๓๑๗.๒ เวทางคศาสตร์
ข)
กปฺโป พฺยากรณํ โชติ-, สตฺถํ สิกฺขา นิรุตฺติ จ;
ฉนฺโทวิจิติ เจตานิ, เวทงฺคานิ วทนฺติ ฉฯ
"อาจารย์ทั้งหลายกล่าวว่าคัมภีร์เวทมี ๖ คัมภีร์คือ
๑. คัมภีร์กัปปะ
๒. คัมภีร์พยากรณะ
๓. คัมภีร์โชติสัตถะ
๔. คัมภีร์สิกขา
๕.คัมภีร์นิรุตติ และ
๖. คัมภีร์ฉันท์.“
(กวิทปฺปณนีติ ๓๑๗, อภิธาน. ๑๑๐)
..
ศัพท์น่ารู้ :
กปฺโป: (กัป, อายุของโลก, ชื่อคัมภีร์เวท) กปฺป+สิ
พฺยากรณํ: (ไวยากรณ์, พยากรณ์) พฺยากรณ+สิ
โชติสตฺถํ: (โชติศาสตร์) โชติสตฺถ+สิ
สิกฺขา: (การศึกษา) สิกฺขา+สิ
นิรุตฺติ: (นิรุตติ, ภาษา, การออกเสียง) นิรุตฺติ+สิ
จ: (ด้วย, และ) นิบาต
ฉนฺโทวิจิติ: (การรจนาฉันท์, วิชาฉันท์) ฉนฺโท+วิจิติ+สิ, ฉนฺท เป็นมโนคณาทิศัทพ์ ในสมาสให้เอา อ เป็น โอ
เจตานิ: = จ+เอตานิ (เหล่านั้นด้วย) เอต+โย วิเสสนะของ เวทงฺคานิ
เวทงฺคานิ: (องค์แห่งพระเวท ท.. เวทางคศาสตร์) เวทงฺค+โย นป. แจกเหมือน จิตฺต ศัพท์ เช่น จิตฺตํ จิตฺตานิ เป็นต้น
วทนฺติ: (ย่อมกล่าว) วท+อ+อนฺติ ภูวาทิคณะ กัตตุวาจก
ฉ: (หก) ฉ+โย สังขยาสัพพนาม
..
กวิทัปปณนีติ ปกิณณกกัณฑ์ คาถา ๓๑๗, เวทางคศาสตร์
ความหมายคัมภีร์เวทางคศาสตร์ ทั้ง ๖ มี โดยสังเขป ดังนี้
๑. คัมภีร์กัปปะ (กปฺโป) เป็นคัมภีร์ที่แสดงวิธีเกี่ยวกับการบูชายัญ รจนาโดยโพธายนฤาษีเป็นต้น.
๒. คัมภีร์พยากรณะ (พฺยากรณํ) เป็นคัมภีร์ที่แสดงการแยกเป็นปกติมีคัมภีร์ปาณินีและกัจจายนะเป็นต้น.
๓. คัมภีร์โชติสัตถะ (โชติสตฺถํ) เป็นคัมภีร์ที่แสดงลักษณะของดวงดาวที่บ่งถึงความเจริญหรือความเสื่อมของมนุษย์.
๔. คัมภีร์สิกขา (สิกฺขา) เป็นคัมภีร์ที่แสดงฐาน กรณ์และปยตนะของอักษร มีคัมภีร์ปาณินีสิกขาและนารทสิกขาเป็นต้น.
๕. คัมภีร์นิรุตติ (นิรุตฺติ) เป็นคัมภีร์ที่แสดงรูปศัพท์เดิม ปัจจัย อธิบายตามความหมายของวิคคหะและความหมายของคำด้วยลักษณะ ๕ อย่าง มีวัณณาคมะเป็นต้น รจนาโดยฤาษียาสกะเป็นต้น.
๖. คัมภีร์ฉันท์ (ฉนฺโทวิจิติ) เป็นคัมภีร์ที่แสดงลักษณะของฉันท์มีอนุฏฐุภฉันท์เป็นต้น รจนาโดยอาจารย์ปิงคละเป็นต้น
(ที่มา..อภิธานัปปทีปิกานิสสยะแปล คาถา ๑๑๐)
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen