๓๑๓. ผู้รอบรู้เหตุผลย่อมรอดพ้นศัตรู
น หิ สพฺเพสุ ฐาเนสุ, ปุริโส โหติ ปณฺฑิโต;
อิตฺถีปิ ปณฺฑิตา โหติ, ลหุํ อตฺถวิจินฺติกาฯ
ชายจะเป็นบัณฑิตในที่ทุกแห่งก็หาไม่
แม้หญิงก็เป็นบัณฑิต มีปัญญาดำริ
เหตุผลได้รวดเร็ว (ได้เช่นกัน).
(#กวิทัปปณนีติ อิตถีกัณฑ์ คาถาที่ ๓๑๓ #ขุ. ชา. ๒๗/๑๑๔๒ สุลสาชาดก)
…
คาถานี้เป็นคาถาที่ต่อจากเมื่อวาน ทั้งสองคาถามาใน สุลสาชาดก พระไตรปิฏกเล่มที่ ๒๗ ข้อที่ ๑๑๓๗ - ๑๑๔๕. อัฏฐกนิบาต กัจจานิวรรค
โบราณาจารย์ท่านกล่าวว่า วิธีศึกษาชาดกแต่ละเรื่องให้กำหนด หลัก ๔ ประการ ดังนี้
(๑) เรื่องหรือเหตุการณ์ในปัจจุบัน : พระพุทธเจ้าปรารภใคร หรือปรารภอะไร จึงได้ตรัสชาดกนั้น ๆ
เช่น สุลสาชาดกนี้ ทรงปรารภนางทาสีของท่านอนาถปิณฑิกเศรษฐี ผู้เอาชีวิตรอดจากโจรที่ต้องการฆ่านางเพื่อเอาเครื่องประดับ แต่เพราะความมีปัญญาไหวพริบจึงได้ฆ่าโจรเสียเอง.
(๒) เรื่องในอตีตกาล : เรื่องราวในชาติก่อน ต้องดูอรรถกถาแห่งชาดก หรือ ชาตกัฏฐกถา ประกอบว่า ชาดกนั้น มีเรื่องราว ความเป็นมาอย่างไร. เช่น ในชาดกนี้ นางนครโสภินี ชื่อว่า สุลสา ได้ช่วยเหลือชีวิตโจรถูกตัดสินประหารชีวิตไว้ และได้นำโจรนั้น มาเป็นสามีของตน ต่อมาโจรใจบาปได้ลวงนางพาไปบวงสรวงเทวดาบนยอดภูเขา หวังจะฆ่านาง เพื่อเอาเครื่องประดับของมีค่า แต่ก็ถูกนางใช้อุบายหลอกฆ่าโจรชั่วเสียเอง จนเอาตัวรอดได้ในที่สุด.
(๓) คาถาชาดก : ต้องทราบว่า คาถาในชาดกนั้น ใครเป็นคนกล่าวบ้าง เพราะบางชาดกอาจกล่าวผู้เดียวบ้าง กล่าวหลายคนบ้าง (ยกเว้นเอกกนิบาต) เช่นในชาดกนี้ มีทั้ง ๙ คาถา
คาถาที่ ๑ นางสุลสา กล่าว
คาถาที่ ๒ โจร กล่าว
คาถาที่ ๓, ๔ นางสุลสา กล่าว
คาถาที่ ๔-๙ เทวดาที่สถิตอยู่แถวนั้น ซึ่งเห็นเหตุการณ์ เป็นผู้กล่าว
(๔) ประชุมชาดก หรือ ชาตกสโมธานกถา : ครั้นพระพุทธองค์ทรงนำพระธรรมเทสนามาแล้ว จะประชุมชาดกไว้. เช่น ในชาดกนี้ ทรงตรัสว่า แม้ชนทั้งสองในกาลนพ้น ก็คือชนทั้งสองในกาลนี้, ส่วนเทวดาในกาลนั้น ก็คือเราแล.
ต่อไปนี้จะได้นำชาดกมาแสดงเพื่อความเป็นพหูสูตต่อไป.
สุลสาชาดก (ว่าด้วยผู้รอบรู้เหตุผลย่อมรอดพ้นศัตรู) ประกอบด้วยเนื้องความ ๙ คาถา มีใจความดังนี้ :
#นางสุลสานครโสภินี ได้กล่าวกะโจรด้วยคาถาแรกนี้ว่า...
[๑]
สร้อยคอทองคำนี้ แก้วมุกดา แก้วไพฑูรย์มีมาก ท่านจงนำเอาทรัพย์นี้
ไปทั้งหมด ขอความเจริญจงมีแก่ท่าน และจงประกาศข้าพเจ้าว่า เป็น
ทาสีเถิด.
#โจรผู้เนรคุณได้กล่าวกะนาง ด้วยคาถาที่ ๒ ว่า..
[๒]
แน่ะแม่คนงาม เจ้าจงเปลื้องเครื่องประดับออก
อย่ามัวร่ำไรให้มากเลย เราไม่รู้อะไรทั้งนั้น
เรานำเจ้ามาเพื่อทรัพย์เท่านั้น.
#นางสุลสากล่าวอีก ๒ คาถานี้ ก่อนที่จะผลักโจรให้ตกเหว.
[๓]
ฉันมานึกถึงตัวเอง นับตั้งแต่น้อยคุ้มใหญ่
ฉันไม่ได้รู้จักรักชายอื่นยิ่งไปกว่าท่านเลย.
[๔]
ขอเชิญท่านนั่งลง ฉันจักขอกอดรัดท่านให้สมรัก
และจักกระทำประทักษิณท่านเสียก่อน เพราะว่าต่อแต่นี้ไป
การคบหากันระหว่างฉันกับท่านจะไม่มีอีก.
#ส่วนคาถาที่เหลือเป็นคำกล่าวของเทวดาที่สิงอยู่บริเวณนั้นผู้ซึ่งได้เห็นเหตุการณ์โดยตลอด.
[๕]
ชายจะเป็นบัณฑิตในที่ทุกแห่งก็หาไม่
แม้หญิงก็เป็นบัณฑิตมีปัญญา
เฉลียวฉลาดในที่นั้นๆ ได้.
[๖]
ชายจะเป็นบัณฑิตในที่ทุกแห่งก็หาไม่
แม้หญิงก็เป็นบัณฑิตมีปัญญาดำริ
เหตุผลได้รวดเร็ว.
[๗]
นางสุลสาหญิงแพศยายืนอยู่ ณ ที่ใกล้โจร คิดอุบายจะฆ่าโจร
ได้ฆ่าโจรสัตตุกะตายได้รวดเร็ว เหมือนนายพรานเนื้อผู้ฉลาดฆ่าเนื้อได้เร็วพลันเมื่อมีธนูบริบูรณ์มากแล้ว ฉะนั้น.
[๘]
ในโลกนี้ ผู้ใดไม่รู้เหตุผลที่เกิดขึ้นได้ฉับพลัน ผู้นั้นมีปัญญาเขลาย่อม
ถูกฆ่าตาย เหมือนโจรถูกฆ่าตายที่ซอกภูเขา ฉะนั้น.
[๙]
ในโลกนี้ ผู้ใดย่อมรอบรู้เหตุผลที่เกิดขึ้นได้ฉับพลัน
ผู้นั้นย่อมพ้นจากความเบียดเบียนของศัตรูได้
เหมือนนางสุลสาหญิงแพศยาหลุดพ้นไปจากโจรสัตตุกะ ฉะนั้น.
…
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen