต่ย่อมระงับเพราะความไม่จองเวร, ธรรมนี้เป็นของเก่า“.
๔. เรื่องความเกิดขึ้นของนางกาฬยักษิณี [๔]
[ข้อความเบื้องต้น]
พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภหญิงหมันคนใดคนหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า น หิ เวเรน เวรานิเป็นต้น.
[มารดาหาภรรยาให้บุตร]
ดังได้สดับมา บุตรกุฎุมพีคนหนึ่ง เมื่อบิดาทำกาละแล้ว ทำการงานทั้งปวง ทั้งที่มา ทั้งที่บ้าน ด้วยตนเอง ปฏิบัติมารดาอยู่. ต่อมามารดาได้บอกแก่เขาว่า พ่อ แม่จักนำนางกุมาริกามาให้เจ้า.
บุ. แม่ อย่างพูดอย่างนี้เลย, จักปฏิบัติแม่ไปจนตลอดชีวิต.
ม. พ่อ เจ้าคนเดียวทำการงานอยู่ ทั้งที่นาและที่บ้าน, เพราะเหตุนั้น แม่จึงไม่มีความสบายใจเลย, แม่จักนำนางกุมาริกามาให้เจ้า.
เขาแม้ห้าม (มารดา) หลายครั้งแล้วได้นิ่งเสีย. มารดานั้นออกจากเรือน เพื่อจะไปสู่ตระกูลแห่งหนึ่ง. ลำดับนั้น บุตรถามมารดาว่า แม่จะไปตระกูลไหน ? เมื่อมารดาบอกว่า จะไปตระกูลชื่อโน้น ดังนี้แล้ว ห้ามการที่จะไปตระกูลนั้นเสียแล้ว บอกตระกูลที่ตนชอบใจให้.
มารดาได้ไปตระกูลนั้นหมั้นนางกุมาริกาไว้แล้ว กำหนดวัน (แต่งงาน) นำนางกุมาริกาคนนั้นมา ได้ทำไว้ในเรือนของบุตร. นางกุมาริกานั้น ได้เป็นหญิงหมัน. ทีนั้น มารดาจึงพูดกะบุตรว่า พ่อ เจ้าให้แม่นำกุมาริกามาตามชอบใจของเจ้าแล้ว บัดนี้ นางกุมาริกานั้นเป็นหมัน, ก็ธรรมดาตระกูลที่ไม่มีบุตรย่อมฉิบหาย, ประเพณีย่อมไม่สืบเนื่องไป, เพราะ ฉะนั้น แม่จักนำนางกุมาริกาคนอื่นมา (ให้เจ้า) แม้บุตรนั้นกล่าวห้ามอยู่ว่า อย่าเลย แม่ ดังนี้ ก็ยังได้กล่าว (อย่างนั้น) บ่อย ๆ. หญิงหมันได้ยินคำนั้น จึงคิดว่า ธรรมดาบุตร ย่อมไม่เป็นหมันมาแล้วมารดาบิดาไปได้, บัดนี้ แม่ผัวคิดจะนำหญิงอื่น ผู้ไม่เป็นหมันมาแล้วก็จักใช้เราอย่างทาสี, ถ้าอย่างไรเราพึงนำนางกุมาริกาคนหนึ่งมาเสียเองดังนี้แล้ว จึงไปยังตระกูลแห่งหนึ่ง ขอนางกุมาริกา เพื่อประโยชน์แก่สามี, ถูกพวกชนในตระกูลห้ามว่า หล่อนพูดอะไรเช่นนั้นดังนี้แล้ว จึงอ้อนวอนว่า ฉันเป็นหมัน ตระกูลที่ไม่มีบุตร ย่อมฉิบหาย บุตรีของท่านได้บุตรแล้ว จักได้เป็นเจ้าของทรัพย์สมบัติ, ขอท่านโปรดยกบุตรีนั้นให้แก่สามีของฉันเถิด ดังนี้แล้ว ยังตระกูลนั้นให้ยอมรับแล้ว จึงนำมาไว้ในเรือนของสามี.
ต่อมา หญิงหมันนั้น ได้มีความปริวิตกว่า ถ้านางคนนี้จักได้บุตรหรือบุตรีไซร้ จักเป็นเจ้าของทรัพย์สมบัติแต่ผู้เดียว, ควรเราจะทำนางทุกอย่างอย่าให้ได้ทารกเลย.
[เมียหลวงปรุงยาทำลายครรภ์เมียน้อย]
ลำดับนั้น หญิงหมันจึงพูดกะนางนั้นว่า ครรภ์ตั้งขึ้นในท้องหล่อนเมื่อใด ขอให้หล่อนบอกแก่ฉันเมื่อนั้น. นางนั้นรับว่า จ้ะเมื่อครรภ์ตั้งแล้ว ได้บอกแก่หญิงหมันนั้น. ส่วนหญิงหมันนั้นแลให้ข้าวต้มและข้าวสวยแก่นางนั้นเป็นนิตย์. ภายหลัง นางได้ให้ยาสำหรับทำครรภ์ให้ตก ปนกับอาหารแก่นางนั้น. ครรภ์ก็ตก [แท้ง]. เมื่อครรภ์ตั้งแล้วเป็นครั้งที่ ๒ นางก็ได้บอกแก่หญิงหมันนั้น. แม้หญิงหมันก็ได้ทำครรภ์ให้ตก ด้วยอุบายอย่างนั้นนั่นแล เป็นครั้งที่ ๒.
ลำดับนั้น พวกหญิงที่คุ้นเคยกัน ได้ถามนางนั้นว่า „หญิงร่วมสามีทำอันตรายหล่อนบ้างหรือไม่ ?“ นางแจ้งความนั้นแล้ว ถูกหญิงเหล่านั้นกล่าวว่า „หญิงอันธพาล เหตุไร? หล่อนจึงได้ทำอย่างนั้นเล่า? หญิงหมันนี้ ได้ประกอบยาสำหรับทำครรภ์ให้ตกให้แก่หล่อน เพราะกลัวหล่อนจะเป็นใหญ่, เพราะฉะนั้น ครรภ์ให้ตกให้แก่จึงตก, หล่อนอย่าได้ทำอย่างนี้อีก“. ในครั้งที่ ๓ นางจึงมิได้บอก.
ต่อมา [ฝ่าย] หญิงหมันเห็นท้องของนางนั้นแล้วจึงกล่าวว่า เหตุไร ? หล่อนจึงไม่บอกความที่ครรภ์ตั้งแก่ฉัน เมื่อนางนั้นกล่าวว่า "หล่อนนำฉันมาแล้ว ทำครรภ์ให้ตกไปเสียถึง ๒ ครั้งแล้ว, ฉันจะบอกแก่หล่อนทำไม ?“, จึงคิดว่า „บัดนี้ เราฉิบหายแล้ว คอยดูแลความประมาทของนางกุมาริกานั้นอยู่, เมื่อครรภ์แก่เต็มที่แล้ว, จึงได้ช่อง ได้ประกอบยาให้แล้ว.
ครรภ์ไม่อาจตก เพราะครรภ์แก่ จึงนอนขวาง [ทวาร]. เวทนากล้าแข็งได้เกิดขึ้น. นางถึงความสงสัยในชีวิต. นางตั้งความปรารถนาว่า เราถูกมันให้ฉิบหายแล้ว, มันเองนำเรามา ทำทารกให้ฉิบหายถึง ๓ คนแล้ว, บัดนี้ เราเองก็จะฉิบหาย, บัดนี้ เราจุติจากอัตภาพนี้ พึงเกิดเป็นนางยักษิณี อาจเคี้ยวกินทารกของมันเถิด ดังนี้แล้ว ตายไปเกิดเป็นแม่แมวในเรือนนั้นเอง.
ฝ่ายสามี จับหญิงหมันแล้วกล่าวว่า เจ้าได้ทำการตัดกระกูลของเราให้ขาดสูญ ดังนี้แล้ว ทุบด้วยอวัยวะทั้งหลายมีศอกและเข่าเป็นต้น ให้บอบซ้ำแล้ว. หญิงหมันนั้นตายเพราะความเจ็บนั้นแลแล้วได้เกิดเป็นแม่ไก่ในเรือนนั้นเหมือนกัน.
[ผลัดกันสังหารคนละชาติด้วยอำนาจผูกเวร]
จำเนียรกาลไม่นาน แม่ไก่ได้ตกฟองหลายฟอง. แม้แมวมากินฟองไก่เหล่านั้นเสีย. ถึงครั้งที่ ๒ ครั้งที่ ๓ มันก็ได้กินเสียเหมือนกัน. แม่ไก่ทำความปรารถนาว่า มันกินฟองของเราถึง ๓ ครั้งแล้ว เดี๋ยวนี้มันกับลูกของมัน ดังนี้แล้ว จุติจากอัตภาพนั้น ได้เกิดเป็นแม่เสือเหลือง. ฝ่ายแม้แมว ได้เกิดเป็นแม่เนื้อ. ในเวลาแม่เนื้อนั้นคลอดลูกแล้ว ๆ แม่เสือเหลือง ก็ได้มากินลูกทั้งหลายเสียถึง ๓ ครั้ง. เมื่อเวลาจะตาย แม่เนื้อทำความปรารถนาว่า พวกลูกของเรา แม่เสือเหลืองตัวนี้กินเสียถึง ๓ ครั้งแล้ว เดี๋ยวนี้มันจักกินตัวเราด้วย, เดี๋ยวนี้เราจุติจากอัตภาพนี้แล้ว พึงได้กินมันกับลูกของมันเถิด ดังนี้แล้ว ได้ตายไปเกิดเป็นนางยักษิณี. ฝ่ายแม่เสือเหลือง จุติจากอัตภาพนั้นแล้วได้เกิดเป็นกุลธิดา๑ในเมืองสาวัตถี. นางถึงความเจริญแล้ว ได้ไปสู่ตระกูลสามีในบ้านริมประตูเมือง.
ในกาลต่อมา นางได้คลอดบุตรคนหนึ่ง. นางยักษิณี จำแลงตัวเป็นหญิงสหายที่รักของเขามาแล้ว ถามว่าหญิงสหายของฉันอยู่ที่ไหน ? พวกชาวบ้านได้บอกว่า เขาคลอดบุตรอยู่ในห้อง. นางยักษิณีฟังคำนั้น แสร้งพูดว่า หญิงสหายของฉันคลอดลูกเป็นชายหรือหญิงหนอ, ฉันจักดูเด็กนั้น ดังนี้แล้วเข้าไปทำเป็นแลดูอยู่ จับทารกกินแล้วก็ไป. ถึงในหนที่ ๒ ก็ได้กิน เสียเหมือนกัน. ในหนที่ ๓ นางกุลธิดามีครรภ์แก่เรียกสามีมาแล้ว บอกว่า นาย นางยักษิณีตนหนึ่งกินบุตรของฉันเสียในที่นี้ ๒ คนแล้วไป, เดี๋ยวนี้ ฉันจักไปสู่เรือนแห่งตระกูลของฉันคลอดบุตร ดังนี้แล้วไปสู่เรือนแห่งตระกูลคลอด บุตรที่นั่น .
ในกาลนั้น นางยักษิณีนั้นถึงคราวส่งน้ำ. ด้วยว่า นางยักษิณีทั้งหลายต้องตักน้ำ จากสระอโนดาดทูนบาศีรษะมา เพื่อท้าวเวสสวรรณ ตามวาระ ต่อล่วง ๔ เดือนบ้าง ๕ เดือนบ้างจึงพ้น (จากเวร) ได้. ยางยักษิณีเหล่าอื่นมีกายบอบช้ำ ถึงความสิ้นชีวิตบ้างก็มี.
ส่วนนางยักษิณีนั้น พอพ้นจากเวรส่งน้ำแล้วเท่านั้น ก็รีบไปสู่เรือนนั้น ถามว่า หญิงสหายของฉันอยู่ที่ไหน ? พวกชาวบ้านบอกว่า ท่านจักพบเขาที่ไหน ? นางยักษิณีตนหนึ่งกินทารกของเขาที่คลอดในที่นี้, เพราะฉะนั้น เขาจึงไปสู่เรือนแห่งตระกูล. นางยักษิณีนั้นคิดว่า เขาไปในที่ไหน ๆ ก็ตามเถิดจักไม่พ้นเราได้ ดังนี้แล้ว อันกำลังเวรให้อุตสาหะแล้ว วิ่งบ่ายหน้าไปสู่เมือง.
ฝ่ายนางกุลธิดา ในวันเป็นที่รับชื่อ ให้ทากรนั้นอาบน้ำตั้งชื่อแล้ว กล่าวกะสามีว่า นาย เดี๋ยวนี้ เราพากันไปสู่เรือนของเราเถิด อุ้มบุตรไปกับสามี ตามทางอันตัดไปในท่ามกลางวิหาร มอบบุตรให้สามีแล้ว ลงอาบน้ำในสระโบกขรณีข้างวิหารแล้ว ขึ้นมารับเอาบุตร, เมื่อสามีกำลังอาบน้ำอยู่, ยืนให้บุตรดื่มนม แลเห็นนางยักษิณีมาอยู่จำได้แล้ว ร้องด้วยเสียงอันดังว่า นาย มาเร็ว ๆ เถิดนี้นางยักษิณีตนนั้น ดังนี้แล้ว ไม่อาจยืนรออยู่จนสามีนั้นมาได้ วิ่ง กลับบ่ายหน้าไปสู่ภายในวิหารแล้ว.
[เวรไม่ระงับด้วยเวร แต่ระงับได้ด้วยไม่ผูกเวร]
ในสมัยนั้น พระศาสดาทรงแสดงธรรมอยู่ในท่ามกลางบริษัท. นางกุลธิดานั้น ให้บุตรนอนลงเคียงหลังพระบาทแห่งพระตถาคตเจ้าแล้ว กราบทูลว่า „บุตรคนนี้ ข้าพระองค์ถวายแด่พระองค์แล้ว ขอพระองค์ประทานชีวิตแก่บุตรข้าพระองค์เถิด“. สุมนเทพ ผู้สิงอยู่ที่ซุ้มประตู ไม่ยอมให้นางยักษิณีเข้าไปข้างใน. พระศาสดารับสั่งเรียกพระอานนทเถระมาแล้วตรัสว่า „อานนท์ เธอจงไปเรียกนางยักษิณีนั้นมา“. พระเถระเรียกนางยักษิณีมาแล้ว. นางกุลธิดา กราบทูลว่า „ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นางยักษิณีมา“. พระศาสดาตรัสว่า „นางยักษิณีจงมาเถิด, เจ้าอย่าได้ร้องไปเลย" ดังนี้แล้ว ได้ตรัสกะนางยักษิณีผู้มายืนอยู่แล้วว่า „เหตุไร ? เจ้าจึงทำอย่างนั้น ก็ถ้าพวกเจ้าไม่มาสู่เฉพาะหน้าพระพุทธเจ้า ผู้เช่นเราแล้ว เวรของพวกเจ้า จักได้เป็นกรรมตั้งอยู่ชั่วกัลป์ เหมือนเวรของงูกับพังพอน, ของหมีกับไม้สะคร้อ และของกากับนกเค้า, เหตุไฉน พวกเจ้าจึงทำเวรและเวรตอบแก่กัน ? เพราะเวรย่อมระงับได้ด้วยความไม่มีเวร หาระงับได้ด้วยเวรไม่“ ดังนี้แล้ว ได้ตรัสพระคาถานี้ว่า :-
(๕) „ในกาลไหน ๆ เวรทั้งหลายในโลกนี้ ย่อมไม่ระงับด้วยเวรเลย ก็แต่ย่อมระงับได้ด้วยความ ไม่มีเวร, ธรรมนี้เป็นของเก่า“.
[แก้อรรถ]
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า น หิ เวเรน เป็นต้น ความว่าเหมือนอย่างว่า บุคคล แม้เมื่อล้างที่ซึ่งเปื้อนแล้วด้วยของไม่สะอาดมีน้ำลายและน้ำมูกเป็นต้น ด้วยของไม่สะอาดเหล่านั้นแล ย่อมไม่อาจทำให้เป็นที่หมดจด หายกลิ่นเหม็นได้, โดยที่แท้ ที่นั้นกลับเป็นที่ไม่หมดจดและมีกลิ่นเหม็นยิ่งกว่าเก่าอีก ฉันใด, บุคคลเมื่อด่าตอบชนผู้ด่าอยู่ประหารตอบชนผู้ประหารอยู่ ย่อมไม่อาจยังเวรให้ระงับด้วยเวรได้, โดยที่แท้ เขาชื่อว่าทำเวรนั่นเองให้ยิ่งขึ้น ฉันนั้นนั่นเทียว, แม้ในกาลไหน ๆ ขึ้นชื่อว่าเวรทั้งหลาย ย่อมไม่ระงับได้ด้วยเวร, โดยที่แท้ชื่อว่าย่อมเจริญอย่างเดียว ด้วยประการฉะนี้.
สองบทว่า อเวเรน จ สมฺมนฺติ ความว่า เหมือนอย่างว่าของไม่สะอาด มีน้ำลายเป็นต้นเหล่านี้ อันบุคคลล้างด้วยน้ำที่ใสย่อมหายหมดได้, ที่นั่นย่อมเป็นที่หมดจด ไม่มีกลิ่นเหม็น ฉันใด, เวรทั้งหลาย ย่อมระงับ คือย่อมสงบ ได้แก่ ย่อมถึงความไม่มีได้ด้วยความไม่มีเวร คือด้วยน้ำคือขันติและเมตตา ด้วยการทำไว้ในใจโดยแยบคาย และ ด้วยการพิจารณา ฉันนั้นนั่นเที่ยว บาทพระคาถาว่า เอส ธมฺโม สนนฺตโน ความว่า ธรรมนี้คือที่นับว่า ความสงบเวร ด้วยความไม่มีเวร เป็นของเก่า คือเป็นมรรคาแห่งพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระขีณาสพทั้งหลายทุก ๆ พระองค์ ดำเนินไปแล้ว.
ในกาลจบพระคาถา นางยักษิณีนั้น ตั้งอยู่ในพระโสดาปัตติผลแล้ว. เทศนาได้เป็นกถามีประโยชน์ แม้แก่บริษัทผู้ประชุมกันแล้ว.
เรื่องความเกิดขึ้นของนางกาลียักษิณี
พระศาสดาได้ตรัสกะหญิงนั้นว่า „เจ้าจงให้บุตรของเจ้าแก่นางยักษิณีนี้เถิด“.
ญ. „ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์กลัว“.
ศ. "เจ้าอย่ากลัวเลย, อันตรายย่อมไม่มีแก่เจ้า เพราะอาศัยนางยักษิณีนี้“.
นางได้ให้บุตรแก่นางยักษิณีนั้นแล้ว. นางยักษิณีนั้นอุ้มทารกนั้นจูบกอดแล้ว คืนให้แก่มารดาอีก ก็เริ่มร้องไห้.
ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสถามนางยักษิณีนั้นว่า „อะไรนั่น ?“ นางยักษิณีนั้นกราบทูลว่า „ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อก่อนข้าพระองค์ แม้สำเร็จการเลี้ยงชีพด้วยไม่เลือกทาง ยังไม่ได้อาหารพอเต็มท้อง, บัดนี้ ข้าพระองค์จะเลี้ยงชีพได้อย่างไร?“.
ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสปลอบนางยักษิณีนั้นว่า „เจ้าอย่าวิตกเลย" ดังนี้แล้วตรัสกะหญิงนั้นว่า „เจ้าจงนำนางยักษิณีไปให้อยู่ในเรือนของตนแล้ว จงปฏิบัติด้วยข้าวต้มและข้าวสวยอย่างดี“. หญิงนั้นนำนางยักษิณีไปแล้ว ให้พักอยู่ในโรงกระเดื่อง ได้ปฏิบัติด้วยข้าวต้มและข้าวสวยอย่างดีแล้ว. ในเวลาซ้อมข้าวเปลือก สากปรากฏแก่นางยักษิณีนั้นดุจต่อยศีรษะ. เขาจึงเรียกนางกุลธิดาผู้สหายมาแล้วพูดว่า „ฉันจักไม่อาจอยู่ในที่นี้ได้ ขอท่านจงให้ฉันพักอยู่ในที่อื่นเถิด“, แม้อันหญิงสหายนั้นให้พักอยู่ในเหล่านี้ คือในโรงสาก ข้างตุ่มน้ำ ริมเตาไฟ ริมชายคา ริมกองหยากเยื่อ ริมประตูบ้าน, (นาง) ก็กล่าวว่า „ในโรงสากนี้ สากย่อมปรากฏดุจต่อยศีรษะฉันอยู่, ที่ข้างตุ่มน้ำนี้ พวกเด็ดย่อมราดน้ำเป็นเดนลงไป, ที่ริมเตาไฟนี้ ฝูงสุนัขย่อมมานอน, ที่ริมชายคานี้ พวกเด็กย่อมทำสกปรก, ที่ริมกองหยากเยื่อนี้ชนทั้งหลายย่อมเทหยากเยื่อ, ที่ริมประตุบ้านนี้ พวกเด็กชาวบ้าน ย่อมเล่นการพนันกันด้วยคะแนน“ ดังนี้แล้ว ได้ห้ามที่ทั้งปวงนั้นเสีย. ครั้งนั้น หญิงสหาย จึงให้นางยักษิณีนั้นพักอยู่ในที่อันสงัดภายนอกบ้านแล้ว นำโภชนะมีข้าวต้มและข้าวสวยเป็นต้นอย่างดีไปเพื่อนางยักษิณีนั้นแล้วปฏิบัติในที่นั้น.
นางยักษิณีนั้น คิดอย่างนี้ว่า เดี๋ยวนี้หญิงสหายของเรานี้ มีอุปการะแก่เรามาก, เอาเถอะเราจักทำความแทนคุณสักอย่างหนึ่ง ดังนี้แล้ว ได้บอกแก่หญิงสหายว่า „ในปีนี้จักมีฝนดี, ท่านจงทำข้าวกล้าในที่ดอนเถิด, ในปีนี้ฝนจักแล้ง ท่านจงทำข้าวกล้าในที่ลุ่มเถิด“.
ข้าวกล้าอันพวกชนที่เหลือทำแล้ว ย่อมเสียหาย ด้วยน้ำมากเกินไปบ้าง ด้วยน้ำน้อยบ้าง. ส่วนข้าวกล้าของนางกุลธิดานั้น ย่อมสมบูรณ์เหลือกิน.
[นางยักษิณีเริ่มตั้งสลากภัตร]
ครั้งนั้น พวกชนที่เหลือเหล่านั้น พากันถามนางว่า „แม่ข้าวกล้าที่หล่อนทำแล้ว ย่อมไม่เสียหายด้วยน้ำมากเกินไป ย่อมไม่เสียหายด้วยน้ำน้อย, หล่อนรู้ความที่ฝนดีและฝนแล้งแล้วจึงทำการงานหรือ ? ข้อนี้เป็นอย่างไรหนอแล ?“.
นางบอกว่า „นางยักษิณี ผู้เป็นหญิงสหายของฉัน บอกความที่ฝนดีและฝนแล้วแก่ฉัน, ฉันทำข้าวกล้าทั้งหลาย ในที่ดอนและที่ลุ่ม ตามคำของนางยักษิณีนั้น, เหตุนั้น ข้าวกล้าของ ฉันจึงสมบูรณ์ดี, พวกท่านไม่เห็นโภชนะมีข้าวต้มและข้าวสวยเป็นต้นที่ฉันนำไปจากเรือนเนืองนิตย์หรือ ? สิ่งของเหล่านั้น ฉันนำไปให้นางยักษิณีนั้น, แม้พวกท่านก็จงนำโภชนะมีข้าวต้มและข้าวสวยเป็นต้นอย่างดี ไปให้นางยักษิณีบ้างซิ, นางยักษิณีก็จักแลดูการงานของพวกท่านบ้าง“.
ครั้งนั้น พวกชนชาวเมืองทั้งสิ้น พากันทำสักการะแก่นางยักษิณีนั้นแล้ว. จำเดิมแต่นั้นมา นางยักษิณีแม้นั้น แลดูการงานทั้งหลายของชนทั้งปวงอยู่ ได้เป็นผู้ถึงลาภอันเลิศ [และ] มีบริวารมากแล้ว. ในกาลต่อมา นางยักษิณีนั้นเริ่มต้นสลากภัต ๘ ที่แล้ว. สลากภัตนั้น ชนทั้งหลายยังถวายอยู่จนกาลทุกวันนี้แล.
เรื่องความเกิดขึ้นของนางกาลียักษิณี จบ.
CR: ข้อมูลภาษาบาฬี จาก https://tipitaka.org/thai/ คำแปลจากฉบับภาษาไทย, คำแปลอรรถกถาจากฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มหาวิทยาลัยคณะสงฆ์ไทย) โดยส่วนมาก.
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen